คอนโด, บ้านจัดสรร, บ้านโครงการ,คอนโดมิเนียม,บ้านเดี่ยว, บ้านมือสอง,บ้านเช่า,ขายบ้าน, ที่ดิน, ตกแต่งบ้าน
อัพเดตล่าสุดวันที่ 27/12/2567
หน้าแรก | บ้าน คอนโด บ้านมือสอง | ประกาศ ซื้อขายบ้าน คอนโด ที่ดิน | สินเชื่อ | ตกแต่งบ้าน | เรื่องน่ารู้ | ไลฟ์สไตล์ | ลงประกาศซื้อขายฟรี
 
User Name
Password
เมนูหลัก
สมัครสมาชิก ลงประกาศ
ลืมรหัสผ่าน
ลงประกาศซื้อขาย
ค้นหาประกาศซื้อขาย
คู่มือซื้อขายบ้าน
ติดต่อสอบถาม

พิธีขึ้นบ้านใหม่ การเข้าบ้านใหม่

decorating idea design

พิธีขึ้นบ้านใหม่ การเข้าบ้านใหม่

บ้านเป็นจุดศูนย์รวมของครอบครัว พิธีการขึ้นบ้านใหม่ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างหนึ่งของคนไทยเรา ถือเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาอย่างหนึ่ง เพื่อความสบายใจในการเข้าอยู่อาศัย ในบ้านใหม่ ที่เรายังไม่เคยไปอยู่ ไม่เคยเข้าไปสัมผัส จิตใจเราจึงยังไม่มีความมั่นใจในการย้ายเข้าไปอยู่ เราจึงต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวหรือที่พึ่งทางใจ เพื่อความสบายใจไว้ก่อน ส่วนเรื่องว่า เมื่อย้ายเข้าอยู่แล้ว หรือทำพิธีแล้ว จะเกิดผลอย่างไรนั้น ก็อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งต้องเข้าใจว่า ไม่ได้เกิดจากการกระทำพิธีเพียงอย่างเดียว การอยู่อาศัยที่จะมีความสุข สงบ สบาย หรือเจริญรุ่งเรืองนั้น ไม่ได้อยู่ที่พิธีกรรม หรือโชคลาภ เพียงอย่างเดียว (ถ้าพิจารณาในแง่นี้ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า มีส่วนมากน้อยเพียงใด หรือกี่เปอร์เซ็นต์ แบบทางวิทยาศาสตร์) มันอยู่ที่ตัวบ้านเอง และสิ่งแวดล้อม ที่บ้านนั้นตั้งอยู่ ซึ่งเราสามารถเลือก กำหนด หรือควบคุมมันได้มากกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าบ้านคุณสร้างไว้ไม่ดี อยู่ไปก็ต้องซ่อมไป ก็อย่าไปโทษการทำพิธีกรรม หรือข้างบ้านเสียงดัง ทำสกปรก ต่างๆ ก็เป็นสาเหตุให้มีเรื่อง หรืออยู่แบบไม่เป็นสุขได้ ดังนั้นการจะทำพิธีเข้าบ้านใหม่ หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ผมขอให้คิดเป็นลักษณะของธรรมเนียมประเพณี มากกว่า ซึ่งบางอย่างก็มีเหตุมีผล ที่มองเห็นจับต้องได้ เช่นการขึ้นบ้านใหม่ ก็เป็นการบอกให้เพื่อนบ้านรับรู้ ว่ามีเพื่อนบ้านใหม่ ทำความรู้จักกันไว้ก่อน สร้างไมตรีไว้ก่อน เลี้ยงพระ เลี้ยงอาหารก็เผื่อแผ่กันไว้ก่อน ต่อไปมีอะไร ก็จะพูดกันได้ เจรจากันได้ ไม่ทะเลาะกันเสียก่อน อย่างนี้เป็นต้น


การเข้าบ้านใหม่
เรื่องการเข้าบ้านใหม่นี่ ถ้าเป็นคนสมัยใหม่หน่อย ก็ต้องบอกว่า เอาฤกษ์สะดวกที่จะย้ายเข้า และสะดวกกับเจ้าบ้าน ก็พอแล้ว แต่ถ้าเรายังเคารพศรัทธาธรรมเนียมโบราณ ก็ควรทำพิธีแบบง่ายก็พอ ซึ่งก็เป็นการทำพิธีแบบง่ายๆของการขึ้นบ้านใหม่นั่นเอง เป็นเรื่องที่ชาวพุทธมักจะทำเพื่อเป็นสิริมงคล โดยการทำแบบพอเป็นพิธีนั้น เมื่อได้ฤกษ์ยามดีที่หาไว้ หัวหน้าครอบครัวก็อัญเชิญพระพุทธรูปประจำบ้าน ไปประดิษฐานไว้ที่บูชา จุดธูปเทียนบูชา อธิษฐานขอคุณพระคุ้มครองให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข หรือจะนิมนต์พระสักรูปหนึ่ง มาประพรมน้ำพระพุทธมนต์ตามห้องต่างๆ ก่อนขนของเข้าไปอยู่ ก็จะสมบรูณ์ยิ่งขึ้น เพียงแค่นี้ก็ถือว่า เสร็จพิธีแล้ว หรือหากมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ใกล้ๆบ้าน (เจ้าที่ใหญ่) ให้ไปไหว้แสดงความเคารพ และขอพรให้ท่านคุ้มครองดูแลให้มีความสุขความเจริญและให้ทำบุญสังฆทาน และอุทิศบุญกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรของครอบครัว เจ้าที่ และวิญญาณที่อาศัยอยู่ในสถานนั้นด้วยก็ได้


การขึ้นบ้านใหม่
นับเป็นประเพณีของชาวพุทธทีเดียว แต่จะจัดการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ใหญ่เล็กแค่ไหน ก็ว่ากันตามกำลังทรัพย์ และความสะดวก การทำแบบพอเป็นพิธีนั้นก็ทำเหมือนการเข้าบ้านใหม่ก็พอ ส่วนการทำแบบพิธีใหญ่ มีเลี้ยงพระ มีการเจริญพระพุทธมนต์ แล้วถวายภัตตาหารหรือ มีการตักบาตรด้วยก็ได้ ตามกำลังศรัทธา

เมื่อการสร้างบ้านเรือนเสร็จแล้วก็จะต้องทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ประกอบพิธีตามที่เชื่อถือกันว่าเป็นสิริมงคล นำความสุขความเจริญมาสู่คนในครอบครัว ในขั้นแรกผู้ที่จะอยู่อาศัยต้องเก็บกวาดทำความสะอาด ตกแต่งบ้านเรือนให้สะอาดสวยงาม เพื่อให้เกิดสิริมงคลและเป็นการให้เกียรติแก่พระสงฆ์และแขกที่เชิญมาเป็นเกียรติ

พิธีเริ่มเมื่อพระสงฆ์มาพร้อม หัวหน้าครอบครัวจุดธูปเทียนรับศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หากมีตักบาตร เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบท "พาหุ" ให้ตักบาตรแล้วถวายอาหาร ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำ ฟังพระสงฆ์อนุโมทนา ต่อจากนั้นทุกคนในพิธีเจ้ารับพรมน้ำมนต์จากพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน ขณะนั้นพระสงฆ์อื่นจะเจริญมงคลคาถา เสร็จแล้วให้ใครสัก 2 คน ช่วยอุ้มบาตรน้ำมนต์ และบาตรทรายพร้อมแป้งกระแจะสำหรับเจิม นำหน้าพระสงฆ์ 1 รูป ไปพรมน้ำมนต์ตามห้องต่าง ๆ ถ้ามีการเจิมประตูบ้าน ก็นิมนต์พระท่านให้ทำในโอกาสนี้ก่อนจะโปรยทรายรอบบริเวณพื้นบ้าน ถือเป็นมงคลว่า เป็นทรายเงิน ทรายทอง ให้อยู่เย็นเป็นสุข ขับไล่ภูตผีปีศาจ ถือเป็นอันเสร็จพิธี

นอกจากนั้น ถ้าเจ้าบ้านมีความประสงค์ที่จะประกอบพิธีตามทางศาสนา มีการเชิญแขกให้มาร่วมด้วยก็มีหลักที่จะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ ต้องกำหนดวันการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ให้เป็นที่แน่นอนและการเลือกวันที่ว่านี้ ถ้าต้องการให้เป็นมงคลตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณแล้ว ก็ต้องไปหารือกับผู้ที่มีความรู้ทางโหราศาสตร์ให้กำหนดวันและเวลาให้ แล้วออกบัตรเชิญแขกให้มาร่วมในพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และส่งบัตรนั้นออกไปในระยะเวลาก่อนถึงวันกำหนดพอสมควร ในบัตรนั้น ต้องบอกตำบลบ้านที่จะประกอบพิธี กำหนดวัน เวลาอย่างชัดเจน เรียกว่าถ้าเขียนเป็นแผนที่ได้ ก็จะดีที่สุด เมื่อใกล้กับวันที่กำหนดไว้ ต้องเตรียมตกแต่งบ้านเรือนที่จะทำบุญ ขึ้นบ้านใหม่นั้นให้เรียบร้อยงามตาตามสมควร และเตรียมสิ่งของที่จำเป็นใช้ในวันประกอบพิธีให้พร้อมเช่น

อาราธนาพระสงฆ์ - เมื่อกำหนดวันงานแน่นอนแล้ว ไปอาราธนาพระตามจำนวนที่ต้องการ ก่อนถึงวันงานอย่างน้อย ๓ ถึง ๗ วัน การอาราธนานั้น ถ้าสามารถเขียนหรือพิมพ์เป็นฎีกานิมนต์ ได้เป็นการดีที่สุด โดยบอกกำหนด วัน เดือน ปี เวลา และงานให้ละเอียด ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆสำหรับพระสงฆ์ ก็สามารถยืมของที่วัดมาใช้ได้ โดยไปเบิกมาก่อนพิธีสักวัน จะได้ไม่ฉุกละหุก เสร็จแล้วอย่าลืมไปคืนล่ะ บาปกรรม !

จำนวนพระที่นิมนต์ ตามปกติจำนวนนี้คือ ๕ รูป ๗ รูป ๙ รูป แต่ส่วนมากนิยมนิมนต์ ๙ รูป ถือกันว่าเลข ๙ เป็นเลขมงคลขลังดี งานนั้นจะได้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งสมัยนี้ขอแนะนำว่า ตามกำลังศรัทธาครับ

การตั้งโต๊ะหมู่ - ควรจัดไว้ทางด้านขวามือของพระสงฆ์ โดยให้พระพุทธผินพระพักตร์ไปด้านเดียวกับพระสงฆ์ ถ้าสถานที่อำนวยให้ผินพระพุทธรูปไปทางด้านทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ ได้ก็ยิ่งดี ถ้าสถานที่ไม่พอก็ให้จัดตามความเหมาะสมกับสถานที่ (นี่ก็เป็นข้อจำกัดในการนิมนต์พระด้วย ว่าควรจะเป็นกี่รูป) พระพุทธรูปที่จะนำมาตั้งโต๊ะบูชานั้น ไม่ให้มีครอบและเล็กจนเกินไป หรือใหญ่เกินไป ถ้าโต๊ะบูชาใหญ่เล็ก ก็ให้จัดพระบูชาเหมาะสมตามส่วน มีแจกันดอกไม้ พานดอกไม้จัด ๓ หรือ ๕ พาน แจกันจะใช้ ๑ - ๒ คู่ก็ได้ แล้วแต่ขนาดของโต๊ะ กระถางธูปให้ปักไว้ ๓ ดอก เชิงเทียน ๑ คู่ พร้อมเทียน

ขันน้ำมนต์ จะใช้ขัน หรือบาตรหม้อน้ำมนต์มีเชิงก็ได้ (ไม่มีก็ยืมพระท่านไว้เลย) ใส่น้ำสะอาดพอควร มีเทียนน้ำมนต์ ขี้ผึ้งอย่างดี ๑ - ๒ เล่ม ใบเงินใบทองอย่างละ ๕ ใบ มัดหญ้าคาหรือก้าน มะยม สำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ๑ มัด ถ้าใช้ใบมะยมใช้ก้านสด ๙ ก้าน ถ้ามีการเจิม ก็เตรียมแป้งกระแจะ ใส่น้ำหอมในผอบเจิมด้วย ถ้ามีการปิดทองด้วย ก็เตรียมทองคำเปลวไว้ ตามต้องการไว้ในพาน ตั้งไว้ข้างบาตรน้ำมนต์ด้วย

ด้ายสายสิญจน์ - ใช้ด้ายดินจับ ๙ เส้น ๑ ม้วน โยงรอบบ้านหรือบริเวณพิธี เวียนจากซ้ายไป ขวา โยงเข้าหาพระประธานที่โต๊ะหมู่บูชา เวียนซ้ายไปขวาเช่นเดียวกัน แต่ไม่ควรเอาไปพันไว้ที่องค์พระประธาน เวียนรอบฐานพระโยงมาที่ขันหรือบาตรน้ำมนต์เวียนขวา แล้วนำด้ายสายสิญจน์วางไว้บนพานรอง ตั้งไว้ข้างโต๊ะบูชาใกล้กับพระเถระ องค์ประธานในสงฆ์ เรื่องด้ายสายสิญจน์นี้ มีข้อควรระวังเป็นพิเศษคือ ห้ามข้ามกรายเป็นเด็ดขาด แม้ที่สุดจะหยิบ ของข้ามหรือยื่นมือไปเขี่ยบุหรี่ บ้วนน้ำหมากน้ำลาย ก็ไม่ควรข้ามด้ายสายสิญจน์อย่างยิ่ง เพราะ นอกจากเป็นการแสดงความไม่เคารพในพระพุทธเจ้า หรือถ้าเป็นงานศพก็ไม่เป็นการเคารพในผู้ตาย และยังเป็นผู้ที่ถูกติเตียนด้วย หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ควรสอดมือไปทางใต้ด้ายสายสิญจน์

การปูอาสนะสำหรับพระสงฆ์ - ควรใช้เสื่อหรือพรหมปูเสียชั้นหนึ่งก่อน นิยมใช้กัน ๒ วิธีคือ ยกพื้นอาสนะสงฆ์ให้สูงขึ้น โดยใช้เตียงหรือแคร่ม้ายาววางต่อกันให้พอจำนวนแก่สงฆ์ และอีก วิธีหนึ่ง ปูลาดอาสนะบนพื้นธรรมดา อาสนะสงฆ์ชนิดยกพื้นนิยมใช้ผ้าขาวปูลาด จะมีผ้านิสีทนะ ปูอีกชั้นหนึ่ง หรือไม่ก็ได้ โดยอาสน์สงฆ์ยกพื้นนี้ มักจัดในสถานที่ที่ฝ่ายเจ้าภาพนั่งเก้าอี้กัน ส่วนอาสนะชนิดที่ปูลาดบนพื้นธรรมดา จะใช้เสื่อหรือพรมผ้าที่สมควรก็สุดแท้แต่ที่จะหาได้ หลักคืออาสนะสงฆ์ ควรอยู่สูงกว่าคนธรรมดาขั้นหนึ่งเสมอ ดังนั้นควรระวังอย่าให้อาสนะพระสงฆ์กับที่นั่งของคฤหัสถ์ฝ่ายเจ้าภาพเป็นอันเดียวกัน ควรปูลาดให้แยกจากกัน ถ้าจะเป็นแยกกันไม่ได้โดยปูเสื่อหรือพรมไว้เต็มห้อง สำหรับอาสนะสงฆ์ ควรปูทับเสื่อหรือพรมอีกชั้นหนึ่งจึงจะเหมาะสม โดยใช้ผ้าขาวหรือผ้านิสีทนะก็ได้ ปูเรียงองค์เป็นระยะให้ห่างกันพอสมควร อย่าให้ชิดกันเกินไป มีหมอนอิงข้างหลังเรียงองค์เท่า จำนวนที่นิมนต์มาในงานนั้นๆ (สิ่งของเหล่านี้ก็ขอยืมที่วัดได้ทั้งหมด)

เครื่องรับรองพระ ก็มีกระโถน, ภาชนะน้ำเย็น, พานใส่หมากพลูบุหรี่ วางไว้ทางด้านขวามือของพระสงฆ์เป็นรายรูป ถ้าของมีจำกัด ๒ รูปต่อ ๑ ที่ก็ได้ วางเรียงจากข้างในมาหาข้างนอก ตามลำดับ คือกระโถนไว้ในที่สุด ถัดมาภาชนะน้ำเย็น และพานหมากพลูบุหรี่ ส่วนน้ำชา หรือเครื่องดื่ม เมื่อพระสงฆ์เข้านั่งเรียบร้อยแล้ว ค่อยถวายก็ได้ การล้างเท้า - เช็ดเท้าพระสงฆ์ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพบเห็น ซึ่งแต่ก่อนเมื่อพระสงฆ์มาถึงบ้าน ฝ่ายต้อนรับจะคอยล้างเท้าให้ท่าน จะให้ท่านล้างเท้าเองดูไม่เหมาะ เพราะน้ำอาจมีสัตว์ขัดกับพระวินัย ซึ่งมีพุทธบัญญัติว่า เราภิกษุไม่เป็นไข้ จักไม่สวมรองเท้าเข้าไปในบ้าน ถ้าภิกษุรูปใดฝ่าฝืนรับเป็นอาบัติทุกกฎ เสร็จแล้วคอยเช็ดเท้าให้ท่านด้วย สมัยนี้พอลงจากรถ ก็นิมนต์ขึ้นบ้านเลย (ที่หนักกว่านั้นคือ ไม่ไปรับท่านมาจากวัด ให้ท่านขึ้น taxi มาเองซะงั้น) จากนั้นจึงประเคนเครื่องรับรองพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์เข้าประจำที่เรียบร้อยแล้ว พึงเข้าประเคนของรับรองพระที่เตรียมไว้ปูแล้ว คือภาชนะน้ำเย็น พานหมากบุหรี่ (เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยถวายกันแล้ว) ประเคนของที่อยู่ข้างใน ก่อน เสร็จแล้วน้ำชาหรือน้ำอัดลมถวายทีละองค์จนครบ การประเคนต้องให้ได้หัตถบาศ คือต้องเข้าไปใกล้พระประมาณ ๑ ศอก จะเป็นชายหรือหญิง ก็ประเคนได้ทั้งนั้น ส่วนของที่ประเคนต้องไม่ใหญ่หรือหนักเกินไป ต้องเป็นของที่พอจะยกได้คนเดียว

การจุดธูปเทียนเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพไม่ควรให้ผู้อื่นจุดแทน ก่อนจุดเทียนให้กราบพระพุทธเสียก่อน แล้วใช้เทียนชนวนจุดเทียนบนที่บูชา ให้จุดเล่มขวาของพระพุทธรูปเสียก่อน แล้วจุดเล่มซ้าย จึงจุดธูป ๓ ดอก แล้วภาวนาว่า
อิเมหิ สกฺกาเรหิ พุทฺธํ อภิปูชยามิ
อิเมหิ สกฺกาเรหิ ธมฺมํ อภิปูชยามิ
อิเมหิ สกฺกาเรหิ สงฺฆํ อภิปูชยามิ
แล้วกราบ ๓ ครั้ง กราบครั้งที่ ๑ ว่า พุทฺธํ วนฺทามิ กราบครั้งที่ ๒ ว่า ธมฺมํ วนฺทามิ กราบ ครั้ง ๓ ว่า สงฺฆํ วนฺทามิ

ครั้นเมื่อบูชาและกราบพระเสร็จแล้วให้ถวายกลุ่มด้ายสายสิญจน์ ถวายก็ได้ ถวายเสร็จแล้วเริ่มอาราธนาศีลต่อไป ดังนี้
มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม (๓จบ) หรือจะเติม ทุติยมฺปิฯ ตติยมฺปิฯ ด้วยก็ได้
แล้วตั้งใจรับศีลต่อไป ซึ่งพระท่านจะให้ศีลจนจบ เมื่อรับศีลแล้วให้คุกเข่าประนมมือ อาราธนาพระปริตรดังนี้
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา สพฺพทุกฺขวินาสาย ปริตฺตํ พรูถมงฺคลํ
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา สพฺพภยวินาสาย ปริตฺตํ พรูถมงฺคลํ
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา สพฺพโรควินาสาย ปริตฺตํ พรูถมงฺคลํ
อาราธนาจบแล้ว กราบลง ๓ ครั้ง แล้วนั่งราบตั้งใจฟังพระสวดเจริญพระพุทธมนต์ต่อไป

จุดเทียนน้ำมนต์ตอนพระสวดถึงมงคลคาถาตอนขึ้น "อเสวนาฯ" ให้จุดเทียนชนวนแล้วไปจุดเทียนสำหรับหยดน้ำมนต์ที่ปักติดไว้กับภาชนะทำน้ำมนต์ จุดเสร็จก็ยกประเคน ถวายพระทำน้ำมนต์ต่อไป ไหว้หรือกราบหนึ่งครั้ง (จุดเทียนน้ำมนต์เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ)

เมื่อพระสวดมนต์จวนจบ ถึงบท ส่งเทวดา คือ ทุกฺขปฺปตฺตา...ฯ ให้จัดเตรียมน้ำร้อน น้ำดื่มไว้ พอสวดจบก็เอาไปถวายพระท่าน แล้วเลี้ยงภัตตาหารพระ อย่าลืมจัดสำรับคาวหวานถวายพระพุทธ เจ้าภาพควรบูชาด้วยใจนึกดังนี้
อิมํ สูปพยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โภชนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ แล้วกราบ ๓ ครั้ง ครั้นได้เวลาพอสมควรก็กล่าวลาข้าวพระพุทธว่า เสสํ มงฺคลา ยาจามิ
พอพระฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ถวายไทยธรรม พระท่านจะขึ้น ยถาฯ เจ้าภาพเริ่มกรวดน้ำ ห้ามเอานิ้วรองน้ำ เพราะไม่ต้องการให้มีเครื่องกีดขวาง กรวดน้ำเสร็จก็นั่งประนมมือจนกว่าพระจะอนุโมทนาให้พรเสร็จ จากนั้นนิมนต์พระประพรมน้ำมนต์เจ้าภาพ แขกผู้มีเกียรติที่เชิญมาในงาน และประพรมบริเวณบ้านจนทั่ว ขณะพรมน้ำมนต์พระท่านจะสวดเจริญชัยมงคลคาถา สวดจบแล้วเป็นเสร็จพิธีทางพระ เจ้าภาพควรส่งพระกลับวัดแค่บันไดก็พอ เสร็จพิธีสงฆ์นี้แล้ว อย่างน้อยนับว่าคุณได้ทำบุญเลี้ยงพระไปแล้ว ได้บุญแน่นอน ตอนกรวดน้ำจึงควรอุทิศส่วนกุศลให้ทั่วถึง

พอการทำบุญเลี้ยงพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็ทำพิธีขึ้นบันไดตามลัทธิความเชื่อถือ (ตามแต่ศรัทธา ไม่ค่อยมีแพร่หลายนัก) ให้ขึ้นบ้านตามทิศที่เป็นมงคล ขึ้นทางทิศบูรพาให้เอาเงินขึ้นก่อนจะมีลาภ ถ้าขึ้นทางทิศอุดรให้เอาทองขึ้นก่อนจะได้สัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า และถ้าขึ้นทางทิศอีสานให้เอานมวัวและของขาวขึ้นก่อน การขึ้นบ้านตอนแรกท่านให้เอาหญ้าแพรก งา เหล็ก ขึ้นก่อน จะปราศจากทุกข์และอุปัทวันตรายทั้งปวง วันที่จะขึ้นบ้านใหม่ ที่จัดว่าเป็นวันดี ได้แก่ วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์

พิธีพระเสร็จแล้วก็จะมีการเลี้ยงอาหารกัน เมื่อสมัยก่อนราว ๓๐-๔๐ ปี จะมีการเลี้ยงอาหารแก่วงศาคณาญาติมิตรสหายและแขกเหรื่อที่เชิญมาเป็นเกียรติในงาน พร้อมทั้งจัดให้มีมหรสพ การเล่นรื่นเริง เช่น โขน ละคร ลิเก ลำตัด ให้ชมอีกด้วย การเลี้ยงอาหารแขกแบบไทยๆ นั่งล้อมกันเป็นวงๆ หรือทำร้านมีกระดาน ๓-๔ แผ่นปูยาวสำหรับตั้งอาหาร ๒ ข้าง มีกระดานแผ่นเดียวลดต่ำลงมาปูยาวไปสำหรับแขกนั่งรับประทานอาหาร แต่ปัจจุบันนี้การเลี้ยงแขกนิยมใช้โต๊ะจีนอาหารจีนกันเป็นส่วนมาก มหรสพที่จัดให้ชมมักนิยมหาดนตรี นักร้องเพลงลูกทุ่งลูกกรุง หางเครื่องมาแสดงตอนแขกรับประทานอาหาร เพื่อให้งานครึกครื้นสนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจไม่เงียบเหงา การจัดงานใหญ่งานเล็กก็แล้วแต่ฐานะและรสนิยมความต้องการของเจ้าภาพ แต่มหรสพเดี๋ยวนี้ไม่นิยมจัดกันแล้ว เพราะฟุ่มเฟือยเกินไป

ถ้าต้องการให้มีการยกศาลพระภูมิในวันนั้นด้วย ก็ต้องเชิญผู้มีความรู้ในทางนี้มาเป็นผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีในวันนั้นด้วย ควรเตรียมต้อนรับรองแขกให้พร้อม และมีการนัดหมายกับผู้ทำหน้าที่ต้อนรับแขกให้เป็นที่เข้าใจว่าใครมีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างไร ถ้ามีการเลี้ยงอาหารแขกด้วย ก็ต้องเตรียมห้องอาหารและอาหารให้พร้อม

จะเห็นว่าการทำบุญขึ้นบ้านใหม่แบบดั้งเดิม เต็มตามพิธีนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ จึงควรจัดตามความเหมาะสมพอดี และพิธีทางพระนี้ ก็เป็นสิ่งควรทำ ส่วนสิ่งที่เป็นความเชื่อ ทางโหราศาสตร์ หรือฮวงจุ้ย เกี่ยวกับการขึ้นบ้านใหม่นั้น จะทำหรือไม่ เชื่อหรือไม่ ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล แต่ก็นำมาลงให้อ่านกันให้ครบทุกด้านครับ


ส่วนการทำพิธีอย่างอื่น ที่ไม่ใช่พิธีสงฆ์ มีวิธีการดังนี้
สิ่งของที่ต้องเตรียมใช้ในพิธี
- ถุงเงิน , ถุงทอง อย่างละ 1 ถุง
- เงินเหรียญทุกประเภท รวมกันให้ได้ 108 บาท เช่น เหรียญ 10 บาท 5 บาท 1 บาท 50 สต. 25 สต.
- ธนบัตรทุกประเภท รวมกันให้ได้ 1,900 บาท
- ตะกร้า , ถังน้ำ 2 ใบ ( ต้องใช้ของใหม่ )
- ข้าวตอก , ถั่ว , งา
- ดอกกุหลาบแดง , เหลือง , ดอกดาวเรือง แกะเอาเฉพาะกลีบ
- ดอกบานไม่รู้โรย แกะเป็นดอก
- ดอกรัก แกะเป็นกลีบ
- เครื่องครัวทั้งหมด
- พระพุทธรูป ที่เป็นองค์ประธานของบ้าน
- สร้อย แหวน เครื่องประดับ ของมีค่า
- ธูป เทียน
ขั้นตอนการทำพิธี
- นำธนบัตร 1,900 บาท และเหรียญ 108 บาท ใส่ลงในถุงเงิน ก่อนใส่ถุงให้พูดเสียงดังๆ ว่า “ โอ้โฮ เงินทองร้อยแปดพันเก้าเลย “
- นำถุงเงิน และ สร้อย แหวน ทองของมีค่า ใส่ในถุงทอง
- ถังใหม่ที่เตรียมไว้ ใส่น้ำให้เต็มจนล้น 1 ถัง ส่วนอีกถัง ให้ใส่ข้าวสารให้ล้น
- ถั่ว งา ข้าวตอก ดอกไม้ คลุกรวมกัน ใส่ลงในตะกร้า โรยใส่ในถังที่เตรียมไว้ ทุกถัง
- นำเครื่องที่เตรียม ตั้งแต่ 1 - 7 เข้าบ้านก่อน โดยให้เพื่อนๆ ญาติๆ ที่พูดเก่งๆ ให้พูดจาสนุกสนาน และช่วยกันหิ้วเครื่องครัว เครื่องใช้ต่างๆ เข้าบ้าน
- หิ้วถังน้ำ ถังข้าวสารตาม โดยหิ้วให้หกเรี่ยราดตลอดทาง แล้วเอาไปวางไว้บนโต๊ะในครัว พูดดังๆ ว่า “ บ้านนี้มีความสุขจริง เงินทองเต็มบ้าน ข้าวของอุดมสมบรูณ์……” และพูดแต่ในสิ่งที่ดีๆ
- เจ้าของบ้าน อุ้มพระพุทธรูปองค์ประธาน เดินตามขบวนเข้าไป แล้วนำไปไว้ที่หิ้งพระ จุดธูป 9 ดอก ให้พูดถึงชื่อตนเองและทุกคนในครอบครัว ขอให้พระคุ้มครองให้มีความสุข ความเจริญ
-ทุกคนในครอบครัว ช่วยกันแบกตะกร้าที่ใส่ ข้าวตอก ดอกไม้ เงินทอง ของมีค่า เทคว่ำลงบนที่นอน แล้วให้ทุกคนนอนลงบนที่นอน และช่วยกันเก็บ ของที่เทไว้ใส่ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง
- เก็บกวาดข้าวของที่หกเรี่ยราด เอาไปให้นกกิน

พิธีนี้เป็นความเชื่ออีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทำตามกันมามากกว่า ไม่เหมือนพิธีกรรมที่เป็นการทำบุญเลี้ยงพระ พิธีการนี้ เป็นเพียงความเชื่อโบราณซึ่งท่านถือเป็นคติสืบต่อกันมา อย่างไรก็ตามคนไทยกับความเชื่อในหลายๆ เรื่องก็ยังคงแยกกันไม่ขาดแม้แต่ในยุคปัจจุบันก็ตาม


วันต้องห้ามตามคติโบราณ
“ห้ามขึ้นบ้านวันเสาร์” เนื่องจากว่าวันเสาร์ตามหลักโหราศาสตร์แล้ว ถือกันว่าเป็นวันแห่งโทษทุกข์ และดาวเสาร์ยังจัดเป็นดาวแห่งบาปเคราะห์อีกด้วย แต่การขึ้นบ้านใหม่ ต้องการความร่มเย็น ความสุขและความมั่นคงถาวร ความเจริญ ดังนั้นคนโบราณจึงห้ามมิให้ประกอบพิธีเกี่ยวกับการปลูกสร้าง บ้านเรือน เช่น การยกเสาเอก วางศิลาฤกษ์ เปิดป้ายอาคาร หรือแม้กระทั่งการย้ายเข้าสู่บ้านใหม่

ส่วนพิธี ขึ้นบ้านใหม่ / เข้าบ้านใหม่ แบบซินแสจีน ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับพลังและกระแสต่างๆ ที่เรามองไม่เห็น ลองอ่านเป็นความรู้บ้างก็ดีครับ แต่ใครไม่ค่อยสนใจก็ผ่านไปเลยครับ ถือว่าจบพิธีทำบุญเลี้ยงพระแบบมาตรฐานแล้ว

ในกรณีที่เป็นบ้านใหม่ หรือบ้านนั้นยังไม่เคยเข้าไปอยู่อาศัย ก่อนย้ายเข้า เราสามารถปรับสภาพกระแสภายในบ้านให้ปราศจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย
โดยการทำพิธี ล้างปรับสภาพ การทำพิธี ขึ้นบ้านใหม่ ต้องใช้ฤกษ์ยามที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงจะเกิดความร่มเย็นเป็นสุข ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ ให้ดับไฟในบ้าน ให้ทุกคนออกนอกบ้าน รวมตัวกันที่หน้าบ้าน เมื่อได้ฤกษ์ ขึ้นบ้านใหม่ ให้เดินเข้าบ้านใหม่ จัดตั้งองค์พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เพื่อให้ท่านช่วยคุ้มครองปกปักรักษา ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข

เราควรกำหนดจุดตั้ง และเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ล่วงหน้า เพื่อสะดวกในวันทำพิธี และจะได้ตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เสร็จทันในฤกษ์ หากต้องการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาก่อน ให้ใส่กล่องทึบและวางไว้โต๊ะกลางบ้าน เพื่อจะได้ไม่เกี่ยวข้องกับทิศทาง และหากอัญเชิญมาจากที่บ้านเก่าต้องดูฤกษ์อัญเชิญลง
การจัดของไหว้ถวาย ( ตามแต่ประเพณีและความนิยมของบุคคล ) ดีที่สุด ควรเป็นผลไม้ห้าอย่าง ( ครบห้าธาตุ - ดิน ทอง น้ำ ไม้ ไฟ )
ไม่ควรเป็นเนื้อสัตว์ เพราะเท่ากับเบียดเบียนชีวิตอื่น
วันแรกให้จุดธูปจริง เทียนจริง เพื่อให้เกิดควัน (ควันเป็นสื่อถึงแสดงออก ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเชิญได้รับรู้) และขอพร (อย่าขอหลายอย่าง ให้ขอเท่าที่สำคัญและจำเป็น)
ก่อเตาหุงต้ม (จุดเตาแก๊ส) คือการเริ่มต้นอยู่กิน และหมายถึงมีกินมีใช้ (ในสมัยโบราณจะใช้วิธีการถือ เตาถ่าน เข้าบ้าน แต่ปัจจุบันสามารถใช้วิธีนี้แทน) แนะนำให้ต้มขนมอี๋เพื่อเป็นสิริมงคล
ตั้งเตียงและนอนค้างคืน หมายถึงมีที่นอน อยู่เย็นเป็นสุข (ในความเป็นจริงส่วนใหญ่จะตั้งเตียงอยู่แล้ว เราเพียงแต่ดันขยับสักเล็กน้อยพอเป็นพิธีเท่านั้น) การปูเตียง ก็เพียงยกหมอนขึ้นแล้ววางลง ตบฟูกเบา ๆ
หากที่บ้านทิ้งช่วงทำบุญมามากกว่า 1 ปี ควรดูฤกษ์ แต่หากทำต่อเนื่องทุกปีไม่ต้องดูฤกษ์
วิธีที่ง่ายกว่าคือ : ไปทำบุญสังฆทานที่วัด แล้วอุทิศให้เจ้าที่ และวิญญาณทั้งหลายที่อาศัยในบ้านหลังนี้ ขอให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข

บ้านมือสอง คอนโด condo บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านเช่า ที่ดิน
วันที่ : 31 มีนาคม 2551
จำนวนผู้อ่าน : 149391 ครั้ง
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ
ซื้อคอนโดมือสองก็ต้องละเอียด (ดู 11578 ครั้ง)
การจัดเก็บค่าส่วนกลางยังเป็นปัญหาเรื้อรัง (ดู 10191 ครั้ง)
ขั้นตอนจดทะเบียนนิติบุคคล (ดู 11287 ครั้ง)
ประกันภัยบ้านต้องทำอะไรบ้าง (ดู 11551 ครั้ง)
คอนโดริมน้ำกำลังเป็นที่นิยม (ดู 10521 ครั้ง)
ใครดีใครร้ายในปีมะเส็ง 56 (ดู 10676 ครั้ง)
ฮวงจุ้ย ทิศหัวเตียงหรือหัวนอน (ดู 13680 ครั้ง)
ข้อดีของการซื้อบ้านจัดสรร (ดู 12230 ครั้ง)
จะซื้อบ้านจัดสรรฟังทางนี้ (ดู 4721 ครั้ง)
เมื่อนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรถึงทางตัน (ดู 4843 ครั้ง)
บ้านไม้สไตล์พรีแฟบ (ดู 5480 ครั้ง)
เลือกบ้านสำเร็จรูปแบบไหนดี (ดู 4904 ครั้ง)
นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร (ดู 5051 ครั้ง)
รู้ทันก่อนซื้อประกันภัยบ้าน (ดู 4632 ครั้ง)
จัดตั้งนิติบุคคลฯแล้วจะเป็นอย่างไร (ดู 4337 ครั้ง)
ตรวจสอบเบื้องต้นง่ายๆ หลังแผ่นดินไหว (ดู 4081 ครั้ง)
กฏหมายว่าด้วยรั้วบ้าน (ดู 5137 ครั้ง)
ขั้นตอนจัดตั้งนิติบุคคล บ้านจัดสรร (ดู 5271 ครั้ง)
เตรียมเสนอขยายสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (ดู 4153 ครั้ง)
เทรนด์ การซื้อขายบ้านมือสอง (ดู 4487 ครั้ง)
หน้าที่ของผู้ซื้อฯกับนิติบุคคลฯ (ดู 4791 ครั้ง)
สิทธิของเจ้าของห้องชุด (ดู 4705 ครั้ง)
บทบาทเจ้าของร่วมอาคารชุด (ดู 4266 ครั้ง)
ทำไมต้องจ่ายค่าส่วนกลาง (ดู 5003 ครั้ง)
ห้องไม่เรียบร้อย อย่ารับโอน (ดู 4977 ครั้ง)

Google
 
ขายบ้าน, คอนโด มือสอง, บริษัทนายหน้า, โบรกเกอร์, รับฝากขายบ้าน, ขายบ้าน, realtor, agency, บริษัท ขายบ้าน, ตัวแทน นายหน้า, รับฝากขาย, ซื้อขายบ้าน, ฝากขายบ้าน นายหน้า ขายบ้าน, บ.นายหน้า ขายบ้าน, โบรกเกอร์, ซื้อขายบ้าน, รับฝากขายบ้าน, ตัวแทนนายหน้า, โบรกเกอร์บ้าน, นายหน้าบ้าน, ตัวแทนบ้าน ขายบ้าน ตกแต่งบ้าน ฟอร์นิเจอร์ ออกแบบ บ้าน ซื้อขาย บ้าน, รับออกแบบ บ้าน, รวมแบบบ้านแบบ บ้าน, ตกแต่งภายใน บ้าน, interior design ออกแบบ บ้าน, interior รับออกแบบ บ้าน, Architecture รับออกแบบ บ้าน, ตกแต่งบ้าน, ตกแต่งภายใน, Mudahouse, ตกแต่งภายใน, รับเหมา ก่อสร้างบ้าน, บริษัท ก่อสร้าง
ติดต่อลงโฆษณา : ududee@msn.com
โทรศัพท์: 08-9180-5710
Copyright ©2005-2012 Hometophit All rights reserved