โฉนดน้ำ! ชื่อนี้คนไทยไม่คุ้น ที่ผ่านมารู้จักกันแต่โฉนดที่ดิน... แต่ก่อนแต่ไรโฉนดน้ำไม่เคยมี แต่ประเทศไทยยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อะไรที่ไม่เคยมี ไม่เคยทำ สามารถทำให้มีขึ้นมาได้ ท่านผู้นำเป็นประธาน ประเดิมแจก เป็นครั้งแรก ให้ชาวบ้านไปแล้ว 5 ราย เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2548 ณ สนามหน้า ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ในงานมหกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ภาคใต้ โฉนดน้ำ...แม้ชื่อจะคล้ายกับโฉนดที่ดิน... แต่ศักดิ์และสิทธิของโฉนดไม่เหมือนกัน โฉนดที่ดิน...สามารถซื้อขายจำหน่ายจ่ายโอน จำนองธนาคารได้ โฉนดน้ำ...จะซื้อขายจำหน่ายจ่ายโอนให้บุคคลอื่นไม่ได้ จะโอนได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของ เสียชีวิตไปแล้ว และผู้มีสิทธิได้ครอบครองโฉนดต่อ ต้องเป็นทายาทหรือลูกเจ้าของโฉนดน้ำเท่านั้น ถึงจะจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ แต่โฉนดน้ำสามารถนำไปจำนองกู้เงินจากธนาคารได้ แต่ต้องเป็นธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน สถานะที่แท้จริงของโฉนดน้ำ...เป็นเพียงใบอนุญาตให้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่สาธารณะ บริเวณชายฝั่งทะเล และปากน้ำเท่านั้น แต่ที่เรียกสั้นๆว่า โฉนดน้ำ เป็นคำที่พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้เรียกเป็นการภายใน เพื่อสื่อความหมายกับลูกค้ามาขอกู้เงินจากธนาคาร ตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล ธ.ก.ส. เป็นธนาคารของรัฐเจ้าแรก หาญกล้าให้ชาวบ้านนำโฉนดน้ำมาเป็นหลักทรัพย์ ค้ำประกันขอกู้เงิน จากธนาคารเพื่อไปทำอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง กู้เงินได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท โครงการโฉนดน้ำ จะคล้ายกับโครงการให้ชาวบ้านนำที่ดิน สปก. มาขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในขณะที่ธนาคารอื่นๆจะไม่รับที่ดิน สปก. เพราะเป็นที่ดินที่ซื้อขายจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ โฉนดน้ำก็เช่นกัน ที่ดิน สปก.เดิมทีเป็นที่สาธารณะป่าสงวนที่ถูกชาวบ้านบุกรุก และต่อมาทาง สปก.ได้เข้ามาจัดสรรให้ชาวบ้านได้ทำกิน โดยให้ชาวบ้านมีสิทธิแค่ใช้ ที่ดินทำกินเท่านั้น ไม่ให้สิทธิเกินเลยไปถึงขั้นเอาที่ดินของรัฐไปขายได้ โฉนดน้ำก็เช่นกัน ระยะหลัง อาชีพประมงมีปลาให้จับน้อยลง จึงมีชาวบ้าน นายทุนบุกรุกพื้นน้ำสาธารณะ ป่าชายเลนตามชายฝั่งปากน้ำ เลี้ยงหอย เลี้ยงปลาในกระชังกันมากมายเสียจนสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของธรรมชาติ กรมประมงซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ จึงได้เข้ามาทำการจัดระเบียบการบุกรุก ของชาวบ้านเสียใหม่ ไม่ให้บุกรุกกันแบบเสรีเหมือนในอดีต พื้นที่ตรงไหนเหมาะที่จะเลี้ยงหอย อย่างชายฝั่งทะเล ก็จัดสรรให้ชาวบ้านเลี้ยงหอย พื้นที่ปากแม่น้ำเหมาะกับเลี้ยงปลาในกระชัง ก็จัดให้ชาวบ้านเลี้ยงปลา พื้นที่ไหนต้องปลูกป่าชายเลนทดแทน ก็กันประชาชนออกไป ให้ไปเพาะเลี้ยงในพื้นที่เหมาะสม และออกใบอนุญาตให้ชาวบ้านได้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่สาธารณะได้แบบถูกกฎหมาย นายอรุณ เลิศวิไลย์ ผอ.ฝ่ายสินเชื่อบุคคล ธ.ก.ส. ลำดับที่มาของโครงการโฉนดน้ำ แล้วให้ข้อมูลต่อไปว่า ผลของการสำรวจรังวัดพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เหมาะสม ของกรมประมงเมื่อปี 2547 พบว่า มีทั้งหมด 284,492 ไร่ พื้นที่ที่กรมประมงรังวัดและกันไว้ให้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้มากมายขนาดนี้ เห็นแล้วอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ทำลายธรรมชาติมากขึ้น เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นบนบกในป่ามาก่อน แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่ท้องทะเลไทยทั้งหมด 262.68 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนนี้มีเพียงน้อยนิดแค่ 0.11% เท่านั้น เกณฑ์การออกใบอนุญาตโฉนดน้ำของกรมประมง ชาวบ้านแต่ละรายควรจะมีสิทธิ ได้พื้นที่มากน้อยแค่ไหน จะใช้วิธีให้ประชาคมของชุมชนนั้นตัดสินใจกันเอง เมื่อกรมประมงสำรวจแล้วว่ามีพื้นที่เพาะเลี้ยงได้ขนาดไหน ก็ให้ชาวบ้านมาประชุมเจรจาตัดสินใจกันเองว่าจะแบ่งพื้นที่กันยังไง ได้คนละกี่ไร่ กี่ตารางวา เมื่อประชาคมตกลงกันได้ ก็จะมีการรังวัดพื้นที่ โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศหรือ ภาพดาวเทียมมากำหนดจุดพิกัด เพราะพื้นที่น้ำนั้นไม่สามารถปักหมุดได้เหมือนที่ดิน รังวัดแบ่งแยกโฉนดน้ำแล้ว ก็กำหนดให้เจ้าของทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ ของตัวเองเท่านั้น ห้ามบุกรุกออกไปนอกเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต สำหรับโครงการโฉนดน้ำที่มีสิทธิจะมาขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส. นายอรุณ บอกว่า ให้สิทธิเฉพาะเจ้าของใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ไม่เกิน 8 กระชัง ถ้าเป็นกระชังเลี้ยงหอย ก็มีพื้นที่ไม่เกิน 72 ตารางเมตร (1 กระชังต้องใช้พื้นที่ 3X3 เมตร) ถ้าเป็นกระชังเลี้ยงปลา มีพื้นที่ไม่เกิน 128 ตารางเมตร (1 กระชังต้องใช้พื้นที่ 4X4 เมตร) ให้สิทธิชาวบ้านเอาโฉนดน้ำได้เพียงแค่นี้ เพราะเราต้องการช่วยเหลือชาวบ้านยากจนจริงๆ ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาทำกระชังเลี้ยงปลาได้ สำหรับชาวบ้านที่มีความสามารถ จะเลี้ยงมากกว่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีฐานะ สามารถหาเงินทุนจากที่อื่นได้อยู่แล้ว และก็ให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อเอาเงินไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ มาทำกระชัง และซื้อพันธุ์หอย พันธุ์ปลาเท่านั้น จะกู้เงินไปซื้ออย่างอื่น เราไม่ให้กู้ โครงการโฉนดน้ำจะสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน ให้ชาวบ้านเพราะขาดแหล่งทุนได้จริงหรือ? สุทัศน์ กาหรีมการ หนุ่มวัย 24 ปี จากบ้านเกาะเคี่ยมใต้ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา ผู้เป็น 1 ใน 5 ชาวบ้านชุดแรกของประเทศไทยที่ได้รับโฉนดน้ำไปกู้เงิน ธ.ก.ส. จากมือ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะเป็นผู้ให้คำตอบดีที่สุด ผมอยากได้เงินมาขยายกระชังเลี้ยงปลาเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้มีรายได้ เพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้มีทุนเลี้ยงปลาได้แค่ 4 กระชังเท่านั้น รายได้ก็แค่พอถูไถเฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่งก็ประมาณ 4-5 พันบาท ถ้าได้เพิ่มมาเป็น 8 กระชัง ตามที่ ธ.ก.ส.ให้กู้ น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาสักเดือนละ 6-7 พันบาท ก็สามารถอยู่ได้ หนุ่มวัย 24 ปี ความรู้เพียงจบชั้น ม.6 ไม่มีเงินเรียนต่อผู้นี้ เริ่มหันมาจับอาชีพเลี้ยงปลา ในกระชังได้ประมาณ 2-3 ปี ขาดทุนที่จะทำกระชังหารายได้เพิ่ม ก็เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ที่จะไปขอกู้เงินจากธนาคาร หลักทรัพย์อันเป็นบ้านอยู่อาศัย ถึงจะเป็นบ้านมรดกตกทอดที่บรรพบุรุษอาศัยอยู่กัน มาเป็นร้อยปี ไม่สามารถนำมาแปรเปลี่ยนขอกู้เงินทุนจากธนาคารได้ เพราะบ้านปลูกอยู่ในคลอง รัฐไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ สุทัศน์ต้องอยู่สู้ชีวิตกันแบบตามมีตามเกิด แล้วแต่ธรรมชาติจะให้ เดิมนั้นต้องสู้ชีวิตอยู่ด้วยการออกเรือจับปลามาขาย มีรายได้เลี้ยงตัวเองแค่เดือนละ 2-3 พันบาท อยากมีรายได้เพิ่ม เลยคิดผันมาเลี้ยงปลาในกระชัง ต้องเก็บเล็กผสมน้อยจากรายได้อันน้อยนิด จนสร้างกระชังได้เป็นของตัวเอง ถึงจะมีรายได้ มากขึ้น แต่ก็ยังน้อย เพราะรายได้ยังอยู่ในระดับ ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ ชีวิตเช่น สุทัศน์ ก็เหมือนคนริมเลอื่นๆทั่วไทย...แต่ไหนแต่ไรมา ฝากชีวิตไว้กับแผ่นน้ำ หลักทรัพย์บนดินที่จะนำมาแปรเป็นทุนไม่มี ยุคนี้...จะฝากชีวิตไว้กับธรรมชาติเหมือนก่อนก็แทบเป็นไปไม่ได้ หากินกับทะเลนั้นแสนลำบาก ปลาในทะเลมีให้จับน้อยลง จะแปรเปลี่ยนมาเพาะเลี้ยงเองก็ไร้ทุน...อย่าว่าจะไปกู้ในระบบ กู้เงินนอกระบบ ใครที่ไหนจะให้คนไร้หลักทรัพย์ไว้ยึดกู้ โฉนดน้ำจึงเป็นหนทางให้คนจนจริงๆ ได้มีโอกาสเห็นแสงรำไรแห่งชีวิต ทุกวันนี้คนไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคส่งเสริมทุนนิยมเต็มรูปแบบ... วิถีชีวิตแบบนี้เริ่มด้วยความทะยานอยาก แล้วก็ต้องมีเงิน มีทุน ถลำลึกเข้ามาถึงขั้นนี้ ความพอเพียงและเพียงพอ...ย่อมต้องหายไป. |