ความจริงแล้วการสร้างบ้านใหม่สักหลัง คงต้องคิดอะไรมากมายไปกว่าการคิดเรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว แต่คำถาม ที่หนูถามมา เป็นเรื่องการสร้างบ้าน และคิดถึงปัญหาน้ำท่วม จึงขอตอบเฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น เพื่อให้การตอบ เป็นไปตามหลักวิชาการ ผมขอนำบทความของ คุณพิศิษฐ์ โรจนวณิช ผู้ช่วยอุปนายก ฝ่ายวิชาการ ของสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ที่เคยบันทึกเอาไว้ เรื่องการวางผังบ้าน (ทั้งบ้านที่จะสร้างใหม่ และบ้านที่สร้างไปแล้ว) ดังนี้
การวางมาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบ้านท่าน
1.) กรณีความเสี่ยงต่ำ สังคายนาระบบระบายน้ำภายในบ้านเพื่อกำจัดน้ำท่วมขัง กรณีที่บ้านตัวเองน้ำท่วมขัง แต่ถนนไม่ท่วม และที่ก็ไม่ต่ำ ให้คิดดังนี้ - เน้นการวางความลาดเอียง (Slope) ของท่อระบายน้ำให้ถูกต้อง มีบ่อพักให้ถูกต้อง กับความลาดเอียง ของภูมิทัศน์รอบบ้านถูกต้องตามหลักการระบายน้ำ
2.) กรณีความเสี่ยงปานกลาง ในกรณีที่ที่ดินไม่ต่ำมากอาจ - ต้องเตรียมดูลู่ทางในการป้องกันน้ำ หากเกิดน้ำท่วมโดยสร้างมาตรการเพิ่มเติม เช่น สะสมกระสอบทราย เตรียมเครื่องปั๊มน้ำ โดยอาศัยดูดจากบ่อพักเดิมที่มีอยู่ - อาศัยโครงเก่า ๆ ของรั้วบ้านเป็นเหล็ก เสริมแต่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการป้องกันน้ำท่วม
3.) กรณีความเสี่ยงสูง ที่ต่ำมากต้องทำขอบคันดินรองบ้านหรือทำรั้วข้างล่างให้ทึบรอบบ้าน ที่แน่ใจที่สุดคือ ให้ตรวจสอบและบันทึกระดับน้ำท่วมปีนี้ได้แล้ว ทำรั้วทึบให้ไม่น้อยกว่าระดับน้ำที่บันทึกไว้นั้น
ทางเข้าหน้าบ้าน ทำเป็นความลาด (Slope) หลังเต่า เพื่อกันน้ำไม่ให้เข้าบ้านด้านถนน จากนั้นทำความลาด เพื่อรวมน้ำทั้งบริเวณ ทำประตูน้ำ Sluice Gate เพื่อให้สามารถปิดส่วนเชื่อมต่อท่อระบายน้ำ ภายในบ้าน กับระบบท่อสาธารณะได้ ติดตั้งระบบปั๊มน้ำและบ่อรับน้ำ กรุรอบ ๆ บ่อรับน้ำ ด้วยลวดกรงไก่ เพื่อกันขยะ ไม่ให้ลงไปในบ่อ เวลาสูบน้ำ ขึ้นอยู่กับระบบท่อระบายรอบบ้านเดิม อาจต้องทำรางระบายน้ำ รอบบ้านใหม่ เพื่อรับน้ำ จากบริเวณต่าง ๆภายในบ้าน เพราะหากจะให้ดี น่าจะสามารถสกัดน้ำใต้ดินที่ซึมเข้ามาด้วย
อีกวิธีคือ ถมที่เพิ่ม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ก็ได้ผลดี หรืออาจจะทำทั้งสองวิธีควบกันไป หากท่านอยู่ ในเขต ที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสูงมาก ๆ เช่น ท่วมถึงหน้าอก คือยกระดับดินด้วยยกขอบคันกันน้ำด้วย
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก.) ควรจะหาการประเมิน ความเสี่ยงของพื้นที่ที่ตัวเองอยู่เช่น - เช็คระดับน้ำท่วมเอาไว้ พยายามหาระดับของบ้านตัวเองกับระดับอ้างอิง เช่น ระดับน้ำทะเลปานกลาง - ตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วม ในระดับที่ครอบคลุมมากกว่าบ้านตัวเอง เช่น ระดับหมู่บ้าน ระดับเมือง (หากอยู่ในกรุงเทพมหานคร กทม. ท่านมีแผนอยู่แล้วควรตรวจสอบว่าเราอยู่บริเวณไหนของ แผนป้องกัน น้ำท่วม ของกทม.) ข.) แผนฉุกเฉินต้องมีไว้เสมอ แม้กระทั่งผู้ที่อยู่ในเขตความเสี่ยงน้อย เพราะโอกาสน้ำท่วม ฉับพลัน จากฝนตก หนัก ระบายไม่ทันยังมีอยู่ จำไว้เสมอน้ำท่วมห้ามไม่ได้และมีหลายสาเหตุ การตั้งถิ่นฐานของคนไทย โดยอยู่ใน ที่ราบการเกษตรมาตลอด ทำให้มีความเสี่ยงตลอดเวลา ประกอบกับระบบนิเวศน์ของโลกมีความแปรปรวน
โดยสรุปคือต้องไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ปัญหาใหญ่จะเกิดสำหรับที่เคยอยู่อาศัยในเขตความเสี่ยงต่ำ ที่ย้ายไป อยู่ ในเขตความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสูง พร้อมกับพกทัศนคติเดิม ๆ ติดตัวไปด้วย ควรระวัง ทำแผนฉุกเฉินรับมือ หากเกิดน้ำท่วมจะทำอะไรบ้าง เช่น รถจะไปจอดที่ไหน, สัตว์เลี้ยงทำอย่างไร, ของสำคัญ ต้องขนย้าย ทำเป็นรายการย่อยบันทึก (Check List) เอาไว้
|