เครื่องตัดไฟรั่วหรือที่รู้จักกันว่า เครื่องกันไฟดูด นั้น คือเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ตัดไฟเมื่อมีกระแสไฟฟ้าบางส่วนรั่วหายไปคือไมไหลกลับไปตามสายไฟฟ้า แต่มีไฟรั่วลงไปในดิน โดยผ่านร่างกายมนุษย์ หรือผ่านฉนวนของอุปกรณ์ไฟฟ้า ประโยชน์ของเครื่องตัดไฟรั่ว - ป้องกันอันตรายจากไฟดูด (ตัดไฟรั่วที่ไหลผ่านร่างกาย) - ป้องกันอัคคีภัย (ตัดไฟรั่วที่ไหลลงดินที่อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้าในกรณีที่เครื่องป้องกันกระแสเกิน เช่น ฟิวส์ หรือเบรกเกอร์ไม่ทำงาน หรือทำงานช้า เนื่องจากปริมาณกระแสไฟรั่วมีค่าต่ำ แต่อาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้) ประเภทเครื่องตัดไฟรั่ว เครื่องตัดไฟรั่วจะมีอยู่หลายประเภท ในที่นี้ขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ - เครื่องตัดไฟรั่วที่ตัดกระแสลัดวงจรได้ (RCBO) สามารถใช้ตัดได้ทั้งไฟรั่วและกระแสลัดวงจร - เครื่องตัดไฟรั่วที่ไม่สามารถตัดกระแสลัดวงจร (RCCB) จึงต้องใช้ร่วมกับฟิวส์หรือเบรกเกอร์ด้วยทุกครั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสายดินต้องใช้ปลั๊กไฟที่มีเฉพาะ 3 ขา เท่านั้นหรือ ไม่จำเป็นต้องใช้ปลั๊กไฟ 3 ขา ปลั๊กไฟที่มีสายดินของเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะมีเพียง 2 ขา โดยมีขั้วสายดิน 2 แถบ อยู่ด้านข้างของตัวปลั๊ก ดังนั้นการติดตั้งเต้ารับที่มี 3 รู จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อการต่อ ลงดิน และยังเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้อุปกรณ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลอีกด้วย เครื่องตัดไฟรั่วกับสายดินอย่างไหนจะดีกว่ากัน สายดิน เป็นความจำเป็นอันดับแรกที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องมีสำหรับ ป้องกันไฟฟ้าดูด เพื่อให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลลงสายดินได้โดยสะดวก โดยไม่ผ่านร่างกาย (ไฟไม่ดูด) และทำให้เครื่องตัดไฟ อัตโนมัติตัดไฟออกได้ทันที เครื่องตัดไฟรั่ว เมื่อใช้กับระบบไฟที่มีสายดินจะเป็นมาตรการ เสริมความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้มีการตัดไฟรั่วก่อนที่จะเป็น อันตรายกับระบบไฟฟ้า (ไฟไหม้) หรือกับมนุษย์ (ไฟดูด) เครื่องตัดไฟรั่วในระบบไฟทีไม่มีสายดิน เครื่องตัดไฟรั่วจะทำงานก็ต่อเมื่อมีไฟรั่วไหลผ่านร่างกายแล้ว (ต้องถูกไฟดูดก่อน) ดังนั้นความปลอดภัยจึงขึ้นอยู่กับความไวในการตัดกระแสไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าที่ดีจึงควรมีทั้งระบบสายดินและเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อเสริมการทำงานซึ่งกันและกันให้เกิดความปลอดภัยทั้งจากอัคคีภัยและการถูกไฟฟ้าดูด เครื่องตัดไฟรั่วที่ใช้ป้องกันไฟดูดต้องมีคุณสมบัติและการใช้งานอย่างไร พิกัดขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วต้องไม่เกิน 30 mA และตัดไฟได้ภายในระยะเวลา 0.04 วินาที เมื่อมีไฟรั่วขนาด 5 เท่าของพิกัด (=150 mA) ควรติดตั้งใช้งานเฉพาะจุด เช่น วงจรเต้ารับในห้องครัว, ห้องน้ำ, ห้องเด็ก ๆ หรือวงจรเต้ารับ/สายไฟที่ต่อไปใช้งานนอกอาคารทั้งชั่วคราวและถาวร ถ้าจะติดตั้งรวมที่เมนสวิตช์จะต้องแยกวงจรที่มีค่าไฟรั่วตามธรรมชาติมากออกไป เช่น อุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่า,เครื่องปรับอากาศ, อุปกรณ์ที่มีโอกาสเปียกชื้น เมื่อต้องการให้เครื่องตัดไฟรั่วสามารถป้องกันทุกวงจรที่เมนสวิตช์ (ใช้ได้เฉพาะระบบที่มีสายดิน เป็นมาตรการเสริมป้องกันอัคคีภัย และไฟฟ้าดูด) ให้ใช้ขนาดตั้งแต่ 100 mA เป็นต้นไป โดยอาจเป็น 300 mA หรือ 500 mA ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของกระแสไฟรั่วตามธรรมชาติ สำหรับขนาด 30 mA นั้นก็ยังคงใช้ร่วมกันในวงจรย่อยซึ่งอาจใช้หลายตัวก็ได้ และหากมีปัญหาการทำงานพร้อมกันให้เลือกชนิดที่มีการหน่วงเวลา (Type S) สำหรับเครื่องตัดไฟรั่วที่เมนสวิตช์ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องตัดไฟรั่วที่มีอยู่ปลอดภัย เราสามารถตรวจสอบการทำงานของเครื่องตัดไฟรั่วได้ด้วยเครื่องตรวจสอบการทำงานของเครื่องตัดไฟรั่ว การกดปุ่มทดสอบเป็นประจำเป็นเพียงการบอกว่าการรับสัญญาณและกลไกสามารถทำงานได้เท่านั้นอย่างไร ก็ตามความปลอดภัยยังขึ้นอยู่กับการติดตั้งว่าถูกต้องหรือไม่ด้วย ระบบปัจจุบัน ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ถ้าไม่มีระบบสายดินหรือเครื่องตัดไฟรั่ว ต้องมีระบบสายดิน ถ้ามีเครื่องตัดไฟรั่วอยู่แล้ว ต้องมีระบบสายดิน ถ้ามีระบบสายดินอยู่แล้ว ควรมีเครื่องตัดไฟรั่ว ขอบคุณสำหรับที่มาของข้อมูล : การไฟฟ้านครหลวง
|