งบประมาณในการรื้อถอนบ้าน การรื้อถอนบ้านเก่า เราจะต้องเรียกพวกรับรื้อถอน มาตีราคาหลายๆ รายเพื่อเปรียบเทียบราคา แล้วท่านจะพบว่าราคาแต่ละเจ้าต่างกันพอสมควร อันนี้บางทีก็เกี่ยวกับดรรชนีความซื่อสัตย์ของคนที่จะมารับจ้างเราด้วย วัสดุเก่าในบ้านเราเปลี่ยนเป็นเงิน โดยเราสามารถขายให้คนรื้อถอนเพื่อหักค่าจ้างได้ แต่ก่อนตกลงว่าจ้างต้องคุยกันให้ละเอียดว่าเนื้องานที่จะให้ทำมีเท่าไรมาตรการป้องกันความเดือดร้อนรำคาญสำหรับ บ้านข้างเคียงเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบกรณีทำให้ข้างบ้านเสียหาย เป็นต้น แต่ต้องระวังผู้รับเหมารื้อถอนที่เสนองานในราคาถูกๆ เพราะเวลาทำงานจริง ปรากฏว่าไม่มีทั้งความรับผิดชอบ และความเรียบร้อย งานทำไม่เสร็จแอบหมกเม็ดเอาไว้ เช่น ไม่ขุดฐานรากบ้านเก่าทิ้ง เอาดินกลบไว้ก็มี งบประมาณในการถมดิน ในการเปรียบเทียบราคา ขั้นแรก เราจะต้องพิจารณาผู้รับเหมาถมดิน จากแหล่งดินที่จะนำมาถมเป็นอันดับแรก ให้สอบถามแหล่งดินที่ผู้รับเหมาถมดินก่อนว่า ใช้ดินจากที่ไหน ให้พิจารณารายที่มีแหล่งดินที่อยู่ในย่านใกล้เคียงกับที่ดินของเรา การว่าจ้างผู้รับเหมาถมดินเท่าที่เห็น มีสองแบบคือแบบเหมาจ่าย และ แบบตกลงกันเป็นคิวหรือเป็นคันรถ ซึ่งผมขอแนะนำว่าการตกลงกันแบบเหมาจ่าย เป็นวิธีที่สะดวกที่สุดเพราะ ตรวจสอบจากเนื้องานได้ง่าย แม้เราจะว่าจ้างถมดินแบบเหมาจ่ายก็ตาม ในขั้นตอนเสนอราคา เรามีวิธีการตรวจสอบราคา ก่อนตัดสินใจดังนี้ - หาข้อมูลกลับไปว่า ถ้าว่าจ้างแบบเป็นคิว หรือ เป็นคันรถ ราคาในการถมพร้อมบดอัด ตกคิวละเท่าไร
- เมื่อได้ราคาต่อคิวแล้ว เรามีวิธีการตรวจสอบปริมาณในการถมดินในที่ดินของเรา ดังนี้ครับ
- แปลงที่ดินของเรา จากตารางวา เป็นตารางเมตร โดยการ เอา 4 คูณจำนวนตารางวา เช่นที่ดิน 100 ตารางวา คูณ 4 จะได้ 400 ตารางเมตร
- ถ้าถมสูง 1 เมตร เอาความสูง คูณ จำนวนตารางเมตร ในที่นี้ คือ เอา 1 x 400 = 400 คิว เผื่อบดอัดด้วยรถแทรกเตอร์ ประมาณ 20 % (80 คิว) ดังนั้นจำนวนดินที่จะใช้จริง คือ 480 คิว
- ถ้าถมสูง 1.5 เมตร เอาความสูง คูณ จำนวนตารางเมตร ในที่นี้ คือ เอา 1.5 x 400 = 600 คิว เผื่อบดอัดด้วยรถแทรกเตอร์ ประมาณ 20 % (120 คิว) ดังนั้นจำนวนดินที่จะใช้จริง คือ 720 คิว
- ดินที่เหมาะที่จะนำมาใช้ถม ควรจะ เป็นดินท้องนา ในกรณีที่ที่ดินที่จะถม มีบ่อ หรือหลุมลึก ควรใช้ทราย เพื่อป้องกันการทรุดตัว เพราะเนื้อทรายละเอียดกว่า
- ระดับที่จะถมตกลงให้ชัดเจน โดยอาจจะทำเครื่องหมายไว้ที่ที่ดินของเรา ส่วนการบดอัดเป็นอย่างไร บดอัดแน่นแค่ไหน
- หลีกเลี่ยงการถมดินหน้าฝน เพราะช่วงหน้าฝนจะทำงานลำบาก และหาดินที่มาถมยาก
งบประมาณสร้างบ้าน
ก่อนเข้าเรื่องงบประมาณประมาณสร้างบ้าน หรือ งบสร้างบ้าน ขอทำความเข้าใจก่อนว่าการว่าจ้างให้ใครสักคนมาสร้างบ้านให้นั้น ท่านทำได้หลายทางเลือก ซึ่งมีทางเลือก ดังต่อไปนี้ จ้างบริษัทรับสร้างบ้าน จ้างสถาปนิกออกแบบก่อน แล้วหาผู้รับเหมามาประมูลสร้างบ้าน จ้างผู้รับเหมา ให้ผู้รับเหมาไปหาสถาปนิกมาออกแบบให้ จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อรอง และว่าจ้างผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน มาช่วยดูแล การว่าจ้างให้กับท่าน สำหรับวิธีการตั้งงบประมาณก่อสร้าง เพื่อการวางแผนทางด้านการเงิน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ทำได้ดังนี้ 1. กรณีเลือกแบบบ้านมาตรฐานของบริษัทรับสร้างบ้าน ในกรณีที่ท่านเลือกแบบบ้านมาตรฐาน ของบริษัทรับสร้างบ้านแล้ว ท่านจะทราบว่า งบประมาณที่จะใช้สร้างบ้านจากราคาที่บริษัทเสนอมาได้เลย แต่ท่านต้องตรวจสอบรายการวัสดุก่อสร้างทุกรายการ ที่ได้รับการเสนอมา ว่าละเอียดพอหรือไม่ ให้ระวัง สเปคที่เขียนไว้กว้างๆ ตรวจสอบวัสดุทุกรายการ ดูวัสดุที่ใช้ตกแต่ง (ดูของจริง) ว่าพอใจหรือไม่ หรือจะต้องเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะหากเปลี่ยนแปลงภายหลัง ท่านต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอย่างแน่นอน 2. กรณีออกแบบบ้านใหม่ กรณีที่ท่านออกแบบบ้านใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างสถาปนิกให้ออกแบบบ้านให้ หรือ ให้บริษัทรับสร้างบ้านออกแบบก็ตาม ก่อนลงมือออกแบบท่านก็คงอยากจะรู้ว่าบ้านหลังที่จะออกแบบนั้น จะใช้เงินค่าก่อสร้างสักเท่าไร ถ้าท่านได้พูดคุยกับสถาปนิก สถาปนิกจะให้คำแนะนำกับท่าน ในเรื่อง งบประมาณที่จะสร้างบ้าน แต่ถ้าท่านยังไม่ได้ติดต่อกับสถาปนิกรายใดเลย แต่อยากจะรู้ว่าจะต้อง ตั้งงบสร้างบ้านสักเท่าไร ท่านมีวิธีการกำหนดงบประมาณด้วยตนเอง ดังนี้ หาแบบบ้านมาตรฐานของบริษัทรับสร้างบ้าน หรือจะดาวน์โหลดจากเว็บไซด์ของบริษัทรับสร้างบ้านก็ได้ เลือกแบบบ้านที่คิดว่าใกล้เคียงกับความ ต้องการของท่านให้มากที่สุด ( แต่ก็ยังไม่โดนใจ และต้องการออกแบบบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง) แบบบ้านที่หามานี้ใช้เป็นแบบตุ๊กตา ในการหาราคาค่าก่อสร้าง แบบบ้านที่หามาดูนั้นควรจะหามาจากหลายๆ บริษัทฯ ให้ดูสัดส่วนระหว่างพื้นที่ใช้สอยภายใน และ ภายนอกของแบบบ้านแต่ละบริษัท ให้ใกล้เคียงกันให้มากที่สุด (ไม่ต้องสนใจหน้าตาบ้าน เพราะเราจะออกแบบใหม่ ) แบบที่ท่านเลือก จะมีรายการวัสดุอยู่ด้วยให้เลือกรายการวัสดุที่ใกล้เคียงกับความต้องการของท่านให้มากที่สุด ให้ดูรายการวัสดุหลายๆ บริษัท ในแบบที่ท่านเลือก จะระบุขนาดพื้นที่ใช้สอยไว้ว่า แบบบ้านนั้นมีพื้นที่ใช้สอยมีขนาดกี่ตารางเมตร สเปคตามที่ท่านเลือกราคาค่าก่อสร้างเท่าไร ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถหาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรได้ เอาค่าก่อสร้างของแต่ละบริษัทฯ มาหาค่าเฉลี่ย ผลที่ได้คือราคาค่าก่อสร้าง ต่อตารางเมตรของบ้านที่เราจะสร้างคูณด้วยพื้นที่ใช้สอย ที่เราต้องการ จะสร้าง ผล คือ งบประมาณที่จะใช้ในการสร้างบ้านของท่านนั่นเอง งบประมาณในการทำรั้ว
มีบ้านก็ต้องมีรั้ว การประมาณค่าใช้จ่ายในเรื่องรั้ว ทำได้โดยการขอข้อมูลจากบริษัทรับสร้างบ้าน และผู้รับเหมาหลายๆ รายนำมาหาค่าเฉลี่ยว่าราคาประมาณเมตรละเท่าไร (หน่วยเป็นเมตรนะครับ ไม่ใช่ตารางเมตร) เอาราคาต่อเมตรนั้น คูณด้วยความยาวของรั้วที่ท่านจะทำ ก็พอจะได้งบประมาณคร่าวๆ แต่วิธีการนี้ใช้ได้ดี สำหรับรั้วที่กั้น ด้าน ซ้าย ขวา และ ด้านหลังของบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน ไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงามเหมือนอย่างรั้วหน้าบ้าน ราคาต่อเมตรของรั้วด้านหน้านั้น ขึ้นอยู่กับดีไซน์ที่ท่านอยากจะได้ ท่านอาจจะขอดูตัวอย่างรั้วหน้าบ้าน ที่เขาสร้างไว้แล้วและถามราคาดู เพื่อเป็น ไอเดียในการ ตั้งงบประมาณของเรา และอย่าลืมถาม ขนาด ความยาว และ จำนวนต้นของเสาเข็ม ที่ลงในหนึ่งหลุมด้วย เพื่อประกอบการพิจารณา งบประมาณอื่นๆที่จำเป็นต้องใช้ งบประมาณในการขอมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา พวกปั๊มน้ำ แท็งก์น้ำ และ ดวงโคม ถ้าที่ดินที่เราจะปลูกสร้าง ไม่เคยมีมิเตอร์ไฟฟ้า และ ประปาเลย การขอมิเตอร์ทั้งมิเตอร์ไฟฟ้า และ มิเตอร์ประปา จะต้องมีการขออย่างละ สองครั้ง โดยครั้งแรกในช่วงเริ่มต้นสร้างบ้านเป็นการขอมิเตอร์แบบชั่วคราว ซึ่งผู้รับสร้างบ้านส่วนใหญ่จะผลักภาระมาให้ท่าน การขอครั้งที่สองขอเมื่อบ้านเสร็จ จะเป็นการขอมิเตอร์แบบถาวร ซึ่งจะต้องคืนมิเตอร์แบบชั่วคราว โดยท่านจะได้คืนเงินบางส่วน จากการไฟฟ้า และ การประปา ภายหลังจากทำการขอมิเตอร์แบบถาวร งบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเตรียมก็คือ งบประมาณในการซื้อดวงโคม โดยเฉพาะเจ้าของบ้านที่ไม่ได้ใช้บริการตกแต่งภายใน แต่แต่งบ้านด้วยตนเอง เพราะผู้รับจ้างสร้างบ้านส่วนใหญ่ ให้โคมไฟตามความจำเป็นในการใช้งานในกรณีที่เจ้าของบ้านต้องการไฟดาวน์ไลท์ หรือ โคมระย้าก็ต้องจ่ายเพิ่ม และท่านต้องไม่ลืม งบประมาณที่จะใช้ซื้อ ปั๊มน้ำ และถังเก็บสำรองน้ำไว้ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้เป็นของจำเป็นสำหรับบ้านไปแล้ว งบประมาณสำรองไว้เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว การสร้างบ้านนั้น หากตกลงราคากับผู้รับสร้างบ้าน ที่ดี ที่มีความซื่อสัตย์ เรียบร้อยแล้วส่วนใหญ่มักจะไม่มีปัญหาบานปลายในเรื่องงบประมาณ ที่จะบานปลายจริงๆ อาจจะเป็นตัวท่านเอง เพราะบางครั้งอาจไปเห็นวัสดุ ที่ต้องตาต้องใจขึ้นมา เกิดอยากจะได้และซื้อเพิ่ม ทำให้งบบานปลายครับ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพอใจ และงบประมาณในกระเป๋าของแต่ละคน วัสดุก่อสร้างที่เจ้าของบ้านชอบเปลี่ยนแปลงตามความชอบของแต่ละคน บ่อยๆ คือ หลังคา วัสดุปูผิวพื้น วัสดุปูผิวผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น การเตรียมเงินสำรองในส่วนนี้ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าของแต่ละท่าน |