ก่อนที่เราจะย้ายบ้านนั้นเราต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับการบรรจุและขั้นตอนการเก็บสิ่งของ ซึ่งในส่วนของขั้นตอนการเก็บนั้นเราจะต้องวางแผนให้ดี เนื่องจากจะช่วยให้การขนย้ายและการจัดของเข้าบ้านใหม่ง่ายขึ้นมากทีเดียว ขั้นตอนการเก็บของ หลักในการเก็บสิ่งของอันดับแรกที่เราควรต้องคิดถึงก็คือ สิ่งของลักษณะหรือประเภทเดียวกัน ควรเก็บไว้ด้วยกัน กล่องที่สิ่งเก็บของควรเขียนโน๊ตกำกับไว้ด้วยว่าประเภทใด ซึ่งเราแยกประเภทสิ่งของหลักๆได้ดังนี้ คือ 1. จาน ชาม ขวด แก้ว และอุปกรณ์ในครัว ซึ่งชนิดเดียวกันควรเก็บด้วยกัน และเรียงขนาดจากใหญ่ไปหาเล็ก โดยควรวางซ้อนกันเพื่อช่วยประหยัดเนื้อที่ สิ่งของที่แตกหักได้ควรห่อหุ้มด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อนเก็บลงกล่อง หากในกล่องยังมีพื้นที่ว่างก็ให้ใส่เม็ดโฟมหรือกระดาษชิ้นเล็กๆ ลงไปในกล่องด้วย เพื่อป้องกันของในกล่องกระแทกกันระหว่างขนย้าย 2. เสื้อผ้า ควรเก็บเสื้อผ้าที่ไม่ค่อยได้ใส่ลงไปก่อน แล้วจึงเก็บชุดที่ใส่บ่อยๆ ทีหลัง โดยพับหรือม้วนซ้อนๆกันจะช่วยประหยัดเนื้อที่ได้มาก สำหรับเสื้อผ้าที่ไม่สามารถพับได้ เช่น เสื้อสูทหรือชุดผ้าไหม อาจแขวนไว้กับราวตากผ้าและคลุมด้วยพลาสติกขนาดใหญ่ก็ได้ 3. หนังสือ ควรแยกตามขนาด โดยหนังสือที่มีขนาดใกล้เคียงกันไว้ในกล่องเดียวกัน จะช่วยให้บรรจุได้มากขึ้น แต่ไม่ควรเก็บหนังสือรวมกันมากๆ ในกล่องขนาดใหญ่ เพราะกล่องจะมีน้ำหนักมากทำให้เคลื่อนย้ายไม่สะดวก และกล่องอาจฉีกขาดได้ แต่หากต้องการเก็บรวมกันจริงๆ ควรใช้กล่องพลาสติกจะดีกว่า โดยเลือกแบบที่มีล้อเลื่อนจะขนย้ายได้สะดวก ทนทาน กันฝุ่น และใช้เก็บของอย่างอื่นต่อไปได้อีกด้วย 4. รองเท้า ไม่ควรเก็บโดยการวางทับกัน เพราะจะทำให้รองเท้าเสียทรง ควรเก็บใส่กล่องรองเท้า แล้วเขียนโน้ตติดข้างกล่องว่าเป็นรองเท้าแบบใดเพื่อความสะดวกในการค้นหา แต่หากไม่มีกล่องอาจเก็บรวมกันในกล่องขนาดใหญ่ก็ได้ โดยจัดรองเท้าที่มีขนาดใกล้เคียงกันวางนอนเข้าคู่เป็นชั้นๆ แล้วใช้กระดาษลูกฟูก กั้นระหว่างชั้น และใช้กระป๋องน้ำอัดลมวางที่มุมของกล่อง เพื่อช่วยรับน้ำหนักรองเท้าไม่ให้กดลงมาทับกัน 5. เครื่องใช้ไฟฟ้า วิธีที่ดีที่สุดคือการบรรจุลงในกล่องที่มาจากโรงงาน แต่หากไม่มีควรถอดแยกชิ้นส่วนที่สามารถถอดได้ห่อด้วยพลาสติกกันกระแทก แล้วบรรจุชิ้นส่วนต่าง ๆ ลงในกล่อง หรือถุงเดียวกันเพื่อความสะดวกในการไปประกอบภายหลัง ชนิดที่มีสายไฟควรม้วนเก็บให้เรียบร้อยหรือพันติดไว้กับตัวเครื่อง ระหว่างการขนย้ายควรวางเครื่องใช้ไฟฟ้าในทิศทางปกติของการใช้งาน ไม่ควรวางนอนหรือเอียง เพราะตัวเครื่องอาจเกิดความเสียหายได้ 6. เฟอร์นิเจอร์ไม้ เช่น ตู้ โต๊ะ หรือเตียง หากมีลิ้นชักหรือแผ่นกระจก ควรถอดแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปห่อ ตู้ที่เป็นบานเปิดหรือบานเลื่อนควรใช้เชือกมัดหรือใช้เทปยึดบานประตูให้ติดกับตัวตู้ เพื่อความสะดวกขณะขนย้าย สำหรับสิ่งของชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถห่อได้หมดควรติดกระดาษหรือพลาสติกกันกระแทกบริเวณที่เป็นเหลี่ยมหรือมุม 7. กระจกหรือสิ่งของที่แตกหักได้ ควรใช้กระดาษลูกฟูกหรือพลาสติกกันกระแทกห่อหลาย ๆ ชั้น แล้วทำสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายระวังแตกไว้ในจุดที่เห็นได้ชัด ส่วนสิ่งของอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่ข้างต้น สามารถเก็บบรรจุได้โดยแยกประเภทตามห้องที่สิ่งของนั้นอยู่ หรือจะแยกประเภทตามความต้องการของเราเองก็ได้ เมื่อเราเก็บเรียบร้อยแล้ว ตรวจสอบภายในบ้านอีกครั้งว่ายังมีสิ่งของหลงเหลืออีกหรือไม่ และตรวจสอบของที่เราได้เก็บแล้วด้วยว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยดีและพร้อมสำหรับการขนย้ายหรือยัง เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเราก็สามารถขนย้ายได้ |