ปัจจุบันนี้ชีวิตคนเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามอพาร์ตเม้นท์หรือคอนโดมิเนียม พื้นที่สีเขียวไว้รับสายลมและแสงแดดธรรมชาติก็มีเพียงระเบียงเล็ก ๆ พื้นที่ประมาณ 6 - 8 ตารางเมตรเท่านั้น แถมต้องแบ่งไปตามเสื้อผ้า วางคอนเดนเซอร์แอร์อีก เรียกว่า แทบไม่เหลือพื้นที่ระเบียงไว้ทำอะไรกันแล้ว แต่ยังไงซะการมีสวนสวย ๆ ไว้พักผ่อนหย่อนใจยามบ่ายวันหยุดก็คงเป็นเรื่องดีไม่น้อย เมื่อตกลงใจจะมีสวนระเบียงแล้ว สิ่งแรกที่เราควรทำ คือ เริ่มสำรวจพื้นที่ของเราก่อน ตรวจสอบตำแหน่ง "ท่อระบายน้ำฝน" และวัดระดับพื้นระเบียงว่าต่ำกว่าพื้นภายในห้องเท่าใด ไว้เป็นเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการจัดตำแหน่ง เพราะตำแหน่งท่อระบายน้ำในสัมพันธ์ถึงการจัดวางตำแหน่งของกระบะต้นไม้หรือบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งควรอยู่ฝั่งตรงข้ามกับท่อระบายน้ำ เพื่อไม่ให้กีดขวางช่องทางระบายน้ำของระเบียง ไม่เช่นนั้นทำสวนเสร็จแล้วเราอาจต้องคอยแก้ปัญหาน้ำท่วมแทน ระเบียงส่วนใหญ่มีข้อจำกัดที่มักจะแคบและยาว รับน้ำหนักมาก ๆ ไม่ได้ บางครั้งก็มีชายคาเป็นตัวกำหนดความสูงของต้นไม้ ระเบียงยังเป็นทางผ่านของแสงธรรมชาติที่เข้าห้องเราอีก หากปลูกต้นไม้มากเกินไปอาจบังแสงทำให้ห้องมืด การจัดสวนระเบียงจึงต้องจัดให้พอดีกับขนาดพื้นที่ ไม่ควรเลือกต้นไม้ที่กินพื้นที่ทางกว้างมากเกินไป ควรกำหนดรูปแบบการใช้งานให้ชัดเจน ว่าจะใช้นั่งนอนเอกขเนก หรือจะไว้แค่ชมวิวชั่วครั้งชั่วคราว หรือเอาไว้ชื่นชมความงามจากในห้อง เพื่อให้สวนของเราตอบสนองความต้องการได้ตรงกับใจ สวนในพื้นที่ขนาดเล็กไม่ควรมีจุดเด่นมากเกินไปในสวน เพราะจะทำให้ดูเลอะเทอะ ซ้ำยังบั่นทอนความงามของสวนให้ลดลงอีกด้วย ข้อจำกัดของพื้นที่แนวราบนั้น มีทางออกที่น่าสนใจโดยเลือกใช้ "พื้นที่แนวตั้ง" คือ พื้นที่ผนังกั้นระเบียงของเรากับพื้นบ้านข้างเคียง เราอาจเลือกใช้ไม้ฝาสังเคราะห์ , กรุกระเบื้องแบบหินธรรมชาติ หรือจะตีไม้ระแนงเว้นร่องช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ผนังได้ไม่น้อย การเลือกใช้วัสดุที่ดูเป็นธรรมชาตินี้ช่วยให้สวนของเรามีบรรยากาศผ่อนคลายยิ่งขึ้น พื้นที่ส่วนนี้เราสามารถติดตั้งชั้นวางที่ขนาดและสัดส่วนพอเหมาะกับผนัง ขนาดของชั้นควรกว้างประมาณ 15 - 20 ซม. สำหรับวางไม้กระถางเล็ก ๆ หรือของตกแต่งดินเผาน่ารัก ๆ ก็ได้ สำหรับพื้นระเบียงจะเลือกใช้ไม้พื้นหรือแผ่นพื้นไม้สำเร็จรูปก็มีให้เลือกมากมาย หากเลือกใช้ไม้พื้นต้องวางตงไม้เหนือบริเวณพื้นก่อนที่จะปูไม้พื้นลงไป ให้ระยะห่างระหว่างตงแต่ละตัวประมาณ 50 ซม. เพื่อระบายน้ำฝน ส่วนความหนาของไม้พื้นก็มักอยู่ที่ 1 - 1.5 นิ้ว แต่ถ้าไม่อยากยุ่งยากอาจเลือกใช้แผ่นไม้พื้นสำเร็จรูปก็ได้ แต่ถ้าไม่ชอบไม้กระเบื้องดินเผาก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ การปูพื้นช่วยเพิ่มความน่าสนใจโดยไม่จำเป็นต้องปูเต็มพื้นที่ จะเว้นช่องไว้โรยกรวดบ้าง ยิ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายด้วยการเล่นวัสดุ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดคือ เมื่อปูพื้นแล้ว พื้นระเบียงไม่ควรสูงมากกว่าพื้นภายในห้อง มิฉะนั้นอาจก่อปัญหาน้ำฝนไหลเข้าห้องได้เวลาฝนตก มาถึงคำถามว่า "แล้วจะปลูกอะไรดีล่ะ" ก่อนที่จะหาคำตอบว่าจะปลูกอะไร เราต้องรู้ก่อนว่าระเบียงของเรามีสภาพแวดล้อมอย่างไร หากระเบียงของเราได้รับแดดไม่เต็มวัน ก็ต้องเลือกต้นไม้ที่สามารถอยู่รอดได้จำพวกไม้ทนร่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ใบชนิดต่าง ๆ เช่น เฟิร์น จั๋ง สาวน้อยประแป้ง เดหลี ฯลฯ แต่ในทางกลับกัน หากระเบียงของเราได้แดดเต็ม ๆ ก็ต้องเลือกต้นไม้ที่ทนแดดได้ดี และไม่ควรเลือกต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่เกินไปนัก เพราะนอกจากจะกินพื้นที่แล้ว ลมบนตึกสูงจะพัดทำให้ใบของต้นไม้ฉีกขาดอีกด้วย ไม้ที่สามารถตัดแต่งพุ่มได้อย่างแก้ว หรือชาปัตตาเวีย ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับสวนระเบียง ในพื้นที่เดียวกันสวนจะน่าสนใจหากเลือกพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกันทั้งไม้ทรงสูง ไม้พุ่มขนาดกลาง หรือ ไม้คลุมดิน เพื่อเลียนแบบลักษณะธรรมชาติที่มีความหลากหลาย แต่ในความต่างนี้ต้องคำนึงถึงอุปนิสัยของพันธุ์ไม้ด้วย ให้มีลักษณะเดียวกัน หรือคล้ายกันอยู่ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการดูแล ลักษณะพันธุ์ไม้แบ่งได้ดังนี้ ไม้ที่ชอบแสงรำไร ไม้น้ำ ไม้ชอบแสงแดด ไม้อวบน้ำ และกล้วยไม้ เมื่อเลือกซื้อได้แล้ว ต้นไม้ที่ซื้อมาใหม่ ๆ ยังไม่ควรนำมาปลูกทันที แต่ควรช่วยให้ต้นไม้ตั้งตัวได้โดยการนำออกจากถุงดำหรือกระถางมาพักไว้ในที่แดดรำไรสักหนึ่งคืน รดน้ำให้ชุ่มแล้วค่อยนำไปปลูกในกระถางในวันถัดไป ต้นไม้ที่มาจากร้านส่วนใหญ่จะถูกปลูกในวัสดุเพาะชำมากกว่าดินปลูก ดังนั้นเมื่อเราจะปลูกลงกระถางก็ควรเปลี่ยนมาปลูกในดินที่เหมาะกับชนิดของต้นไม้ใหม่ทุกครั้ง ขั้นสุดท้ายสำหรับสวนระเบียงของเรา คือ การจัดวางที่เหมาะสม ความสูงที่ลดหลั่นกัน ด้านหลังวางต้นไม้สูง ด้านหน้าวางต้นเตี้ยเหมือนกับธรรมชาติและเพิ่มมิติในการมอง การเรียงไม้กระถางที่อยู่ริมกระบะหรือชิดขอบทางเดินให้เอียงเล็กน้อย กิ่ง ก้าน ใบที่ยื่นล้ำออกมาจากแนวขอบจะทำให้สวนของเราดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น กระถางที่เลือกใช้ในสวนจะเลือกใช้กระถางเรียบ ๆ สีเดียวอย่างดินเผาเพื่อพรางกระถางไม่ให้ดูเด่นสะดุดตา หรือก่อกระบะต้นไม้จากอิฐบล็อกประสาน , อิฐมอญ หรือไม้หมอนเพื่อพรางสายตาก็ได้ แต่ในทางกลับกันแทนที่เราจะวางกระถางหลบ ๆ เราสามารถสร้างความต่างจากกระถางที่เลือกใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สีสัน หรือวัสดุที่แตกต่างกันเมื่อนำมาอยู่รวมกันจะสร้างความน่าสนใจ และสำหรับมือใหม่หัดจัดสวนอย่างเรา ๆ การเลือกโทนสีแค่ 2 - 3 สี น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้สีในสวนของเราเลอะเทอะเกินไป
|