องค์ประกอบสำคัญหนึ่งที่จะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสวรรค์ คือ การจัดระเบียบ "พื้นที่สีเขียว" ผอ.นิคม ไวยรัชพาณิช เปิดประเด็นว่า กรุงเทพฯมีพื้นที่ประมาณ 9.8 แสนไร่ แต่เป็นพื้นที่สีเขียวของเมืองเพียง 1.1 หมื่นไร่ หรือเท่ากับ 3.17 ตร.ม./คน เทียบค่ามาตรฐานสากลจำนวนประชากรหารด้วยพื้นที่สีเขียวของเมืองควรจะอยู่ที่ 4 ตร.ม./คน ดังนั้นกรุงเทพฯยังขาดพื้นที่สีเขียวประมาณ 5,000 ไร่ แนวทางนอกจากจะต้องจัดซื้อจัดหาที่ดินเพื่อเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะหรือปอดของเมืองแล้ว ทาง กทม.ได้ดำเนินการปรับภูมิทัศน์ถนนหนทาง พื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง อาทิ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์มีการปลูกต้นนนทรี ถนนพระรามที่ 3 ปลูกต้นเสลา ถนนเจริญราษฎร์ปลูกต้นประดู่ มีการจัดทำสวนแนวตั้งบริเวณเสาตอม่อใต้ทางพิเศษพระราม 9 ส่งเสริมการจัดทำสวนดาดฟ้าตามอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล การปรับภูมิทัศน์บริเวณป้ายรถโดยสารประจำทางที่ทยอยทำ 750 แห่ง เป็นต้น จุดเน้นคือต่อไปนี้ถนนสายหลักถ้าเป็นสายเดียวกันจะมีต้นไม้พันธุ์เดียวกันตลอดเส้น เพื่อทำให้ทุกเดือนของปีจะมีสีของต้นไม้สลับสีทุกเดือน เรียกว่า กทม.ต้อง "สวยทั้งปี" โดยปี 2550 กทม.มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น "กทม.มีสวนสาธารณะ 20 กว่าแห่ง ผมขอเชิญชวนประชาชนเข้ามาใช้บริการออกกำลังกายและพักผ่อนให้มากๆ สิ่งที่กำลังทำคือลงทุนสร้างสระว่ายน้ำเพิ่มเติม เพราะเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนว่าอยากจะได้มาก" "รองสมศักดิ์" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า องค์ประกอบเมืองสวยที่ กทม.ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึง "โครงการอนุรักษ์และปรับปรุงฟื้นฟูเมือง" 15 ย่านเก่า ได้แก่ ย่านบางพลัด ย่านบางยี่ขัน ย่านอรุณอมรินทร์ ย่านบางกอกน้อย ย่านวัดระฆัง ย่านบางกอกใหญ่ ย่านวัดกัลยาณ์ ย่านวัด อนงคาราม ย่านท่าดินแดง-คลองสาน ย่านบางลำพู-สะพานพระราม 8 ย่านนางเลิ้ง ย่านราช ดำเนินกลางและพื้นที่ต่อเนื่อง ย่านสามแพ่ง ย่านพาหุรัด-เยาวราช-สำเพ็ง-ทรงวาด ย่านท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ท่าเตียน และย่านปากคลองตลาด
|