12 วิธีประหยัดไฟฟ้าอย่างชาญฉลาด 1. ใช้หลอดไฟที่มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนหลอดไฟจากหลอดไส้มาใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ (CFLs) แทน หลอดฟลูออเรสเซนต์ใช้ไฟน้อยกว่าหลอดไส้ถึง 4 เท่า และใช้งานได้นานกว่า 8 เท่า (8,000 ชั่วโมงแทนที่จะได้แค่ 1,000 ชั่วโมง) ตัวอย่างเช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 18 วัตต์ จะใช้แทนหลอดไส้ขนาด 75 วัตต์ แบบเก่าได้ หลอดฟลูออเรสเซนต์จะมีราคาแพงกว่า แต่คุณจะเปลี่ยนหลอดใหม่น้อยกว่าถึง 8 เท่า และยังกินไฟน้อยกว่าด้วย ซึ่งนั่นทำให้มันเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานมากที่สุดในบ้าน อย่างน้อยที่สุด ควรใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์แทนหลอดไส้ในโคมไฟทุกดวงที่ใช้งานวันละ 30 นาทีขึ้นไป ถ้าเป็นหลอดตะเกียบจะยิ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบเดิม และใช้งานได้นานกว่า 10,000-20,000 ชั่วโมง เพียงแค่ใช้หลอดตะเกียบกับบัลลาสต์และสตาร์ตเตอร์แบบใหม่ที่ไม่ต้องรอกระพริบและไฟติดสว่างทันทีก็จะเพิ่มประสิทธิภาพได้อีก 20 เปอร์เซนต์ ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์พร้อมขายึด บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของขายึดจะมีอายุการใช้งานนานถึง 40,000 ชั่วโมง และสามารถแยกเปลี่ยนเฉพาะหลอดไฟได้ในราคาที่ต่ำกว่า ทั้งหลอดฟลูออเรสเซนต์และหลอดตะเกียบจะหาได้ในขายึดแบบที่ปรับแสงสลัวได้ นี่เป็นสิ่งที่พิ่มทั้งความสะดวกสบาย ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น และยังยืดอายุการใช้งานของหลอดไฟได้อีกด้วย สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ควรหลีกเลี่ยงโคมไฟแบบฝังที่ใช้หลอดฮาโลเจน ซึ่งโดยปกติใช้พลังงานถึง 300 วัตต์หรือมากกว่านั้นเพื่อผลิตความร้อน ปริมาณมาก และร้อนมากจริงๆ คือประมาณ 500 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนขนาดนี้สามารถก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่รุนแรงและเป็นชนวนให้เกิดไฟไหม้ได้ นอกจากนี้ ในช่วงวันที่อากาศร้อนในหน้าร้อนก็ยิ่งไม่ควรอยู่ใกล้หลอดฮาโลเจนเลย ส่วนหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบฝังจะใช้พลังงานเพียงแค่ 50-80 วัตต์ ที่ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานได้มากและยังปลอดภัยต่อชีวิตของคุณด้วย นอกจากนี้ คุณควรใส่ใจในเรื่องหลอดไฟประจำจุดต่างๆ รู้จักเลือกใช้วัตถุสะท้อนแสงและหลอดไฟตามทางเพื่อให้แสงสว่างเฉพาะจุดที่คุณต้องการ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟได้อีก 50 เปอร์เซนต์ และทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นด้วย การวางแผนที่ดีในการใช้หลอดไฟที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 8 เท่า เมื่อหลอดฟลูออเรสเซนต์หมดอายุการใช้งาน ควรหาวิธีกำจัดที่เหมาะสม เพื่อที่สารปรอทที่อยู่ข้างในจะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ และถึงแม้ไม่ได้นำไปรีไซเคิล หลอดฟลูออเรสเซนต์ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะหลอดกินไฟและหลอดฮาโลเจนที่ไร้ประสิทธิภาพนั้นจะก่อให้เกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงมากได้ ทั้งนี้รวมถึงการปล่อยสารปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน (แต่ทางที่ดี ควรนำหลอดฟลูออเรสเซนต์ไปรีไซเคิล) การเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟที่มีประสิทธิภาพสูงยังทำให้อายุการใช้งานของหลอดไฟเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมีผลดี คือ เพิ่มความสะดวกสบายและสุขภาวะที่ดี แต่ในอีกแง่หนึ่งมันทำให้สิ้นเปลืองไฟได้ อย่างเช่น การเปิดไฟทิ้งไว้ขณะที่เราไม่ได้ใช้ เช่น เวลาออกจากห้อง เพราะเราเข้าใจผิดว่า การเปิดๆ ปิดๆ หลอดฟลูออเรสเซนต์นั้นสิ้นเปลือง แต่โดยหลักทั่วไปแล้ว เราควรปิดไฟเสมอเมื่อออกจากห้องหรือบ้าน 2. เลือกเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพจะกินไฟน้อยกว่าเครื่องใช้ประเภทเดียวกันที่ด้อยประสิทธิภาพ 2 ถึง 10 เท่า และโดยมากยังมีคุณภาพดีกว่าและใช้งานได้นานกว่าอีกด้วย พูดง่ายๆ คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้คุณประหยัดทั้งไฟและเงินได้มาก ในหลายประเทศมีกฎข้อบังคับที่ต้องติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพไว้ในเครื่องใช้แทบทุกประเภท ในยุโรป รูปแบบฉลาก A++ หมายถึงประสิทธิภาพที่ดีที่สุด รองลงไปก็คือ A+, A, B, D ซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพที่ลดหลั่นลงไปตามลำดับ ในสหรัฐอเมริกา มีการใช้สัญลักษณ์ดาวในฉลากพลังงาน และสำหรับประเทศไทยใช้ตัวเลข 1, 2, 3, 4, 5 เพื่อบอกถึงประสิทธิภาพการประหยัดไฟ ฉลากเบอร์ 5 หมายถึง ประหยัดไฟได้มากที่สุด 3. ตู้เย็น
ควรซื้อตู้เย็นที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งกินไฟประมาณ 100 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาถึง 10 เท่า และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในยุโรป 4 เท่า ข้อควรสังเกต คือ การใช้พลังงานของตู้เย็นรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดโดยมากไม่เกี่ยวข้องกับขนาดของตู้เย็น ทุกวันนี้ตู้เย็นขนาด 400 ลิตร ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในท้องตลาดกินไฟเพียง 106 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ตู้เย็นประสิทธิภาพสูงจะมีราคาแพงกว่าตู้เย็นทั่วไปประมาณ 5-15 เปอร์เซ็นต์ แต่จะช่วยคุณประหยัดได้มากทั้งเงินและการใช้ไฟ และมีอายุการใช้งานนานกว่า ไม่ต้องซ่อมบ่อย และเครื่องไม่ส่งเสียงดังด้วย ควรหลีกเลี่ยงตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งในตัวหากคุณมีตู้แช่แข็งต่างหากอยู่แล้ว ตู้เย็นรุ่นที่มีช่องแช่แข็งในตัวมีประสิทธิภาพด้อยกว่าและทำให้พื้นที่ทำความเย็นลดลงอีกด้วย 4. ตู้แช่แข็ง สำหรับผู้บริโภคทั่วไป การซื้อตู้เย็น 2 ประตู ที่มีส่วนทำความเย็นและช่องแช่แข็งแยกประตูกันจะดีกว่าซื้อตู้เย็น 1 เครื่อง และตู้แช่แข็งอีก 1 เครื่อง สำหรับตู้เย็นแบบที่มีช่องแช่แข็งในตัวนั้น ช่องแช่แข็งที่อยู่ด้านบนหรือด้านล่างของตู้เย็นจะดีกว่าแบบที่ประตูอยู่ข้างกัน และแน่นอนว่าในการเลือกซื้อตู้เย็น คุณควรจะเปรียบเทียบอัตราการใช้ไฟเสมอ โดยสังเกตที่ฉลากประหยัดไฟ และมองหาตู้เย็นที่มีเทคโนโลยี Greenfreeze ตู้เย็น 2 ประตูที่มีช่องแช่แข็งในตัวซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศนี้กินไฟเพียงแค่ 137 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตู้แช่แข็งรุ่นที่ดึงประตูเปิดออกข้างจะมีประสิทธิภาพดีกว่ารุ่นที่เปิดประตูขึ้นข้างบน สำหรับตู้แช่แข็งจะไม่เหมือนตู้เย็นตรงที่ขนาดของมันมีผลต่อการใช้ไฟ ตู้แช่แข็งเครื่องใหญ่จะกินไฟมากกว่า ดังนั้นอย่าซื้อตู้แช่แข็งที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น โดยเฉพาะหากคุณอาศัยอยู่ใกล้ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า ตู้แช่แข็งรุ่นที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในท้องตลาด ขนาดความจุ 300 ลิตร จะกินไฟเพียง 180 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และขนาดใหญ่ 450 ลิตร กินไฟ 240 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ส่วนตู้แช่แข็งแบบประตูเปิดขึ้นข้างบน รุ่นที่มีคุณภาพจะกินไฟตั้งแต่ 170 กิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับรุ่นความจุ 190 ลิตร จนถึง 220 กิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับรุ่นความจุ 310 ลิตร 5. เครื่องซักผ้า - ควรซื้อเครื่องซักผ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่า 0.9 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อรอบการซัก - พิจารณาเครื่องซักผ้ารุ่นที่มีระบบ เติมน้ำร้อน ซึ่งต่อตรงกับเครื่องทำน้ำร้อนชนิดใช้แก๊สที่มีประสิทธิภาพ เพราะการใช้แก๊สทำน้ำร้อนใช้ไฟเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนการติดตั้งอุปกรณ์เติมน้ำร้อนต้องทำตามคำแนะนำอย่างถูกวิธี - ตรวจสอบจากฉลากพลังงาน ในยุโรป ฉลาก A+/A/A จะรับประกันประสิทธิภาพพลังงานที่ดีที่สุด และให้ผลการซักและการปั่นหมาดดีที่สุด - หากใช้เครื่องอบผ้า ต้องแน่ใจว่าเครื่องซักผ้าของคุณมีความเร็วรอบในการปั่นที่ 1,600-1,800 รอบต่อนาที - เครื่องซักผ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจะประหยัดน้ำได้มากขึ้นเป็นสองเท่า คือ 1,500 ลิตรต่อปี 6. เครื่องอบผ้า เครื่องอบผ้ารุ่นเก่าต้องใช้กำลังไฟแรงมาก จึงมีชื่อเรียกว่ารุ่น Condensation เป็นรุ่นที่ไม่มีท่อระบาย ซึ่งจะยิ่งใช้ไฟมากขึ้นไปอีก การตากผ้ากลางแจ้งจะช่วยประหยัดไฟได้ถึง 3-4 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อรอบการซัก หากคุณไม่สามารถตากผ้าบนราวตากผ้าได้ ก่อนอื่นคุณต้องแน่ใจว่าเครื่องซักผ้าของคุณมีรอบการปั่นอยู่ที่ 1,600 หรือถึง 1,800 รอบต่อนาที ซึ่งนี่ใช้พลังงานเกือบครึ่งหนึ่งของการตากผ้า การปั่นแห้งใช้ไฟน้อยกว่าการอบผ้าด้วยความร้อนถึง 20 เท่า เทคโนโลยีในการอบผ้ามีอยู่ 2 ประเภทที่ใช้พลังงานน้อยมาก นั่นคือ เครื่องอบผ้าแบบใช้แก๊ส และเครื่องอบผ้าแบบใช้ปั๊มความร้อนไฟฟ้า เครื่องอบผ้าแบบใช้แก๊สเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้งานที่หนักมาก โดยใช้ไฟน้อยลง 60 เปอร์เซนต์ (รวมแก๊ส) และทำให้ผ้าแห้งเร็วขึ้น 40 เปอร์เซนต์ ส่วนเครื่องอบผ้าแบบใช้ปั๊มความร้อนจะใช้ไฟฟ้าเพียงครึ่งหนึ่งของเครื่องอบผ้ารุ่นเก่า แต่ราคาค่อนข้างแพงกว่า 7. เครื่องล้างจาน เครื่องล้างจานที่มีประสิทธิภาพจะกินไฟไม่เกิน 1 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อรอบการล้าง เปรียบเทียบกับรุ่นทั่วไปโดยเฉลี่ยซึ่งกินไฟ 1.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง เครื่องล้างจานรุ่นที่มีระบบ เติมน้ำร้อน ซึ่งต่อตรงกับเครื่องทำน้ำร้อนชนิดใช้แก๊สที่มีประสิทธิภาพ ในกรณีนี้ แก๊สเป็นตัวทำให้น้ำร้อนแทนการใช้ไฟฟ้า ดังนั้นจะทำให้ประหยัดไฟลงได้ 50 เปอร์เซนต์ หรืออาจจะมากถึง 90 เปอร์เซนต์ สำหรับเครื่องล้างจานรุ่นยอดนิยม นี่เป็นเพราะว่าแก๊สมีประสิทธิภาพเกือบสองเท่าของไฟฟ้าในการทำให้น้ำร้อน ข้อควรจำคือ การติดตั้งอุปกรณ์เติมน้ำร้อนต้องทำตามคำแนะนำอย่างถูกวิธี 8. คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยี - คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คกินไฟน้อยกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 5 เท่า - หากคุณซื้อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ควรเลือกจอ LCD แทนที่จะเป็นจอ CRT ที่ตกรุ่นไปแล้ว - คอมพิวเตอร์ของคุณควรมีระบบจัดการพลังงาน การพักหน้าจอไม่ได้ช่วยประหยัดพลังงาน - ตรวจสอบดูว่าคอมพิวเตอร์ของคุณรองรับระบบจัดการพลังงานแบบ Speedstep รุ่นใหม่ๆ หรือไม่ - การปิดสวิตช์คอมพิวเตอร์จะช่วยยืดอายุการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้นานขึ้น การปล่อยให้คอมพิวเตอร์เปิดใช้ งานตลอดทั้งปีจะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี หรือเกือบจะเท่ากับปริมาณการใช้ไฟ ทั้งหมดของบ้านที่มีประสิทธิภาพทางพลังงานสูง - ควรใช้แผงพลังงานแผงเดียวสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ บรอดแบนด์โมเด็ม สแกนเนอร์ พรินท์เตอร์ มอนิเตอร์ และลำโพง และเมื่อไม่ใช้เครื่องควรปิดสวิตช์ ซึ่งจะกินไฟน้อยกว่าการเปิดเครื่องไว้ในโหมดแสตนบาย 200 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปีหรือมากกว่านั้น - ลดการสั่งพิมพ์เอกสารให้น้อยลง เลเซอร์พรินท์เตอร์ใช้ไฟมากกว่าอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ 9. ตัดการสูญเสียจากการ standby (ตัวดูดพลังงานที่ร้ายแรง)
เครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ กินไฟแม้ขณะที่เราปิดเครื่อง สำหรับ ทีวี เครื่องเล่นและบันทึกวิดีโอ เครื่องรับส่งเอกสาร เครื่องเสียงระบบไฮไฟ จอคอมพิวเตอร์ กล่องเคเบิล และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทางสายโทรศัพท์ เหล่านี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 40-120 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี รวมความสูญเสียในครัวเรือนทั้งสิ้นอาจมากถึงหลายร้อยกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ทั้งหมดนี้นับเป็นความสูญเปล่าโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด ทางออกที่ดีที่สุด คือ ซื้อเครื่องใช้ที่กินไฟในการใช้พลังงานสำรองต่ำมากๆ การใช้พลังงานสำรองมีบอกไว้ในคู่มือการใช้ผลิตภัณฑ์และสามารถตรวจสอบได้ก่อนซื้อ สำหรับเครื่องใช้ส่วนมากควรจะอยู่ที่ราวๆ 0.5-1 วัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 4-8 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี จำไว้เสมอว่าค่าใช้จ่ายของพลังงานที่เสียไปในโหมด stand by ตลอดอายุการใช้งานอาจจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องใช้เหล่านี้ก็ได้ ปลั๊กเสียบพ่วงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในการลดการสูญเสียพลังงานในโหมด stand by เพราะปิดสวิตช์เพียงครั้งเดียวสามารถปิดการทำงานของเครื่อง ใช้ไฟฟ้าได้พร้อมกันหลายเครื่อง และใช้เงินลงทุนเพียงร้อยกว่าบาท แต่ประหยัดไฟได้มากกว่า 100 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในปี 2000 ประเทศในสหภาพยุโรป 15 ประเทศ สูญเสียพลังงานจากการ stand by อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือนรวมทั้งสิ้นประมาณ 94 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือมีค่าเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ 12 โรง การเติบโตอย่างรวดเร็วของ ICT และ อุปกรณ์ multimedia ที่ไร้ประสิทธิภาพ อาจทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในอีก 10 ปี 10. อย่าใช้เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าหรือเครื่องทำน้ำร้อน สำหรับน้ำร้อน ( Heat the water, not the sky ! ) ต้มน้ำให้ร้อน ไม่ใช่ต้มฟ้าให้ร้อน
เครื่องต้มน้ำไฟฟ้ากินไฟประมาณ 3,200 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (ค่าเฉลี่ยในประเทศอุตสาหกรรม) เท่ากับพลังงานที่คน 3 คนในบ้านใช้รวมกัน แต่การผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าถ่านหิน แก๊ส หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และจากนั้นก็ส่งต่อพลังงานไฟฟ้าผ่านสายส่งไปยังบ้านเรือนคิดเป็นความร้อน 9,600 กิโลวัตต์ชั่วโมง พลังงานไฟฟ้าที่สูญเปล่าประมาณ 2 ใน 3 ของพลังงานโดยคร่าวๆ นั้นหายไปตั้งแต่ก่อนถึงบ้านคุณ ดังนั้นการใช้แก๊สหรือน้ำมันโดยตรงเพื่อต้มน้ำร้อนจะช่วยลดการใช้พลังงานไปได้ 3,800 กิโลวัตต์ชั่วโมง ในเขตภูมิอากาศอบอุ่น เครื่องต้มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สามารถลดตัวเลขนั้นลงได้ครึ่งหนึ่ง เป็น 1,900 กิโลวัตต์ชั่วโมงในสภาพภูมิอากาศร้อนปานกลาง (และยิ่งลดลงอีกในเขตภูมิอากาศร้อน) นั่นคือสามารถประหยัดพลังงานได้ทั้งสิ้นประมาณ 5 เท่าของพลังงานที่ใช้ในเครื่องต้มน้ำไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อย่าใช้เครื่องต้มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเครื่องทำความร้อนไฟฟ้า เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงกว่าการใช้แก๊สต้มน้ำเพียงอย่างเดียว ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเครื่องต้มน้ำไฟฟ้านั้นมากกว่าเงินที่ประหยัดได้เพิ่มขึ้นจากการใช้เครื่องต้มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาก 11. ใช้ฝักบัวอาบน้ำ
ฝักบัวประหยัดน้ำให้ความสะดวกสบายมาก และใช้น้ำเพียงแค่ครึ่งเดียว คือเท่ากับ 5-7 ลิตรต่อนาที แทนที่จะต้องเสียน้ำถึง 10-18 ลิตรต่อนาที น้ำร้อนใช้พลังงานมากเป็นอันดับสองของพลังงานที่ใช้ในครัวเรือน รองจากเครื่องทำความร้อน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ การใช้ฝักบัวอาบน้ำที่มีประสิทธิภาพจะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 1,500 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี หากมีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นด้วย หรือประหยัดความร้อนได้ 1,900 กิโลวัตต์ชั่วโมง ถ้าใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สหรือระบบใช้น้ำมัน ทั้งหมดนี้คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจากราคาของฝักบัวอาบน้ำเพียงไม่กี่ดอลลาร์หรือไม่กี่ยูโรเท่านั้น ตลอดอายุการใช้งาน 10 ปี ฝักบัวจะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 70,000 ลิตรทีเดียว การใช้ฝักบัวประหยัดน้ำร่วมกับเครื่องทำน้ำอุ่นระบบพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยลดความต้องการใช้พลังงานลงเหลือเพียง 950 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือน้อยกว่าเมื่อใช้เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าร่วมกับฝักบัวอาบน้ำแบบเดิมๆ เกือบ 10 เท่า 12. อย่าใช้เครื่องทำความร้อนไฟฟ้า
เหตุผลเดียวกับเครื่องต้มน้ำไฟฟ้า แทนที่จะใช้เครื่องทำความร้อนไฟฟ้า เราควรใช้วัสดุที่ทำเป็นฉนวนกันความร้อนเพิ่ม และจะดีที่สุดถ้าทำให้บ้านคุณอุ่นขึ้นด้วยการใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ อย่างเช่นเครื่องทำความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม เครื่องทำความร้อนระบบแก๊สก็ยังคงดีกว่าระบบไฟฟ้าอยู่มาก |