โดยปกติแล้วบ้านจัดสรรที่โครงการสร้างให้กับลูกค้านั้น ส่วนใหญ่มักจะไม่รวมไปถึงการตกแต่งภายใน อาจมีบ้างที่บางโครงการแถมเฟอร์นิเจอร์ชุดครัว แอร์ เป็นต้น นอกนั้นก็จะเป็นเพียงฟังก์ชันของห้องโล่งๆ ที่เปิดช่องว่างไว้สำหรับจินตนาการและความฝัน เพื่อเติมเต็มพื้นที่และประโยชน์ ใช้สอยตามความต้องการของลูกค้า สิ่งที่ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการตกแต่งบ้าน เปรียบได้กับเครื่องปรุงรสชาติของอาหาร อย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยว แต่ละคนชอบรสชาติไม่เหมือนกัน หลายคนชอบแบบต้มยำรสเด็ด บางคนหนักเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด มีทั้งแบบแห้ง น้ำ งอก ไม่งอก การตกแต่งภายในบ้านก็เช่นเดียวกับการกินก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย ราดหน้า ฯลฯ ที่แต่ละท่านต่างเติมเครื่องปรุงตามรสนิยมเฉพาะ ข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างจากการปรุงรสชาติคือสามารถใส่เครื่องเรือนของเก่าที่มีอยู่แล้วลงไปโดยไม่ต้องกลัวว่าจะบูด เน่า และดูเป็นของใช้แล้วแต่ประการใด เนื่องจากการตกแต่งภายในปัจจุบันสามารถผสมผสานรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เข้ากันได้อย่างไม่ขัดเขิน และไม่จำเป็นต้องอายที่จะใช้ของเก่า ไม่มีกฎข้อห้ามใดๆ ที่จะต้องใช้เครื่องเรือนใหม่ทั้งหมด ยกเว้นคนถือเคล็ดโชคลาง ที่ห้ามนำของเก่าเข้าบ้านใหม่ หรือไม่ก็ไม่มีสมบัติติดตัวมาก่อนที่อาจอยู่ในข้อยกเว้น การนำของเก่าที่ใช้แล้วหรือของที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมาตกแต่งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานแอนทีคหรือไม่ ดูเหมือนจะเป็นเครื่องปรุงที่ช่วยเสริมความงามภายในห้อง ให้มีรสชาติ สีสัน ในแบบประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายเอาไว้เป็นค่าผ่อนบ้านได้ไม่มากก็น้อย โดยทั่วไปเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมุมมองและทัศนคติของแต่ละคน โดยมีกฎเกณฑ์อย่างง่ายๆ ที่ใช้เป็นแนวทางในการจัดวางอย่างเหมาะสม ไม่ขัดตา และไม่เป็นส่วนเกินของห้องจนเกินไปนัก ในสไตล์มิกซ์แอนด์แมตช์ที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมปัจจุบัน ตำแหน่งที่ตั้ง ฟังก์ชัน หากเป็นเครื่องเรือนที่ยังใช้งานได้ดี ควรกำหนดฟังก์ชันการใช้งานให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ตั้งในแต่ละห้อง เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แต่ถ้าเป็นเครื่องเรือนแอนทีคล่ะก็ ลองดูว่าจะใช้เป็นของตกแต่งภายในห้องที่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างฟังก์ชันในอดีตกับปัจจุบันได้หรือไม่ เช่น ตู้กับข้าวที่สามารถวางในห้องครัว หรือส่วนรับประทานอาหาร เป็นต้น จะทำให้บริเวณส่วนนั้นมีเสน่ห์ความน่าสนใจได้ไม่น้อย ใช้เพียงน้อยชิ้น และมีจุดเด่น เครื่องเรือนสำหรับใช้งานและตกแต่งนั้น จำเป็นต้องดูปริมาณว่าของเก่าหรือใหม่ อันไหนมีจำนวนมากกว่ากัน เพื่อจะได้ใช้ในปริมาณสัดส่วนที่เหมาะสมในอัตราส่วนประมาณ 70/30 หรือ 80/20 น่าจะกำลังดีที่ไม่ต้องแข่งกันเด่นเกินไป แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ละก็ ใช้โครงสีเข้ามาช่วยทดแทนได้เช่นกัน โดยกำหนดให้เป็นแบบโมโนโทน รูปทรง สีสัน วัสดุ สังเกตดูรูปทรง สีสัน และวัสดุ ว่าเข้ากันได้หรือไม่ คำว่าเข้ากันได้นั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป อาจขัดแย้งได้บ้าง ยกเว้นเป็นแนวคิดในสไตล์ที่เน้นรูปแบบที่ต้องการความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยเครื่องเรือนแต่ละชิ้นนั้นไม่จำเป็นต้องซ้ำกันเลย ซึ่งจะเป็นรสชาติแบบใหม่ เป็นอีกสไตล์หนึ่งในแนว punk หรือ kitsch นอกจากนั้นสามารถแก้ได้ด้วยการใช้โทนสีขาว-ดำ ยอดนิยมตลอดกาล จะช่วยทำให้ความแตกต่างของรูปทรง เส้นสาย สีสัน และวัสดุ ของเดิมนั้นเป็นกลางได้อย่างดี แล้วค่อยแต่งเติมสีสันเล็กๆ น้อยๆ เช่น โคมไฟ ปลอกหมอน แจกัน เท่านั้นก็เข้ากับแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
|