แม้มาตรการสนับสนุนตลาดบ้านมือสองในส่วนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 15 พฤศจิกายน 2548 โดยลดค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการซื้อขายบ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น หรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวพร้อมที่ดิน และห้องชุด พร้อมกับลดค่าจดจำนอง จากอัตราการจัดเก็บปกติ 2% และ 1% ตามลำดับ เหลือเพียง 0.01% ทั้ง 2 ส่วน แต่เนื่องจากผู้ซื้อและผู้ขายบ้านมือสองที่อยู่ในข่ายจะได้รับสิทธิจะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด บวกกับการซื้อขายบ้านมือสองบางส่วน ยังมีสิทธิได้รับลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียม ตามมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ที่ออกประกาศมาในช่วงก่อนหน้านี้และยังไม่สิ้นสุดระยะเวลา จึงสร้างความสับสนให้กับหลายผ่ายที่เกี่ยวข้องว่า การซื้อขายบ้านมือสองในช่วงจากนี้ไปจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนรวมทั้งได้รับยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียม และภาษีในส่วนใดบ้างและในอัตราเท่าใด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้จัดเสวนาเรื่อง "ผ่ามาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมการซื้อขาย กรณีการส่งเสริมการซื้อขายบ้านมือสอง" ขึ้น โดยนายโกศล แก้วบุญส่ง จากสำนักกฎหมายธรรมนิติ นายแพทย์สมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ นายวิศิษฐ์ คุณาทรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เรียลตี้ เวิลด์ อัลไลแอนซ์ จำกัด นายสมศักดิ์ ชุติศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี.ซี.พี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด และนายอิสระ บุญยัง กรรมการสภาที่อยู่อาศัยไทยร่วมเสวนา ขอสรุปสาระสำคัญจากเวทีเสวนาโดยเน้นในประเด็นที่ว่า ผู้ซื้อและผู้ขายบ้านมือสองที่อยู่ในข่ายจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวจะต้องเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขอย่างไรบ้าง ดังนี้ 1.มาตรการสนับสนุนบ้านมือสอง ที่ออกมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ผู้ขายจะได้รับสิทธิลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีขายบ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอื่นหรืออสังหาฯ ดังกล่าวพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด กรณีมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมทั้งกรณีมีชื่อแล้วย้ายออก จากนั้นย้ายเข้าไปใหม่ แต่มีระยะเวลารวมทั้งหลายๆ ครั้งครบ 1 ปี ขณะที่ผู้ซื้อจะได้รับลดหย่อนค่าจดทะเบียนจำนอง กรณีซื้อจากผู้ขายที่ได้รับสิทธิดังกล่าว แต่ต้องจดทะเบียนจำนองในวันเดียวกันกับการขาย อย่างไรก็ตามสิทธิดังกล่าวไม่รวมถึงเงินจำนองที่เกินกว่าราคาซื้อขายกัน โดยจะต้องจ่ายค่าจด จำนองในอัตราปกติ 2.สิทธิที่ได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษีในการซื้อขายบ้านมือสอง จากมาตรการอื่นที่ภาครัฐออกมาก่อนหน้านี้และยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ ผู้ขายบ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอื่น หรืออสังหาฯ ดังกล่าวพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ขายไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีขายอสังหาฯ ที่ได้มาในปี 2541 และได้โอนขายไปภายในปี 2550 กรณีใช้เป็นที่อยู่อาศัย จดทะเบียนการได้มาในปี 2541 และขายออกภายหลังการจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ผู้ขายได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีขายอสังหาฯเพื่อซื้ออสังหาฯใหม่ภายใน 1 ปี เท่ากับจำนวนมูลค่าอสังหาฯที่ขาย แต่ไม่เกินมูลค่าของอสังหาฯ ใหม่ที่ซื้อ โดยต้องใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี และต้องปรากฏว่าภายใน 1 ปีก่อน หรือนับแต่วันที่ซื้อขายอสังหาฯ ผู้ขายได้ซื้อขายอสังหาฯใหม่ ผู้ซื้อจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัย เท่ากับจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยดอกเบี้ยเงินกู้ยืมต้องเป็นดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ ธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารรัฐ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครติดฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ กองทุน ฯลฯ แต่ต้องจดจำนองอาคารหรือห้องชุด หรืออาคารพร้อมที่ดินเป็นประกันเงินกู้ และต้องใช้อาคารหรือห้องชุด หรืออาคารพร้อมที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้น ทั้งหมดเป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ผู้ซื้อขายบ้านมือสองจะได้รับ ภายใต้มาตรการที่ออกมาใหม่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา และมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ซื้อขายบ้านมือสองคงต้องทำความเข้าใจให้ดี เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิ์ที่ควรได้รับ
|