ควรตั้งเป้าหมายการออม 30% ของรายได้ เมื่อไหร่ที่พูดถึงการ 'วางแผนทางการเงิน' หรือ 'การออม' เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ 'ชีวิตหลังเกษียณ' แล้ว เชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่คงจะส่ายหน้า เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ดูจะ 'ไกลตัว' ไปหน่อย เป็นเรื่องของ 'อนาคต' ที่ยังมาไม่ถึง เป็น 'นามธรรม' ที่จับต้องก็ไม่ได้ จึงไม่ใส่ใจและละเลยไป ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทุ่มเทความสนใจไว้ที่ 'ปัจจุบัน' ที่เป็นอยู่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องที่ 'ใกล้ตัว' แล้วก็เป็น 'รูปธรรม' ที่จับต้องได้ง่ายกว่า เสียงโอดครวญที่เกิดขึ้นในสังคม บ้างก็ว่าลำพังแต่ละเดือนจะหารายได้มาให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ยังจะเอาเวลาที่ไหนไปคิดถึงเรื่องการออมเพื่ออนาคตอีกล่ะ วันนี้จะมีกินมีใช้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย ถ้าชีวิตคุณเป็นไปในลักษณะนี้ เรื่องของการวางแผนการเงินและการออมยิ่งเป็นเรื่องที่คุณควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ลองจินตนาการไปถึงวันที่คุณเกษียณแล้วไม่มี 'รายได้' คงเหลือแต่ 'รายจ่าย' คุณจะใช้ชีวิตหลังเกษียณของคุณได้อย่างไร Fundamentals สัปดาห์นี้ มีวิธีการคำนวณเงินออม เพื่อให้คุณเตรียมความพร้อมก่อนชีวิตหลังเกษียณ ........................ คุณทราบหรือไม่ว่า อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยในปัจจุบัน แตกต่างกันกับในอดีตค่อนข้างมากทีเดียว โดยคนไทยมีแนวโน้มที่จะมีอายุขัยนานขึ้นทั้งชายและหญิง ซึ่งแตกต่างจากเมื่อในอดีต นั่นหมายความว่า คุณจะมีช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณที่ยาวนานขึ้นด้วยนั่นเอง ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการว่าอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2563-2568) อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มสูงขึ้น โดยชายไทยจะมีอายุเฉลี่ย 75 ปี และหญิงไทยมีอายุเฉลี่ยถึง 80 ปี 'นั่นหมายความว่า คุณจะต้องมีชีวิตหลังเกษียณที่ยาวนานขึ้นกว่าในอดีต สำหรับผู้ชายก็ประมาณ 15 ปี ส่วนผู้หญิงก็ 20 ปี แล้วคุณจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีการวางแผนการเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณเอาไว้' จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย เคยสำรวจวัตถุประสงค์ในการออมเงินของบุคคล พบว่า เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการออม ก็เพื่อไว้ใช้ในยามเจ็บป่วยหรือวัยชรา ตามมาด้วยการ ออมเพื่อการศึกษา และ เพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ ตามลำดับ ซึ่ง Fundamentals สัปดาห์นี้จะเน้นหนักไปถึง การออมเพื่อให้เพียงพอไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่มีความสำคัญทั้งในระดับบุคคล คือ ตัวผู้ออมเอง และยังส่งผลประโยชน์ทางอ้อมมาถึงส่วนรวมด้วย เพราะจะช่วยลดภาระของรัฐบาลในอนาคตอีกด้วย แต่ไม่ว่าเป้าหมายในการออมจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม จุดร่วมที่เหมือนกันก็คือจะต้องเริ่มต้นด้วย 'การออม' 'แล้วเมื่อคุณตั้งใจจะออมเงินแล้ว ก็ควรจะมีเป้าหมายในการออมเสียหน่อยว่าควรจะออมเท่าไรถึงจะเพียงพอ ที่จะทำให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างสบายๆ ในช่วงชีวิตหลังเกษียณไปแล้ว' ระดับเงินออมเท่าไรถึงจะเรียกว่า 'เพียงพอ' สำหรับตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีนักวิจัยทางการเงินให้สูตรในการคำนวณง่ายๆ เอาไว้ เพื่อให้คุณได้ใช้เป็นจุดอ้างอิง (Bench Mark) ในการตรวจสอบถึงฐานะการเงินของตัวเอง เป็นการแปลงเรื่องราวที่ดูเป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมที่สามารถจะมองเห็นได้ ซึ่งจะทำให้คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดเป้าหมายในการออมระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้อายุปัจจุบันคูณด้วยรายได้ทั้งปี แล้วนำมาหารด้วย 10 ก็จะได้ 'ระดับเงินออมที่เหมาะสม' ออกมา แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ลืมว่าแต่ละคนมีวิธีการถือสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ในที่นี้ระดับเงินออมที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งเดียวกันกับ 'ความมั่งคั่ง' ที่จะนับยอดรวมของเงินสด เงินฝากธนาคาร หุ้น พันธบัตร บ้าน ที่ดิน ทองคำ เครื่องประดับ วัตถุโบราณหรือของสะสมต่างๆ เป็นต้น ลบด้วยหนี้สินที่มีอยู่ นั่นจึงจะเป็นระดับเงินออมที่เหมาะสมตามสูตรนี้ ซึ่งระดับเงินออมที่เหมาะสมนี้จะขึ้นอยู่กับตัวแปรหลักเพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ 'อายุ' และ 'รายได้' ตัวอย่าง ถ้าขณะนี้คุณมีอายุ 25 ปี และได้รับเงินเดือนๆ ละ 10,000 บาท ดังนั้น ปัจจุบันคุณก็ควรจะมีเงินออมประมาณ 300,000 บาท (=25 คูณ 10,000 คูณ 12 หารด้วย 10) ถ้าหากใครที่ยังมีเงินออมต่ำกว่าตัวเลขที่คำนวณออกมาได้ ก็ควรจะเริ่มต้นออมกันได้แล้ว สำหรับผู้ที่มีระดับเงินออมในปัจจุบันเพียงพอแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีด้วย แต่สำหรับผู้ที่ยังมีระดับเงินออมไม่เพียงพอก็ถึงเวลาที่จะต้องกลับมาสำรวจดูตัวเองอีกครั้ง เพราะจะเห็นได้ว่าแม้แต่ผู้ที่มีรายได้สูงมากเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าใช้จ่ายแบบ เดือนชนเดือน กู้หนี้ยืมสินมาใช้ ชักหน้าไม่เคยถึงหลัง มีรายได้มาก็ไม่เคยเหลือเก็บ ไม่รู้จักเก็บออม คุณก็อาจจะกำลังตกอยู่ในฐานะของผู้ที่มีระดับเงินออมไม่เพียงพอได้เช่นเดียวกัน สมมติคุณมีอายุ 30 ปี และมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท แต่กลับมีระดับของเงินออมไม่ถึง 720,000 บาท ก็นับว่าคุณยังมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับตัวเองในปัจจุบันเช่นเดียวกัน เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่วัยเกษียณแล้วจะมีจุดเปลี่ยน (Turning Point) ที่สำคัญเกิดขึ้น เพราะช่วงชีวิตในวัยทำงานนั้น จะมีทั้งส่วนของรายได้ที่เข้ามาและรายจ่ายที่จะต้องจ่ายออกไป คือ มีครบทั้งกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่าย บนสมมติฐานของมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไป แต่เมื่อคุณเกษียณแล้วรายได้จากเงินเดือนก็จะหมดไป เหลือเพียงแต่รายจ่ายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คุณควรจะต้องมีระดับของเงินออมที่มากเพียงพอในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตในช่วงหลังเกษียณได้อย่างสบายในระดับหนึ่ง ส่วนการคำนวณว่า ระดับเงินออมที่เหมาะสม สำหรับแต่ละคนนั้นควรเป็นเท่าไรอย่างแน่นอนนั้น จะต้องพิจารณาถึงเป้าหมาย และความจำเป็นในการใช้เงินของตัวคุณเองเป็นสำคัญ ตัวอย่าง ถ้าคุณตั้งใจจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี แล้วมีชีวิตหลังเกษียณไปอีก 20 ปี โดยจะใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท คุณก็ควรจะมีเงินออมประมาณ 2,400,000 บาท (=10,000 คูณ 12 คูณ 20) เพื่อที่คุณจะได้มีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 10,000 บาท ตามที่ตั้งใจไว้ เมื่อเห็นเป้าหมายในอนาคตแล้ว ก็มาสำรวจดูว่าปัจจุบันคุณอยู่ที่ตรงไหนของเส้นทางนี้ ถ้าปัจจุบันคุณมีอายุ 30 ปี แสดงว่า คุณมีเวลาเหลืออีก 30 ปี จึงจะเกษียณ (=60-30) ในกรณีที่คุณไม่มีเงินออมอยู่เลย คุณจะต้องออมให้ได้ปีละ 80,000 บาท หรือเดือนละ 6,666.67 บาท ไปอีก 30 ปี เพื่อที่จะมีเงินออมจำนวน 2,400,000 บาท เอาไว้ใช้หลังเกษียณตามที่คิดเอาไว้ 'มีผู้เชี่ยวชาญประมาณกันว่า สำหรับคนไทยในยุคปัจจุบันหากเกษียณอายุและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แบบสบาย ก็ควรจะมีเงินไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท' ตารางที่ 1 เป็นการคำนวณจำนวนปีที่ต้องใช้เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายระดับเงินออมที่ต้องการ (โดยสมมติให้เงินออมได้รับผลตอบแทนที่แท้จริงที่ระดับ 5% ต่อปี และจำนวนปีที่ระบุในตารางเป็นตัวเลขปัดเศษขึ้นเป็นจำนวนเต็ม) สมมติคุณตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี โดยมีเป้าหมายเงินออมเท่ากับ 3,000,000 บาท โดยปัจจุบันครอบครัวคุณมีรายได้ปีละ 250,000 บาท ขณะนี้คุณมีอายุ 40 ปี และสมมติต่อไปว่าคุณมีเงินออมอยู่แล้ว 500,000 บาท นั่นหมายความว่า คุณยังมีเวลาอีก 20 ปีที่จะทำงานก่อนที่จะเกษียณ และคุณต้องการเงินอีก 2,500,000 บาท หรือคิดเป็น 10 เท่าของรายได้ต่อปีของครอบครัว (=2,500,000 หาร 250,000) จากตารางที่ 1 ให้คุณดูแถวที่ระดับ 10 เท่า และไล่ไปตามบรรทัดนั้นจนเจอตัเลข 20 ปี จากนั้นให้คุณมองไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงหัวคอลัมน์ คุณจะพบว่าคุณ ควรจะตั้งเป้าหมายการออมเงินที่ระดับ 30% ของรายได้ ซึ่งเท่ากับเดือนละ 6,250 บาท (=250,000 คูณ 30% หารด้วย 12) 'เมื่อคุณได้เป้าหมายการออม ที่สามารถวัดได้เป็นตัวเลขที่แน่นอนแล้ว คุณควรจะเริ่มสร้างวินัยในการใช้จ่ายสำหรับตัวคุณเองเสียแต่ในวันนี้ และพยายามติดตามผลทุกๆ เดือนว่าทำได้ตามเป้าหรือไม่ เพราะหากรู้แล้ว แต่ยังไม่ใส่ใจ ผลลัพธ์ที่ได้ที่จะติดตามมานั้นก็จะแปรผัน ตามพฤติการณ์ในการใช้จ่ายและการออมของตัวคุณเอง' จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าคุณยังมีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบตามใจชอบเหมือนเดิม และเก็บออมในอัตราเพียงครึ่งเดียวของที่ควรจะเป็น หรือ 15% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งจากตารางดังกล่าว คุณจะต้องใช้เวลาถึง 30 ปี จึงจะบรรลุเป้าหมายเงิน 3,000,000 บาทดังกล่าว นั่นหมายความว่า หลังเกษียณแล้ว คุณยังไม่ใช้เงินเก็บก้อนนั้น แต่ยังต้องทำงานหาเงินต่ออีก 10 ปี เพื่อดำรงชีวิต และมีเก็บออมให้ได้เดือนละ 3,125 บาทด้วย ถ้าคุณไม่ยอมจ่ายเพื่อตัวเองก่อนในอัตรา 30% ของรายได้ในวันนี้ แต่เลือกที่จะออมเพียง 15% ของรายได้ คุณก็ต้องยอมลดมาตรฐานการครองชีพช่วงหลังเกษียณที่เคยวางแผนไว้ 50% ในทางตรงข้ามถ้าคุณยอมกระเหม็ดกระแหม่อีกนิดด้วยการเก็บออมในอัตรา 45% ของรายได้ คุณจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เร็วขึ้นในเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น และเมื่อคุณอายุครบเกษียณ 60 ปี คุณจะมีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 4,250,000 บาท(=500,000+15 คูณ 250,000 บาท) 'เป้าหมายระดับเงินออมที่เพียงพอสำหรับคุณในอนาคตนั้น จะถูกกำหนดจากตัวแปรเพียง 3 ตัวเท่านั้น คือ 'เงินต้น' 'ระดับของผลตอบแทน' และ 'ระยะเวลา' และในตัวแปรทั้ง 3 ตัวนี้ มีเพียง 2 ตัวเท่านั้น ที่คุณสามารถจะควบคุมได้ นั่นก็คือ เงินต้นและระยะเวลา ดังนั้น ยิ่งเริ่มต้นออมเร็วเท่าไร ก็จะใช้เงินในการออมน้อยลงเท่านั้น' ได้มีผู้พยายามศึกษาว่าผู้อยู่ในวัยทำงานจะต้องออมเท่าไร ต้องวางแผนการออมอย่างไร จึงจะสามารถสะสมเงินออมตลอดช่วงวัยทำงานเพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพเมื่อหลังเกษียณอายุ โดยพิจารณาจาก 'อัตราทดแทนรายได้' (Replacement Rate) หมายถึงตัวเลขที่จะบอกได้ว่าคุณควรจะมีเงินได้ต่อเดือนเท่าใดจึงจะมีชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสบายๆ โดยทั่วไปจะใช้ตัวเลขที่ 50% นั่นคือ คุณควรจะมีรายได้จากการใช้ 'เงินทำงาน' อย่างน้อย 50% ของรายได้ในช่วง 5 ปีก่อนเกษียณ จึงจะสามารถรักษามาตรฐานการครองชีพช่วงหลังเกษียณอย่างมีความสุขเอาไว้ได้ ตารางที่ 2 เป็นอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณของเครื่องมือทางการเงินประเภทต่างๆ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเครื่องมือทางการเงินประเภทต่างๆ ให้ผลตอบแทนเหมือนกับอดีตในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ผู้ศึกษาได้คำนวณอัตราทดแทนรายได้ของผู้ออมโดยจำแนกตามจำนวนปีที่ออม และเครื่องมือทางการเงินต่างๆ แล้วจะได้ผลตามตารางที่ 2 ซึ่งจะพบว่า ผู้ที่ออมเงินน้อยกว่า 10 ปี คือ เริ่มต้นคิดออมเมื่ออายุ 50 ปี จะไม่มีทางบรรลุถึงอัตราทดแทนรายได้ที่ระดับ 50% ในทุกกรณี สำหรับผู้ที่ออมเงินนานถึง 20-30 ปี คือ เริ่มต้นเก็บออมตอนอายุ 40 ปี และ 30 ปีตามลำดับ จะมีโอกาสบรรลุถึงอัตราทดแทนรายได้ที่ 50% ได้ แต่ต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขอัตราการออมและเครื่องมือทางการเงินที่เขาเลือกลงทุน ซึ่งถ้าผู้ออมต้องการเลือกลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่มีความปลอดภัย แต่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำ ผู้ออมก็จะต้องชดเชยด้วยอัตราการออมที่สูงขึ้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวอัตราการออมอาจจะต้องสูงถึง 40-50% ของรายได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ยิ่งผู้ออมมีระยะเวลาในการเก็บออมยาวนานเท่าใด จะยิ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการเลือกอัตราการออมและเครื่องมือทางการเงินได้ตามความต้องการ และความชอบของตัวเองได้มากขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากยิ่งผู้ออมเริ่มเก็บออมช้า ก็ยิ่งจะต้องไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นนั่นเอง ลองสำรวจดูตัวเองซิว่า วันนี้ คุณมีระดับของเงินออมที่เพียงพอแล้วหรือยัง |