"บันไดบ้าน" ในทางฮวงจุ้ยถือเป็นจุดที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างชั้น เป็นการถ่ายเทชี่จากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ถ้าวางตำแหน่งบันไดผิด ย่อมส่งผลเสียอย่างแน่นอน เรื่องของบันได มีข้อบัญญัติมากมายเกินคาด ผมไปค้นตำราหลายเล่ม มีพูดถึงบันไดเอาไว้ทุกเล่ม ไม่มีเล่มไหนไม่พูดถึงเลย แสดงว่า บันไดเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หรือละเลยเป็นอย่างยิ่ง ผมจะเริ่มไล่เรียงไปที่ละประเด็นก็แล้วกันนะครับ โดยเริ่มจากนอกบ้านกันก่อน "บันได..ห้ามวางตรงกับประตูเข้าบ้าน" นี่เป็นข้อบัญญัติแรกที่ควรใส่ใจ เพราะถือว่าเป็นด่านแรกที่ชี่จะไหลผ่านเข้าสู่ภายในบ้าน "ทำไมถึงต้องห้ามด้วยล่ะ..?" หลายคนอาจสงสัยในประเด็นนี้ ถ้าอธิบายตามหลักฮวงจุ้ยก็จะบอกว่า การที่บันไดอยู่ตรงกับประตูทางเข้าบ้าน จะทำให้กระแสชี่ไหลเข้าบ้านไม่สะดวก นอกจากนี้ ชี่ในบ้านยังไหลออกได้ง่าย บ้านลักษณะนี้ในทางฮวงจุ้ยจะบอกว่า "เก็บทรัพย์ไม่อยู่" "ขัดทรัพย์" เพราะเวลาชี่ไหลเข้าบ้าน ก็จะถูกผลักออกมาเลย เรียกว่า หาเงินมาเท่าไหร่ ก็ไม่มีเหลือ กระแสชี่ที่ไหลเข้าบ้าน ปะทะกับกระแสชี่ที่ไหลออก ทำให้ชี่ดีเข้าบ้านไม่ได้ ถ้ามองตามหลักตรรกะวิทยา ก็จะบอกว่า การทำบันไดตรงกับประตูทางเข้านั้น ไม่สะดวกเช่นเดียวกัน แทนที่จะเดินเข้าบ้านได้โดยปกติ แต่จะต้องมาเสียเวลาเดินขึ้นบันไดอีกหลายขั้นกว่าจะเข้าบ้านได้ การมีขั้นบันไดมาก ยังเสี่ยงต่อการสะดุดหกล้ม หรือลื่นล้มเวลาฝนตกอีกด้วย กรณีที่จำเป็นจะต้องทำบันไดบริเวณประตูทางเข้าบ้าน ให้เลี่ยงมาทำด้านข้างแทน เพื่อให้บริเวณหน้าประตูเป็นชานพัก แต่ต้องระวังอย่าทำบันได 2 ข้าง ในลักษณะเดินขึ้นข้างหนึ่ง แล้วไปลงอีกข้างหนึ่ง จะเข้าข่ายบันไดเมรุเผาศพ คนโบราณถือว่าอัปมงคลยิ่ง อย่าลืมว่า บริเวณประตูบ้าน เป็นจุดที่มีการเข้าออกมากกว่าจุดอื่นในบ้าน เพราะฉะนั้น ควรทำให้สะดวกสบายในการก้าวเดิน จะดีกว่า "ห้ามวางบันไดในบ้านตรงกับประตู" ข้อบัญญัตินี้ จะคล้ายกับกรณีแรก เพียงแต่ว่าบันไดอยู่ในบ้านเท่านั้น ลักษณะบันไดที่จะก่อผลเสีย จะต้องเป็นกรณีที่ทางขึ้นลงบันไดอยู่ในแนวเดียวกับประตูบ้านเท่านั้น เพราะกระแสที่ไหลลงบันไดมาจากชั้นบน จะไหลออกนอกบ้านทันที
อย่าลืมเรื่องระยะห่างด้วยนะครับ ยิ่งบันไดใกล้ประตูยิ่งมีผลกระทบมาก ถ้าหาฉากมากั้นระหว่างประตูกับบันไดได้ ก็จะเป็นการแก้ไขที่ดี เพราะการโยกย้ายบันได เพื่อหลบประตูคงทำได้ยาก "ห้ามวางตำแหน่งบันไดอยู่กลางบ้าน" ตำแหน่งใจกลางของบ้าน ในทางฮวงจุ้ยจะถือว่าเป็นตำแหน่งหัวใจของบ้านเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการจะนำอะไรไปวางในจุดนี้ จะต้องพิจารณาให้มาก กรณีจุดกลางบ้านเป็นบันได ก็จะถือว่าเสีย และเป็นข้อห้ามในทางฮวงจุ้ย
ตำราฮวงจุ้ยอธิบายไว้ว่า เจ้าของบ้านจะอยู่ไม่ติดบ้าน เป็นประเภทชีพจรลงเท้า เนื่องจากบันไดมีสภาพที่เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง นั่นเอง นอกจากนี้ เจ้าของบ้านยังอาจเป็นโรคหัวใจได้ง่ายอีกด้วย เพราะตำแหน่งหัวใจ มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา คำว่า?กลางบ้าน? จะต้องตรงกลางจริงๆนะครับ ไม่ใช่ตรงกลางริมบ้าน อย่างนั้นไม่ใช่ตำแหน่งกลางบ้านครับ "ตำแหน่งบันไดที่ดี ควรอยู่ข้างบ้าน" คำว่า "ข้างบ้าน"ในที่นี้ จะอยู่ซ้ายหรือขวาก็ได้ ไม่ผิดกติกาใดๆ แต่ส่วนใหญ่จะให้พิจารณาจากประตูทางเข้าบ้าน เป็นหลัก เช่น ประตูเข้าอยู่ซ้าย บันไดก็ควรอยู่ขวา ประตูอยู่ขวา บันไดก็ต้องอยู่ซ้าย จึงจะถือว่าดี
ตำแหน่งของบันไดถ้าวางไว้ส่วนกลางของบ้านได้จะถือว่าดีมาก โดยเฉพาะบ้านหลังใหญ่ๆ เหตุผลก็เพราะ ถ้าบันไดอยู่ส่วนกลาง เวลาจะเดินไปหน้าบ้าน หรือหลังบ้าน จะมีระยะห่างที่พอๆกัน ถ้าเอาบันไดไว้หน้าบ้าน เวลาจะเดินไปหลังบ้านทีก็ต้องเดินไกล คนอยู่หลังบ้านจะไปชั้นบน ก็ต้องเสียเวลาเดินมาหน้าบ้านเพื่อขึ้นบันได ส่วนกลางบ้านจึงเป็นจุดที่สะดวกที่สุด แต่ไม่ใช่ใจกลางบ้านนะครับ อย่าสับสนกับข้อห้ามเรื่องบันไดอยู่กลางบ้าน "บันไดห้ามชันและแคบ" การสร้างบันได อย่าลืมใส่ใจในเรื่องของความสูงชัน และความกว้างของบันไดด้วย เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว บันไดที่ดีจะต้องลาดชันไม่เกิน 45 องศา บันไดที่กว้างย่อมดีกว่าแคบ การเดินจะสะดวก ไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้
"ขั้นบันไดห้ามเป็นเลขคู่" เรื่องนี้ความจริง ไม่อยากพูดถึงสักเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในเรื่องวิธีการนับขั้นบันได บางตำราบอกว่า ไม่นับพื้นชั้นบนเป็น 1 ขั้น ไม่นับชานพักบันได บางตำราบอกชานพักต้องนับ แต่บางตำรากลับให้นับช่องวางระหว่างขั้นบันไดแทน
อย่าไปซีเรียสเลยครับเรื่องนี้ คนสมัยก่อนจะถือเลขมงคล ถ้าเป็นเลขคี่จะหมายถึงคนเป็น ส่วนเลขคู่จะหมายถึงคนตาย แค่นี้จริงๆครับ ผมว่า ไปใส่ใจเรื่องอื่นจะดีกว่า เช่น จะทำอย่างไรให้บันไดเดินแล้วสะดวกสบาย ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ น่าจะดีกว่ามานั่งนับขั้นบันไดกัน ความจริงยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับบันไดอีกมาก เช่น บริเวณบันไดจะต้องสว่าง เรื่องของรูปทรงบันไดที่มีหลายรูปแบบ หรือบันไดควรจะเวียนขวาหรือเวียนซ้าย เอาไว้ถ้ามีโอกาสผมจะนำมาพูดถึงอีกสักครั้งก็แล้วกันนะครับ?. โดย อ.มาโนช ประภาษานนท์
|