ปัญหาต่างๆในห้องน้ำคงเป็นเรื่องน่ากลุ้มใจสำหรับเจ้าของบ้านหลายๆคน ทั้งการรั่วซึม กลิ่นไม่พึงประสงค์ แสงสว่างไม่เพียงพอ ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีการหยิบยกมาพูดกันมากมาย ตามยุคสมัยของบ้านและสุขภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป และครั้งนี้เราขอนำเรื่องจุดอ่อนของห้องน้ำ ที่สำคัญๆ รวมถึงแนวทางการป้องกันมานำเสนอ ดังนี้ 1. "ส้วมเต็ม-ตัน" สาเหตุเกิดจากการทิ้งสิ่งของลงไปอุดตัน การฝังบ่อบำบัดในระดับที่เสมอหรือสูงกว่าโถบ่อบำบัด มีขนาดเล็กไม่พอกับจำนวนผู้ใช้ กรณีที่ใช้บ่อเกรอะ-บ่อซึม ดินรอบๆบ่ออาจชุ่มน้ำเกินไป น้ำจึงไหลย้อนกลับเข้าบ่อ ทำให้ส้วมเต็มบ่อยๆ การไม่ได้ติดตั้งท่อระบายอากาศในท่อส้วม หรือท่อระบายอากาศอุดตัน เมื่อเวลาที่ของเสียย่อยสลาย จะมีก๊าซเกิดขึ้น แล้วไม่มีทางระบายออก เป็นสาเหตุของการกดน้ำไม่ลง 2. "กลิ่นไม่พึงประสงค์" สาเหตุหลักๆที่พบมักเกิดจาก กลิ่นจากท่อระบายน้ำที่พื้น น้ำที่ขังอยู่ภายในท่อจะเป็นตัวดักกลิ่น แต่ถ้าปล่อยให้น้ำแห้งกลิ่นจะย้อนขึ้นมา จึงต้องหมั่นเติมน้ำอยู่เสมอ
กลิ่นอับในห้องน้ำ มาจากความชื้นที่ระบายออกไม่ได้หรือไม่ทัน และการที่แสงสว่างส่องถึงได้ยาก วิธีแก้ไขคือทำช่องบานเกล็ดระบายอากาศที่ประตูห้องน้ำ ให้อากาศไหลเวียน หรือติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ทั้งชนิดติดผนังหรือติดฝ้าเพดาน ซึ่งจะช่วยให้ ห้องไม่มีกลิ่นอับ และยังขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์หลังการใช้ห้องน้ำให้หายไปโดยเร็วอีกด้วย กลิ่นที่เกิดจากระดับน้ำที่คอโถสุขภัณฑ์ท่วมไม่พอ เป็นสาเหตุให้กลิ่นย้อนขึ้นมา ให้ตรวจที่ระดับลูกลอยในโถเก็บน้ำอาจมีปัญหา ทำให้น้ำไม่พอตามปริมาณที่กำหนด หรือปัญหาวาล์วปล่อยน้ำเข้าโถชำรุด ทำให้น้ำไหลเข้าไม่พอก็เป็นได้ 3. "ห้องน้ำมืดทึบ" ห้องน้ำที่มีแสงสว่างน้อยเกินไป อาจทำให้สิ้นเปลืองการใช้พลังงานไฟฟ้า และยังเป็นสาเหตุหนึ่งของความอับชื้นในห้องน้ำด้วย
กรณีที่เริ่มออกแบบบ้าน แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ควรวางตำแหน่งของห้องน้ำไว้ทางทิศตะวันตก เพื่อให้โดนแสงแดดในช่วงบ่าย ห้องน้ำจะแห้งอยู่เสมอ และยังช่วยกันความร้อนให้กับห้องอื่นๆของบ้านด้วย ถ้าสามารถทำช่องแสงบนหลังคาให้แสงส่องผ่านลงสู่ห้องน้ำได้ จะทำให้ห้องสว่างและแห้ง การเจาะช่องแสงห้องน้ำในปัจจุบันไม่จำเป็นจะต้องเจาะให้พ้นจากระดับสายตาที่ประมาณ 1.70 เมตร แต่สามารถเจาะช่องแสงได้หลากหลายรูปแบบและตำแหน่ง ทั้งแบบยาวจรดพื้นกรุลูกฟักกระจกฝ้า หรือการทำผนังอิฐแก้วเป็นช่องแสงแทนก็ได้ Tip การก่อผนังแยกส่วนแห้งกับส่วนเปียก ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องก่อทึบสูง1.80 เมตร เสมอไป เราอาจก่อทึบแค่ระดับ 80 เซนติเมตร จากพื้น แล้วส่วนถัดขึ้นไปอาจกรุกระจกแทนก็ได้ จะช่วยให้ห้องดูโล่งและสว่างมากขึ้น หรือการกรุผนังด้วยอิฐแก้วแทนช่องแสง จะช่วยให้แสงสว่างส่องเข้าได้มากขึ้น และยังป้องกันการมองเห็นจากภายนอกได้ด้วย 4. "สุขภัณฑ์ไม่สะดวกต่อการใช้งาน" ปัญหาที่พบ เช่น การวางสุขภัณฑ์ผิดตำแหน่ง ทำให้ใช้งานไม่สะดวก พื้นที่ใช้งานคับแคบ ในส่วนนี้ควรคำนึงถึงการจัดแปลนที่ถูกต้องและการเตรียมขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมกับการติดตั้ง สุขภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งควรเริ่มทำตั้งแต่การออกแบบ หากวางผังหรือกำหนดพื้นที่ติดตั้งสุขภัณฑ์ ไม่เหมาะสม การแก้ปัญหาในภายหลังก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะต้องรื้อระบบท่อต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง หากต้องมีการสกัดเจาะ
5. "น้ำรั่วน้ำซึม" ในที่นี้จะกล่าวถึงการรั่วซึมของงานระบบท่อ ซึ่งแบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
ระบบน้ำดี หรือน้ำประปาที่เรานำมาใช้ ส่วนนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องท่อตัน เนื่องจากมีแรงดันท่อทำให้น้ำไหลออกมาเมื่อเปิดใช้ แต่ปัญหาที่พบบ่อยๆคือ การรั่วซึมตามรอยต่อต่างๆ เมื่อกาวต่อท่อพีวีซีเสื่อมสภาพ ระบบน้ำทิ้ง คือท่อระบายน้ำที่ใช้แล้ว ซึ่งมักมีเศษสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น คราบสบู่ เส้นผม กระดาษชำระ ฝุ่นผง รวมทั้งเศษตะกอนต่างๆที่มากับน้ำ วิธีสังเกตง่ายๆเมื่อเกิดการอุดตันคือ เมื่อใช้งาน น้ำจะระบายออกได้ช้า ควรแก้ไขด้วยการถอดข้อต่อท่อออกมาทำความสะอาด และหมั่นดูแลรักษาบ่อยๆ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆอีก เช่น การใช้ท่อระบายน้ำที่มีขนาดไม่ได้มาตรฐาน โดยทั่วไปท่อน้ำทิ้งควรมีขนาดไม่ต่ำกว่า 2.50 นิ้ว ท่อโสโครกควรใช้ขนาด 4 นิ้ว ควรเดินท่อให้ลาดเอียงตามมาตรฐานที่กำหนดเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าลาดเอียงได้มาก การอุดตันจะยิ่งน้อยลง และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ต้องมีช่วงต่อหักงอให้น้อยที่สุด Tip ปัญหาการรั่วซึมที่น่ากลัวที่สุดอีกอย่างหนึ่ง คือ การรั่วซึมจากห้องน้ำชั้นบนลงสู่ชั้นล่าง ซึ่งการแก้ไขให้ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องยาก เราควรป้องกันแต่แรกจะดีกว่า โดยเฉพาะการรั่วซึมจากใต้อ่างอาบน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองไม่เห็น ฉะนั้นจึงควรจัดเตรียมพื้นใต้อ่างให้ลาดเอียงไปสู่ท่อระบายน้ำ และฉาบปูนขัดมันกันซึมเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำจากอ่างอาบน้ำจะไม่รั่วซึมไปยังห้องข้างล่าง 6. "ปัญหาอื่นๆ" นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีจุดอ่อนที่เรามองข้ามหรือคาดไม่ถึงอีก เช่น ปัจจุบันเรานิยมติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนในห้องน้ำมากกันขึ้น ทั้งชนิดหม้อต้มสำหรับใช้ในปริมาณมากหรือหลายๆจุด และชนิดติดตั้งเฉพาะจุด บางครั้งเราลืมนึกถึงการเตรียมพื้นที่ที่จะติดตั้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสวยงามและความปลอดภัย แก่ตัวผู้ใช้ และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือระบบท่อจ่ายน้ำร้อนจากเครื่องไปยังก๊อกผสม ต้องเดินท่อทองแดงแยกจากท่อน้ำดีเสมอ
ควรเลือกซื้อสุขภัณฑ์ก่อนการเทพื้นห้องน้ำ เพราะแต่ละยี่ห้อจะมีระยะหรือตำแหน่งการวางท่อ เข้าสุขภัณฑ์แตกต่างกัน และควรเลือกซื้ออุปกรณ์ประกอบไปพร้อมกับการซื้อสุขภัณฑ์ เพื่อป้องกันปัญหาติดตั้งไม่ได้เพราะขนาดต่างกัน ในบางครั้งเรามักลืมนึกถึงเรื่องการซ่อมบำรุงในภายหลัง จึงควรทำช่องเปิดใต้ฝ้าเพดาน เพื่อให้้้้ขึ้นไปดูแลรักษาหรือหาจุดรั่วซึมของระบบท่อต่างๆได้ง่ายและควรเตรียมช่องเดินท่อทางตั้ง เพื่อความเรียบร้อยและช่วยป้องกันการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ในกรณีที่ท่อเกิดการรั่วซึม พร้อมทำประตูเปิดปิดสำหรับการเข้าไปบำรุงรักษาด้วย ข้อมูลอ้างอิง - คู่มือการจัดและตกแต่งห้องน้ำ เล่มที่ 1-3 สำนักพิมพ์บ้านและสวน - ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ - ARCHITECTS DATA Granada Publishing เรื่อง : ศุภวัฒน์ อริญชยวัฒน์ นิตยสารบ้านและสวน |