กรมบังคับคดีเดินหน้าร่างกฎกระทรวงดึงเอกชนช่วยขายทรัพย์-บังคับคดี อธิบดีชี้อาชีพ "ทนาย" หมดสิทธิหวั่นเกิดความไม่เป็นกลางในการทำงาน ล่าสุดเตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศสมาร่วมระดมสมอง ก่อนชงร่างกฎกระทรวงถึงมือรัฐมนตรียุติธรรมพิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นายไกรสร บารมีอวยชัย อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า 4 ปีที่ผ่านมากรมบังคับคดีได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเร่งระบายทรัพย์ในหลายส่วน ที่ได้รับการแก้ไขแล้วมี 4 เรื่อง คือ 1)การลดค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อทรัพย์ต้องเสีย จากเดิม 5% ลดลงเหลือ 3% ของราคาทรัพย์ที่ประมูลได้ 2)แก้ไขเรื่องการยื่นของดการขายของเจ้าหนี้จากเดิมที่สามารถทำได้ตลอดเวลา เพิ่มเงื่อนไขว่าจะของดการขายได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกราย อาทิ เจ้าหนี้เฉลี่ย เจ้าหนี้บุริมสิทธิ เพื่อป้องกันเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำ พิพากษาสมคบกันทำให้เจ้าหนี้จำนองเกิดความเสียหาย 3)แก้กฎหมายให้ผู้ซื้อทรัพย์ไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องขับไล่ผู้อยู่อาศัย โดยให้ถือว่าผู้ซื้อทรัพย์เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมาย และศาลได้พิพากษาให้ฟ้องขับไล่แล้ว จากเดิมต้องเสียเวลาฟ้องร้องขับไล่ก่อน และ 4)การให้เอกชนสามารถดำเนินการบังคับคดีและขายทอดตลาดทรัพย์สินแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ซึ่งเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรกลางปีนี้ หลังจากเสนอขอแก้กฎหมายมาตั้งแต่ปี 2544 จริงๆ แล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเอกชนที่จะมาดำเนินการแทนไม่ได้มีอำนาจมากมายอย่างที่คิด ไม่ได้สามารถเข้าไปในบ้านของจำเลยได้โดยพลการ ถ้าไม่ได้รับการยินยอม แม้ว่าในกฎหมายจะระบุว่าเจ้าพนักงานบังคับดคีสามารถเข้าในบ้านของลูกหนี้ได้ แต่ก็มีเงื่อนไขระบุว่าหากไม่ได้รับการยินยอมก็ต้องขออำนาจจากตำรวจให้ดำเนินการเท่านั้น หรือกรณีของการอายัดทรัพย์สิน หากลูกหนี้ไม่ให้ความร่วมมือก็ไม่สามารถอายัดได้ และต้องส่งเรื่องให้ศาลดำเนินการ ล่าสุด กรณีของการให้เอกชนเข้าช่วยทรัพย์แทนกรมบังคับดคี อยู่ระหว่างขั้นตอนการร่างกฎกระทรวง โดยสภาทนายความอยากให้ผู้ที่เป็นทนายสามารถเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ แตกต่างจากรูปแบบที่มีในต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเปรียบเสมือนเป็นอาชีพ จึงต้องมีความเป็นอิสระ และบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม ดังนั้นต้องไม่ประกอบอาชีพในเวลาเดียวกัน ขั้นตอนหลังจากนี้ไปจะรวบรวมข้อมูลจากการจัดเสวนา และจัดการบรรยายขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยจะเชิญเจ้าพนักงานบังคับคดีจากประเทศฝรั่งเศสมาเป็นวิทยากร พร้อมตอบข้อซักถามต่างๆ และเร่งร่างกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จเพื่อจะได้ขอความเห็นด้วย จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณา ทั้งนี้ ในอนาคตกรมบังคับคดีตั้งใจว่าจะดำเนินการบังคับคดีทั้ง 2 ระบบไปพร้อมๆ กัน คือ ที่ดำเนินการโดยเอกชน และกรมบังคับคดี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน และเป็นไปได้ว่าหากประชาชนหันไปเลือกให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเอกชนมากกว่า หน่วยงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีก็จะถูกยุบไปโดยปริยาย
|