คนไทยต้องเผชิญปัญหาบ้านเมืองที่ร้อนระอุ เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเงินเฟ้อจนสตางค์ในกระเป๋าอ่อนค่าลง เป็นปัญหารุมเร้าภายใน ทั้งต้องเผชิญสิ่งแวดล้อมระดับโลก ชนิด 'โลกร้อน' (Global Warming) เป็นกระแสให้คนและสังคมต้องมีส่วนช่วยกันลดโลกร้อน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปกว่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรักธรรมชาติ สายลม แสงแดดที่มีคุณค่า น่าจะชอบอกชอบใจ เพราะที่มลรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา คริสต์ศักราชนี้ ร่วมกันรณรงค์ให้โลกมีชีวิตที่ยืนยาวในการใช้ 'ธรรมชาติ' เป็นทางเลือกด้าน 'พลังงาน' ด้วยการติดตั้ง 'เซลล์แผงพลังงานสุริยะ' ในชุมชนแห่งหนึ่งในเมืองโบลเดอร์ ใช้ผลิตพลังงานให้ชาวบ้านร้านตลาด เป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์คิดเป็นครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในชุมชนเลยทีเดียว ความคิดนี้นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอสังหาริมทรัพย์แบบยั่งยืนในมลรัฐโคโลราโด เนื่องจากทางรัฐมีแผนก่อสร้าง 'ชุมชนรักษ์โลก' ที่พึ่งพาเพียงพลังงานทดแทนในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ (ราวเดือนกันยายน-พฤศจิกายน) เชื่อว่าบ้านที่พักอาศัย ตามที่วางแผนไว้ หากสร้างเสร็จจะกลายเป็นชุมชนรักษ์โลกแห่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยความพิเศษของชุมชนนี้อยู่ที่แผงพลังงานสุริยะและระบบพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนหล่อเลี้ยงทุกหลังคาเรือน ไม่ต้องพึ่งทรัพยากรสิ้นเปลืองหรือทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน ถ่านหินแม้แต่น้อย ถึงกระนั้น ผู้อยู่อาศัยก็ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนนิสัยตนเอง ให้มีการใช้พลังงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานของคนอเมริกันด้วย จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชุมชนรักษ์โลกอย่างแท้จริง ณ ที่แห่งนี้จะใช้พลังงานทดแทนเป็นตัวขับเคลื่อนชุมชนแล้ว กลุ่มแกนนำผู้สร้างยังนำเทคโนโลยีสิ่งปลูกสร้างที่สามารถเก็บความร้อนได้ดีมาใช้ร่วมกับระบบนิเวศวิศวกรรม และวางแบบแปลนชุมชนให้มีความสะดวกสบายเพื่อเอื้อต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยบ้านตัวอย่างนำร่อง 250 หลังคาเรือนในชุมชนจะถูกวางเรียงกันแบบตารางหมากรุก เน้นทางเดินเท้ามากกว่าถนนรถวิ่ง การวางแปลนเช่นนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และระบบนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงระบบเปลี่ยนความร้อนเป็นอากาศบริสุทธิ์ (ฮีท รีโคฟเวอร์รี เวนทิเลเตอร์ หรือ HRV) อันเป็นระบบที่นำความร้อนจากไอเสียมาเปลี่ยนเป็นอากาศบริสุทธิ์เพื่อส่งไปใช้ภายในอาคารต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยควบคุมสภาพอากาศแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานอีกด้วย ว่าไปแล้ว ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ของชุมชนแห่งนี้น่าสนใจทีเดียว เนื่องจากอ่างเก็บน้ำของชุมชนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่อ่างเก็บน้ำที่จะถูกนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อส่งกลับเข้าท่อประปาให้ประชนชนได้อาบได้ใช้ต่อไปเท่านั้น แต่ยังรับจ๊อบเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์กันตามสบายอีกด้วย ถือเป็นอ่างเก็บน้ำที่ให้ประโยชน์สองเด้ง คุ้มค่าเหลือหลาย ส่วนประกอบของบ้านแต่ละหลังก็น่าสนใจ เพราะบ้านจะมีส่วนประกอบที่อากาศผ่านเข้าไม่ได้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงของอากาศภายในบ้านเป็นไปอย่างช้าๆ ตามธรรมชาติ ไม่หนาวๆ ร้อนๆ เหมือนบ้านทั่วไป พร้อมด้วยตัวเฮชอาร์วี ช่วยกรองอากาศให้บริสุทธิ์และเก็บความร้อนไว้ในบ้าน ถึงฤดูหนาวจะได้อุ่นสบาย โดยมีแผงแปลงพลังสุริยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งคอยจ่ายไฟให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านอีกด้วย สนนราคาบ้านแต่ละหลังหรือก็ถูก จะว่าสิ่งที่ดีกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันมีราคาสูงหรือไม่ น่าจะคุ้มค่าที่จะควักกระเป๋าจ่าย แม้แพงแต่คนสร้างตั้งใจสร้างชุมชนรักษ์โลกแห่งนี้ให้สอดคล้องกับแนวคิดความเป็นอยู่แบบยั่งยืน ยึดคติว่าสร้างให้คนอยากมีบ้านที่ทั้งสวยทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราคาเลยตั้งให้พอรับไหว ซึ่งบ้านมีขนาดตั้งแต่ 860-3,683 ตารางฟุต หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ บ้านตึกแถว หรือคอนโดมิเนียม แล้วแต่ชอบ เริ่มต้นประมาณ 200,000 ดอลลาร์ หรือ 6,800,000 บาท ถูกกว่าบ้านปัจจุบันที่ไม่ช่วย'ลดโลกร้อน' เป็นไหนๆ เห็นอย่างนี้แล้วก็แอบหวังให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยนำความคิดเหล่านี้มาพัฒนาบ้านในเมืองไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบ้าง เพราะอะไรก็ตามที่คุณสมบัติดีและราคาไม่แพงใครก็อยากได้ อยากมีโอกาสเป็นเจ้าเข้าเจ้าของบ้านรักษ์โลกเช่นนี้เหมือนกัน ขอขอบคุณ ที่มา : มติชนออนไลน์ - วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11094 หน้า 26 |