ก่อนจะเรียนรู้เรื่องของการสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองนั้น มีสิ่งสำคัญประการแรกที่จะต้องทำคือ ปรับพื้นที่ก่อนการสร้างบ้าน กรณีที่เป็นที่จัดสรรโครงการต่างๆ ระดับของที่ดินน่าจะใช้ได้แล้ว เข้าปลูกบ้านได้เลย เพราะเขาจะปรับพื้นที่ที่ดินทุกแปลงให้เรียบร้อย และเท่าๆกันหมด แต่หากที่ดินของคุณ ไม่ใช่ที่ดินจัดสรร ก็อาจจะต้องมีการปรับพื้นที่ก่อนการสร้างบ้าน มาดูรายละเอียดของแต่ละกรณีดู 1. ถ้าเป็นที่ดิน ที่มีระดับสูงกว่าระดับถนนอยู่แล้ว แต่ไม่ราบเรียบ คุณจะปรับพื้นที่ก่อนเพื่อให้การก่อสร้างทำได้สะดวกก็ได้ หรือจะทำภายหลัง เมื่อการก่อสร้างเสร็จแล้ว จะทำการปลูกต้นไม้ จัดสวนก็ได้ 2. ถ้าเป็นที่ดินต่ำกว่าถนน ต้องทำการถมปรับระดับที่ดิน ให้สูงกว่าระดับถนนเสียก่อน เพื่อกันปัญหาเรื่องน้ำท่วม แต่ไม่แนะนำให้ถมสูงเกินไปนัก จนเกินความจำเป็น และจะยากลำบากต่อการทำถนนและโรงรถด้วย เอาสูงพอประมาณสัก 30-50 ซม. ก็พอ หรือดูจากที่ดินข้างเคียง ระดับไม่ควรต่างกันมากนัก เพราะดินมันไหลได้เหมือนกัน ถ้าเราจะถมสูงกว่าเขา เราก็ต้องทำรั้วเป็นเขื่อนกั้น ไม่ให้ดินมันเทออกไป ถ้าถมสูงมาก ก็ต้องทำรั้วสูงตาม และถ้าสูงต่างกันมากระหว่างด้านใน กับด้านนอก รั้วก็ต้องออกแบบตอกเข็มเป็นพิเศษ ไม่งั้นมันจะเอียงได้ง่ายๆ ส่วนตัวบ้านนั้นควรจะยกพื้นสูง มีใต้ถุน ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีคนทำกัน บ้านสมัยก่อนเขาทำกันเป็นส่วนใหญ่ และก็มีข้อดีหลายอย่าง เสียเงินมากขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น แต่จะค่อยมาว่ากันภายหลัง ในเรื่องการสร้างบ้าน ที่ให้ถมที่ก่อนนั้น เพราะการถมที่ ไม่ว่าเราจะให้เขาบดอัดดินให้แน่นขณะถมเท่าใด ดินมันก็จะต้องทรุดตัวลงวันยังค่ำ เพราะการบดอัดนั้น ทำไม่ได้ 100 % แน่นอน การทรุดตัวของดินนั้นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ มันเป็นการ settlement คือยุบตัวเองให้แน่นโดยไม่มีโพรงหรือช่องว่างอยู่ เหมือนตอนถมใหม่ๆนั่นเอง การ settlement นี้ต้องอาศัยเวลานานเป็นปี กว่าจะเข้าที่ นี่คือเหตุผลที่ต้องถมดินก่อน ยิ่งนานยิ่งดี เพราะเมื่อคุณมาปลูกบ้านภายหลัง ปัญหาที่พื้นคอนกรีตบางแห่งทรุดตัวจะไม่เกิดขึ้น เพราะดินมันแน่นแล้ว อีกอย่างหนึ่ง การปรับพื้นที่ตอนไม่มีตัวบ้าน จะทำง่ายกว่าไม่เกะกะ การถมดินขอให้เขาคิดราคาเหมาเป็นระดับความสูงไปเลย รวมค่าดิน ค่ารถ ค่าใช้จ่าย เมื่อถมตามระดับที่ตกลงกันไว้เป็นเงินเท่าไหร่ เช่นที่ดินขนาด 200 ตรว. ต้องการถมสูงจากเดิม 50 ซม. เขาจะเหมาเป็นเงิน 200,000 บาท (ยกตัวอย่าง) ก็เตรียมค่าใช้จ่ายไว้ได้เลยตามนั้น แต่ถ้าไปคิดเป็นคันรถแล้วให้เขาปรับพื้นที่เอาระดับความสูงเท่ากัน ค่าใช้จ่ายอาจสูงกว่า เพราะเทคนิคการถมดินนั้นมันมีวิธีการหลายอย่าง คนที่ไม่มีประสบการณ์จะตามไม่ทัน และก็ไม่ได้ของตามต้องการ แต่เสียเงินเยอะกว่า ยกตัวอย่างเช่น รถดั๊มพ์ 1 คัน มีความจุ 12 คิว (ลูกบาศก์เมตร) เราก็คิดว่าเราซื้อดินกับเขา 10 คันรถ เราก็ต้องได้ดิน 80 คิว นี่มันถูกต้องทางคณิตศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่ในทางปฏิบัติ เพราะเวลาเขาตักดินใส่รถ ดินมันไม่แน่น มันเป็นก้อนใหญ่ กองกันหลวมๆ ขนาดของรถที่ใส่ดินได้ 12 คิว แต่ดินที่เราได้มันไม่ถึงหรอกครับ ได้ 7- 8 คิวเท่านั้น แล้วเดี๋ยวนี้น้ำมันก็แพง คิดราคาเป็นคันเป็นเที่ยว ก็จะเสียเงินมากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างแรกเรื่องปริมาณของการขน อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องการบดอัด การบดอัดดินให้แน่นหรือไม่แน่นนี่ มันใช้ดินไม่เท่ากันอยู่แล้วใช่ไหมครับ กำไรของการทำงานมันก็อยู่ตรงนี้ส่วนหนึ่งด้วย สมมติถ้าเราให้เขาเหมาถมดินสูง ครึ่งเมตร ถ้าบดอัดไม่แน่น อาจใช้ดิน 100 คันรถ เมื่อวัดระดับได้ ครึ่งเมตรก็เสร็จ เบิกเงินได้ แต่ฝนตกมาที ยุบไป 20 ซม. จะไปตามเขามาถมเพิ่มได้ไหม? ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่ให้เขาเหมา ให้เขาถมดิน แบบคิดเป็นคันรถ เขาก็จะบดอัดให้แน่น เพื่อให้ได้เที่ยวรถที่มากๆ อาจจะเป็น 120 คัน ในพื้นที่เท่ากัน นี่เราก็จ่ายแพงกว่าแบบแรก 20 % แล้ว แต่ก็ยังดีที่ได้ดินแน่น ยุบตัวน้อยกว่าเดิม นี่เป็นตัวอย่างของเทคนิคการถมดิน ซึ่งมี trick มากมาย ผมจึงแนะนำให้ถมแบบเหมาจ่ายรวม ตามระดับความสูงดีกว่า และหาคนคอยดู ควบคุมเวลาบดอัดให้ดินแน่นๆ ไม่เป็นโพรง ก็จะได้ของที่ดีตามความเหมาะสม 3. นอกจากการถมดินแบบธรรมดา คือเต็มพื้นที่แล้ว ในกรณีที่ ที่ดินเรากว้างมาก เช่นประมาณ 1-5 ไร่ งบประมาณการถมดินนั้นจะสูงมาก เราไม่จำเป็นต้องถมเต็มพื้นที่ก็ได้ โดยออกแบบส่วนที่เป็นสระน้ำ บ่อน้ำ ในส่วนของสวน ก็จะทำให้ถมดินน้อยลงไป ยิ่งมีพื้นที่สระกว้าง ก็ถมดินน้อย หรือแม้กระทั่งคุณไม่ต้องซื้อดินถมเลย เพียงแต่ขุดดินในส่วนของสระที่ต้องการขึ้นมาถมในส่วนตัวบ้านหรือสนาม ก็จะได้บ้านที่น่าอยู่แล้ว ได้ความเย็นจากสระน้ำ เลี้ยงปลาก็ได้ ต้นไม้ก็ไม่แห้งเฉา น้ำยังใช้สูบมารดน้ำต้นไม้ได้อีก ไม่ต้องใช้น้ำประปาแพง ยิ่งในกรุงเทพฯต่อไปจะต้องเสียค่าบำบัดน้ำอีก 4. ถ้าที่ดินกว้างมากกว่าข้อ 3 ก็จะทำเพิ่มได้อีก 1 วิธี ที่คุ้มค่า คือการทำเขื่อน หรือ คันดินพร้อมรั้วรอบบริเวณ แล้วทำระบบระบายน้ำให้ดี แต่บางคนก็ไม่ชอบเพราะกลัวว่าบ้านจะเป็นแอ่งกระทะรับน้ำเมื่อระบายน้ำไม่ทัน อันนี้เป็นความรู้สึกที่ห้ามไม่ได้ ก็ต้องเลือกที่จะจ่ายเงินแพงหน่อยละครับ ถ้าไม่นิยมวิธีนี้ 5. การถมด้วยวัสดุอื่น เช่น ลูกรัง หรือทราย ส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมาถมบ้าน เพราะไม่เหมาะที่จะปลูกต้นไม้ ถึงแม้ลูกรังจะถมแน่นดีกว่า ไม่ทรุดตัว แต่ราคาก็แพง แต่ถ้าเราอยากหลีกเลี่ยงการทรุดตัวของดินก็สามารถนำมาใช้เป็นบางส่วนได้เช่น ถมส่วนที่เป็นถนนหรือโรงรถ ส่วนการถมทรายนี่จะไม่แพงและมีความแน่นดีกว่าดิน แต่ปัญหาเรื่องทรุดตัว ก็จะมีตลอดเวลาไม่เหมาะกับการถมในที่สูง หรือที่เล็กๆ เพราะใต้ดินนี่ ถ้ามีโพรง ช่อง ร่อง รู ที่ไหน ทรายมันก็ไหลไปตามน้ำได้เสมอ เมื่อเรามีที่ดินอยู่แล้ว ต้องการที่จะสร้างบ้านเอง เท่าที่เห็นจะมีน้อยรายที่ทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ก็ต้องอยู่ในวงการก่อสร้างมาจึงมีประสบการณ์ในการสร้างบ้านอยู่บ้าง และสามารถสร้างบ้านของตนเองได้(หมายถึงคนเมืองในปัจจุบัน ที่มีวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่การอุปโภค บริโภคต่างๆ ก็ใช้ระบบซื้อหาด้วยเงินอย่างเดียว) ส่วนคนต่างจังหวัดถ้าเป็นพวกชนพื้นถิ่นต่างๆ ยังมีการสร้างที่อยู่อาศัยชองตนเองอยู่ โดยมีรูปแบบและวิธีการ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่นชาวไทยภูเขา เผ่าต่างๆ ชาวนาก็ยังมีการสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ พวกเรือนมุงจากแบบดั้งเดิม ส่วนคนเมืองที่ฐานะไม่ค่อยดีนักและสร้างบ้านแบบง่ายๆ เล็กๆอยู่ก็พอมีบ้าง ดังนั้นที่จะกล่าวถึงการสร้างบ้านด้วยตนเองต่อไปนี้ ก็คงจะพูดถึงคนเมือง คนกรุง เป็นหลัก คือถ้าจะสร้างบ้านหลังย่อมๆขึ้นไป มีมากกว่า 1 ห้องนอน และมีห้องอื่นๆอีกด้วย คนส่วนใหญ่คงไม่มีประสบการณ์มากนัก ดังนั้นการสร้างบ้านเองนั้น อาจจะเกิดการผิดพลาด และปัญหาต่างๆตามมามากมายได้ เช่น 1. ปัญหาเรื่องงบประมาณบานปลาย เพราะแบบบ้านไม่ชัดเจน ไม่ละเอียด หนักกว่านั้นคือไม่แน่นอน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ งานใหญ่ๆอย่างบ้านราคา 100กว่าล้าน ก็บานปลายไปได้มาก และสร้างแบบไม่มีวันจบสิ้นได้ อันนี้ผมไม่ได้เจอเอง แต่เพื่อนผมเจอ ออกแบบให้ระดับเอกอัครมหาเศรษฐี ของเมืองไทยเลย เครื่องมือเครื่องใช้เขาก็พร้อม คนก็พร้อม เจ้าของก็พร้อม เงินก็เยอะ แต่งานไม่จบ เพราะเพิ่มเติมแก้ไขอยู่ตลอด จากบ้านก็กลายเป็นวัง ทำไปทำมาเห็นบอกว่า เกือบ 500 ล้าน เรื่องจริงนะครับ ไม่ได้โม้ ส่วนที่ผมเจอเองออกแบบวังของชีคที่บาร์หเรนหลายสิบปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นนายกฯไปแล้ว ก่อนนี้ท่านชอบมาเที่ยวเมืองไทยมาก วังท่านใหญ่โตเหลือเกิน สร้างมา 7 ปีไม่เสร็จ ผมเข้าไปทำตกแต่งภายในต่อ เห็นแล้วก็ปวดหัวแทน แล้วก็ทำไม่เสร็จเหมือนกัน งานใหญ่ๆอย่างนี้ ที่จริงเจ้าของบ้านไม่ได้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย จึงไม่รีบร้อน แต่งานไม่เสร็จสักที คนทำงานก็เกิดอาการเบื่อหน่าย ทีนี้ถ้าเป็นคุณ หรือกรณีปกติ ร้อยทั้งร้อย เร่งงานทั้งสิ้น ต้องการให้บ้านเสร็จเร็วทั้งนั้น สรุปแล้วปัญหาหลักข้อแรกคือ การกำหนดโจทย์หรือความต้องการของเราต้องชัดเจน แน่นอน อยากได้บ้านใหญ่เล็กแค่ไหน ไม่มีใครว่า เอาให้แน่ แต่อย่าเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา งานจะสะดุด แล้วปัญหาอื่นๆก็จะทยอยตามมาเรื่อยๆ 2. เวลาเนิ่นนาน อย่างควบคุมไม่ได้ เพราะการแก้ไขบ้าง เพราะช่างไม่พร้อมบ้าง ปัญหาข้อนี้อาจจะมีสาเหตุเหมือนอย่างข้อแรก คือเรื่องของแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอีกสาเหตุหนึ่งอยู่ที่ช่างหรือผู้รับเหมา ที่ไม่ใช่มืออาชีพจริงๆ บางทีเครื่องมือไม่พร้อม เครื่องมือไม่เหมาะกับงาน บางทีประสบการณ์น้อย เป็นลูกมือมาได้ไม่เท่าไหร่ อยากรับงานเอง เป็นผู้รับเหมาเอง จัดงานไม่เป็น บริหารงานไม่เป็น เรื่องนี้ไม่ใช่สาเหตุจากเรา แต่ลงท้าย ก็เราเดือดร้อน 3. ช่างหรือผู้รับเหมาทิ้งงาน อาจจะเรื่องคนงานไม่พอ ทำต่อไม่ไหว เงินหมุนเวียนไม่พอ จ่ายค่าแรงหรือซื้อของไม่ได้ หรือขาดทุนเพราะรับงานราคาต่ำเกินไป (บางทีต้องเสนอราคาแข่งกัน ก็คิดต่ำๆไปก่อน เพื่อให้ได้งาน) แต่ถ้ายิ่งทำยิ่งขาดทุนก็ต้องหนีงาน ที่ร้ายที่สุดคือ เบี้ยว เบิกเงินก่อน สร้างที่หลัง แต่สร้างนิดหน่อยแล้วหายตัวไปเลย อันนี้น่าช้ำใจมาก บ้านก็ไม่ได้ เงินก็เสีย การหาผู้รับเหมาจึงต้องมีคนอ้างอิง หรืองานอ้างอิง ผู้รับเหมาที่ทำงานดีนั้นเราต้องดูผลงานของเขา ว่าสร้างได้มาตรฐานหรือไม่ ซื่อตรงหรือไม่ ถ้ามาแบบไม่รู้หัวนอนปลายเท้าก็จะเสี่ยงไปสักหน่อย เพราะไม่รู้ว่าตัวจริง ตัวปลอม หรือประเภทหัวการค้า อยากได้แต่งานกำไรเยอะ ทำงานน้อยเสร็จเร็ว แต่สร้างเสร็จแล้ว เหมือนไม่ได้ใช้มือทำ การเลือกผู้รับเหมาจึงต้องตรวจสอบประวัติหรือผลงานเสมอ อย่ารีบตัดสินใจเพราะเสนอราคาถูก หรือจะรีบสร้าง อย่าไปห่วงฤกษ์ ห่วงยามเลย ไม่ทันก็หาฤกษ์ใหม่ได้ 4. ขอให้ทำงานตามระบบ อย่าข้ามขั้นตอน บางทีเราคิดว่าเพื่อความสะดวกรวดเร็ว อยากให้ทำไอ้นี่ก่อนเพราะเห็นช่างว่างๆ แต่การข้ามขั้นตอนทำงานนั้นจะเร็วในตอนแรก (เพราะข้ามงานไปหลายอย่าง ก็ทำให้เร็วขึ้นเป็นธรรมดา) แต่เมื่อภายหลัง ไม่ได้ทำโน่น ทำนี่ ที่ควรจะทำก่อน แล้วมาทำทีหลัง ความเสียหายจะเกิดขึ้น 2 ประการคือ งานช้าลง และเสียเงินเพิ่มขึ้น การทำงานก่อสร้างนั้นจะมีเรื่องต่างๆเกี่ยวข้องมากมาย แต่เรานึกไม่ถึง ดังนั้นถึงแม้ว่างานจะไม่ได้แก้ไข ทำไปตามแบบ แต่การข้ามขั้นตอนก็เป็นการเสี่ยงต่อปัญหาโดยใช่เหตุ เพราะจะมีผลกระทบตามมาเสมอ เล่าปัญหาของการก่อสร้างให้ฟังก่อน เพื่อจะได้ระวังและทำอะไรอย่างรอบคอบ มีระบบ มีหลักการ การสร้างบ้านเองนั้นนอกจากจะลงมือเอง ที่เป็นทางเลือกที่แนะนำเป็นข้อสุดท้าย จึงนำปัญหาขึ้นมาให้รับรู้กันก่อน ส่วนที่อยากแนะนำคือ การสร้างบ้านที่มีมืออาชีพจริงๆมาช่วยทำให้
มืออาชีพอย่างแรกคือ สถาปนิก ที่เป็นผู้รู้โดยตรง ในเรื่องของการสร้างบ้าน แต่จะแนะนำว่าเหมาะสำหรับการสร้างบ้านที่พอมีงบประมาณ มีขนาดใหญ่พอสมควร ถ้าคุณต้องการบ้านเล็กๆ งบประมาณจำกัด ขอให้ข้ามไปดูตอนต่อไปได้เลย คือใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน การใช้สถาปนิกนั้นในปัจจุบันนับว่ามีปริมาณพอเพียงกับความต้องการ เพราะมีสถาบันการศึกษาเกือบสิบแห่ง ผลิตสถาปนิกออกมาปีละหลายร้อยคน มาแย่งงานกันจนเริ่มจะตกงานกันแล้ว สถาปนิกมีทั้งอิสระ คือทำงานคนเดียว และที่เป็นรูปบริษัท ทำงานเป็นทีม แต่เรื่องค่าใช้จ่าย หรือ ค่าแบบ นั้น ก็คิดเป็นทีมเหมือนกัน แพงกว่าอิสระอยู่แล้ว การเลือกใช้สถาปนิก ก็ขอให้ดูผลงานของสถาปนิกด้วยเช่นกัน เพราะงานสถาปัตยกรรมนั้นจัดเป็นศาสตร์ที่กึ่งๆวิทยาศาสตร์ และศิลปะศาสตร์ คือต้องแข็งแรงทนทาน ใช้งานดี และต้องสวยงามน่าอยู่ ดังนั้นแม้ว่าหลักสูตรการเรียนของสถาปนิก จะเหมือนๆกัน มาตรฐานใกล้เคียงกันก็ตาม แต่การคิด และความสามารถของแต่ละคนนั้นย่อมมีแตกต่างกัน ความเก่งไม่เท่ากัน ความขยันไม่เท่ากัน ความไวต่างกัน และความคิดสร้างสรรค์ย่อมไม่เท่ากัน (ไว้จะเขียนเรื่องชำแหละสถาปนิกซักตอนให้อ่านกัน) การเลือกสถาปนิกไม่ควรเลือกที่เขาคิดค่าแบบถูกแพงกว่ากัน (ผมเห็นส่วนใหญ่เจ้าของบ้านมักจะเอาข้อนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน) หรือคิดว่าสำนักงานจะออกแบบได้ดีกว่าหรือเร็วกว่าสถาปนิกอิสระ ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป สำนักงานบางแห่ง คนเยอะ แต่งานเขาก็เยอะ ทำไม่ทันอยู่แล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้เราได้เร็วด้วยหรือไม่ ผมแนะนำว่าดูที่ความพร้อมของเขาดีกว่า อย่าไปดูที่ขนาด แต่ควรเลือกที่ผลงานและความรับผิดชอบ ผลงานเป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาเป็นอันดับแรก แต่ผลงานดีไม่ใช่เรื่องการรับงานใหญ่ๆนะครับ ผลงานคือแนวความคิดในการออกแบบ ว่ามีแนวทางอย่างไร งานมีเอกลักษณ์หรือรูปแบบเฉพาะตัวอย่างไร และเหมาะสม หรือตรงกับรสนิยม ความต้องการของเราหรือไม่ งานสถาปัตยกรรมมันไม่มีสูตรสำเร็จในการออกแบบนะครับ ต้องอาศัยประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และความถนัดเฉพาะทาง ไม่ใช่สถาปนิกทุกคนจะทำงานอย่างเดียวกัน เหมือนกันทุกคน โจทย์อย่างเดียวกันจะสามารถสร้างสรรค์งานออกมาได้หลายรูปแบบและแตกต่างกันไปตามแต่คนออกแบบ ถ้าคุณเคยไปเดินเที่ยวงานสถาปนิกสักงานหนึ่ง คงเคยเห็นงานประกวดแบบที่เขาจัดแสดงไว้บ้าง งานที่แต่ละคนสร้างสรรค์กันส่งเข้าประกวดนั้น มันเป็นโจทย์อันเดียวกันทั้งสิ้น แต่ความคิดสร้างสรรค์สามารถทำผลลัพธ์ให้ออกมาได้เป็นร้อย ที่ไม่เหมือนกันเลย นี่คืองานของสถาปนิก การเลือกสถาปนิกจึง ควรเลือกคนที่ทำงานแบบที่คุณชอบ และใช้ความถนัดของเขาในด้านนั้นๆ เพราะเขาจะทำได้ดีกว่า เร็วกว่า คนอื่นที่ไม่ถนัด หรือชอบแนวทางที่คุณต้องการ งานก็จะออกมาดี ยกตัวอย่างถ้าคุณอยากได้บ้านแบบฝรั่ง ตกแต่งสไตล์หลุยส์สักหลัง แต่คุณไปหาสถาปนิกจบใหม่ๆมา เขายังไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน เขาอาจจะชอบแบบโมเดิร์น หรือแบบเรียบง่ายดูเก๋ พอให้มาออกแบบหลุยส์เขาก็คงจะต้องมาเสียเวลาค้นคว้าหาข้อมูล และรูปแบบเกี่ยวกับงานสไตล์หลุยส์สักพักหนึ่งก่อน นี่ก็เสียเวลาไปหน่อยนึงแล้ว พอมาขั้นตอนออกแบบ เรื่องของการวางแปลนคิดรูปทรงหน้าตานี่ ต้องมีแบบแผนเฉพาะตัว สัดส่วนตามกฎเกณฑ์โบราณ ลวดลายเฉพาะตัว เหล่านี้ถ้าไม่มีข้อมูลหรือความชำนาญ ประสบการณ์แล้ว ต้องใช้เวลาทำงาน นานกว่าปกติแน่ เพราะตอนเรียนเขาไม่ได้สอน อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นการเลือกสถาปนิก อย่าไปตัดสินใจที่ค่าแบบที่เขาคิด เพราะอัตราจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่ไม่แน่นอน หรือความสามารถที่ต่างกัน เช่น 1. ค่าแบบสำนักงานสถาปนิก มักจะสูงกว่าสถาปนิกอิสระ เพราะค่าใช้จ่าย overhead มีสูงกว่า 2. ค่าแบบสถาปนิกอิสระ มักจะสูงกว่าสถาปนิกของราชการ ผมหมายถึงสถาปนิกที่เขามารับงานส่วนตัว เขามีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว มารับ job เป็นรายได้เสริม บางทีใช้เวลาราชการ บางทีใช้เครื่องมือราชการ ( ผมใช้คำว่าบางทีนะครับ ไม่ได้เหมารวมทุกคน ) บางทีไม่ได้ออกแบบใหม่ (กรณีนี้ส่วนใหญ่จะอยู่หน่วยงานประเภทโยธาหรือที่ออกใบอนุญาตก่อสร้าง เขามีแบบก่อสร้างอยู่ในมือเยอะ ลอกแบบมาใช้ได้ อันนี้ต่างจังหวัดจะพบบ่อย ) เมื่อใช้เวลาทำงานน้อย ก็คิดค่าแบบน้อยได้ แต่คุณก็ต้องดูว่าแบบบั้นเหมาะสม หรือชอบหรือไม่ 3. ค่าแบบที่ถูกกว่า เนื่องจากแบบละเอียดต่างกัน ปกติแบบบ้านเดี่ยวมาตรฐานจะมีแบบสถาปัตย์ แบบโครงสร้าง และแบบรายละเอียดต่างๆรวมกันไม่ต่ำกว่า 30 แผ่น แต่ที่พบบางทีเขียนแบบ 10 กว่าแผ่นเท่านั้น ปริมาณงานที่ต่างกัน ก็ย่อมคิดค่าแบบต่างกันได้ แต่การที่แบบน้อยแผ่นนั้น เมื่อเวลาก่อสร้าง งานจะมีปัญหาเพราะแบบไม่ละเอียด ผู้รับเหมาก็ต้องเดาบ้าง มั่วบ้าง ถ้าเราไม่รู้ด้วย ก็ไม่มีคนค้าน คนแย้ง เราเองก็จะเสียประโยชน์เอง แต่ถ้าเราไปทัก ไปแย้ง ก็อาจจะไม่มีข้อสรุป เพราะแบบที่ควรจะเป็นเอกสารชี้ขาดความถูกต้อง มันบกพร่องเสียเอง 4. ขอบเขตความรับผิดชอบของสถาปนิก ที่จริงสภาสถาปนิก เขาจะมีมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพอยู่ แต่การทำงานนั้นมันมีรายละเอียดและขั้นตอนที่หลากหลายมาก การปฏิบัติงานของสถาปนิก ในความรู้สึกของคนทั่วไปจึงมองว่า ยุ่งยาก หลายขั้นตอน กว่าจะได้บ้านสักหลัง ขอบเขตความรับผิดชอบของสถาปนิก ก็เรื่องเดียวกับขอบเขตของการสร้างบ้านนั่นแหละครับ แต่การทำงานของสถาปนิกอาจต่างกันไปตามแต่ขอบเขตงานที่ตกลงกัน เช่นออกแบบอย่างเดียวล้วนๆ หรือออกแบบและขออนุญาตให้ด้วย ถ้าครบถ้วนก็ตรวจสอบงานก่อสร้างให้ด้วย หรือบางคนสามารถออกแบบตกแต่งภายในได้ด้วย บางคนออกแบบ landscape ให้ด้วย ขอบเขตงานก็จะต่างกันอย่างนี้ (ไม่นับความขยัน หรือความรับผิดชอบต่องาน หรือเวลาที่ให้กับงานนั้นๆ) ถ้าใครต้องการทราบเรื่องอัตราค่าบริการและมาตรฐานวิชาชีพอย่างละเอียด เข้าไปดูได้ที่ website ของสมาคมสถาปนิกสยาม ได้เลยครับ เป็นข้อมูลที่เป็นทางการ (ที่ผมเขียนนี่จะเน้นเรื่องจากประสบการณ์ ที่ไม่มีใครบันทึกกัน) 5. คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไปหาซื้อบ้านสำเร็จรูปจากโครงการจัดสรรเลย เพราะง่ายดี อันนี้เปรียบง่ายๆเหมือนเสื้อผ้าละครับ เสื้อโหล กับเสื้อสั่งตัดราคาย่อมไม่เท่ากัน เสื้อแบรนเนมถึงแม้จะเลือกซื้อใส่ได้เลยแต่ก็โคตะระแพง แต่บางคนยังซื้อใส่ได้ เสื้อโหล กับบ้านโหลนี่คุณจะได้ของที่คุณภาพไม่ดีตามราคาที่จ่าย แต่บ้านที่ออกแบบโดยสถาปนิกนี่ไม่ได้แพงอย่างที่หลายคนรู้สึก มันก็แค่ราคาสูงเหมือนเสื้อสั่งตัดเท่านั้น แต่ได้บ้านที่เป็นของคุณโดยเฉพาะ เหมาะกับคุณและครอบครัวโดยเฉพาะ แต่ราคานี่ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณที่สั่งว่าจะใช้ผ้าแพงแค่ไหนเมตรละพัน หรือเมตรละหมื่น ขึ้นอยู่กับคนจ่าย สถาปนิกก็ออกแบบได้ตามสั่ง แต่ถ้าเทียบถึงมาตรฐานเท่ากันแล้ว บ้านสร้างเองที่ออกแบบนั้นจะถูกกว่าบ้านจัดสรรในขนาดเดียวกัน เพียงแต่คุณต้องมีเวลาให้กับการนี้ ร่วมไปกับสถาปนิกด้วยเท่านั้น |