สวนจะสวยและคงอยู่ได้นานนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการดูแลรักษา สภาพพื้นที่ รวมถึงลักษณะการ ใช้งาน หากเกิดปัญหาในสวนก็จำเป็นต้องปรับสิ่งต่างๆให้เกิดความเหมาะสมและตรงใจผู้ใช้งานมากที่สุด ตัวอย่างการปรับปรุงสวนภายในสำนักงานของ บ้านและสวน ซึ่งปรับเปลี่ยนจากเดิมด้วยเหตุผลหลัก ๆ 2 ประการคือ แก้ไขปัญหาเรื่องบ่อน้ำในพื้นที่ทรุดตัว และเพิ่มพื้นที่ใช้งานในสวน ปัญหาที่เรานำมาเสนอเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในสวน เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยเจอบางกรณีที่คล้ายกัน จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการนำไปปรับใช้กับสวนของคุณ วิเคราะห์พื้นที่สวนเดิม บ่อและลำธาร : เนื่องจากพื้นที่ของบริษัทตั้งอยู่ริมคลอง มีการกัดเซาะและมีระดับน้ำใต้ดินสูง บ่อและลำธารของสวนเดิมมีขนาดใหญ่และไหลผ่านทั่วทั้งพื้นที่ โดยมีทางเดินหลักของอาคารวางขวางตำแหน่งบางส่วนของบ่อ เมื่อทางเดินเกิดการทรุดตัวจึงส่งผลกระทบถึงโครงสร้างของบ่อด้วย นอกจากนี้โครงสร้างของบ่อน้ำเดิมคำนวณจากโครงสร้างที่ใช้รองรับน้ำหนักหินเทียม แต่เมื่อสร้างจริงมีการเปลี่ยนมาใช้หินทรายแดง ซึ่งมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่โครงสร้างจะรองรับได้ ทำให้บ่อและลำธารบางส่วนเกิดการแตกร้าวและรั่วซึม ส่งผลต่อการดูแลรักษาในระยะยาว เพราะต้องเติมน้ำในบ่อ บ่อยครั้ง บางส่วนของบ่อต้องตัดระบบการหมุนเวียนของน้ำ เพื่อลดการรั่วซึม ทำให้น้ำไม่ได้รับการหมุนเวียน น้ำจึงไม่ใสและเกิดตะไคร่ในบ่อ สภาพพื้นที่โดยรวม : ต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้ในพื้นที่เจริญเติบโตดี แต่ก็ทำให้ไม้ด้านล่างไม่ค่อยเจริญเท่าไร ต้องเปลี่ยนต้นไม้บ่อยครั้ง หรือปลูกได้เฉพาะพรรณไม้ที่ต้องการแสงแดดน้อย ซึ่งมีข้อเสียคือไม้ประเภทนี้มักมีใบขนาดใหญ่ และไม่ค่อยมีสีสันมากนัก ทำให้สวนขาดจุดเด่น อีกประการคือ มีไม้พุ่มและไม้คลุมดินที่เจริญเติบโตในบางตำแหน่ง ทำให้การสัญจรไม่สะดวกเท่าที่ควร พื้นที่บางส่วนก็ไม่ได้วางทางเดิน ทำให้เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก ระบบระบายน้ำก็มีปัญหาบ้างในเวลาฝนตกหนัก ส่งผลถึงระบบรากของพรรณไม้ในสวนหญ้าบางส่วนก็ตาย และชนิดต้นไม้ที่บางส่วนไม่เหมาะกับตำแหน่งที่ปลูก ภาพรวมของสวนทั้งหมดจึงเป็นสวนโชว์ที่ดูแลยากและใช้งานได้น้อยกว่าที่ควรเป็น ระบบกรองที่มีอยู่เดิมนั้นทำให้น้ำขุ่น และบริเวณนี้ก็ปลูกต้นไม้แน่น ทำให้ไม่มีพื้นที่ว่างเข้าไปบำรุงรักษา จึงรกง่าย บ่อที่ทำใหม่ใช้หินเทียมตกแต่งรอบ ๆบ่อ นอกจากน้ำหนักจะเบากว่าหินจริงแล้ว ยังสามารถเลือกสีของหินได้ตามความต้องการ สวนใหม่ซึ่งออกแบบให้เข้าไปใช้งานได้ง่าย เช่น ปูพื้นกระเบื้องเป็นลานอเนกประสงค์ และทำเดคไม้ยื่นออกไปในบ่อปลา ทำให้เกิดพื้นที่ใช้งานหลากหลาย
พื้นที่ส่วนหนึ่งของลำธารเดิมออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่โล่งรูปแบบกึ่งโมเดิร์น โดยสร้างพื้นไม้ยกระดับจากลานขึ้นมา เพื่อแยกพื้นที่ใช้สอยให้ด้านบนเป็นลานนั่งพักผ่อนที่ดูโปร่งตาสบายมากขึ้น
ปรับทางเดินในสวนให้เชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด จึงสามารถใช้ประโยชน์จากสวนได้ทุกจุดมากยิ่งขึ้น ลำธารและบ่อน้ำที่มีความลึกบ้างตื้นบ้าง ทำให้สวนดูไม่นิ่งเกินไป และใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลาได้หลายประเภท รอบ ๆบ่อเลือกใช้พรรณไม้ที่มีรูปทรงโปร่งบ้างทึบบ้าง ทำให้สวนดูไม่อึดอัดเกินไป พื้นไม้ข้างบ่อน้ำซึ่งปิดทับบ่อกรองด้านล่างยกระดับขึ้นมาอีกชั้นและออกแบบให้ยื่นออกมาในบ่อน้ำ ทำให้เกิดความรู้สึกเข้าใกล้ธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น ก่อหินเทียมเพื่อใช้เป็นตัวรับน้ำหนักของพื้นไม้ที่ยื่นออกมาในน้ำ หินเทียมที่วางอยู่รอบ ๆสามารถใช้แทนที่นั่งในสวนได้ แล้วโรยกรวดที่พื้น ให้เข้าไปใช้งานได้ง่าย บริเวณที่นั่งบนลานไม้ ก่อกระบะปลูกต้นไม้เพิ่มและติดกรอบไม้สีขาวสำหรับเป็นที่วางต้นไม้ ทำให้เกิดมิติบนผนังที่น่ามองมากขึ้น แนวคิดของสวนใหม่ ปรับภาพสวนให้ดูใหม่ โปร่ง โล่ง และทันสมัยขึ้น มีพื้นที่ใช้งานและมีบรรยากาศเหมาะแก่การเข้าไปนั่งพักผ่อน และทำงานในสวนมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับชนิดต้นไม้ระดับล่างให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การแก้ปัญหา จากการวิเคราะห์พื้นที่ สามารถแก้ปัญหาโดยแยกเป็นส่วน ๆดังนี้ 1. รื้อถอนงานโครงสร้างบ่อบางส่วนออก และกำหนดขอบเขตของบ่อน้ำใหม่ เพื่อใช้เลี้ยงปลา เป็นการสร้างสีสันและชีวิตชีวาให้ภายในสวน โดยคำนึงถึงโครงสร้างและปัญหาการทรุดตัวของดิน เน้นการใช้หินเทียม เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการรองรับน้ำหนัก และปรับตัวบ่อให้มีความสว่างด้วยการใช้หินแกรนิตสีสว่าง เพื่อชดเชยความร่มครึ้มของไม้ใหญ่ในพื้นที่ 2. ปรับและโยกย้ายไม้ใหญ่บางตำแหน่งเพื่อให้ไม้ระดับล่างได้รับแสงแดดบ้าง และทำให้สวนดูโปร่งขึ้น สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้กว้างขึ้น ในบางส่วนของพื้นที่ปรับเป็นลานอเนกประสงค์ หรือพื้นที่โล่ง เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ รวมถึงสามารถใช้ถ่ายงานของนิตยสารอื่นในเครือของบริษัทได้ 3. จัดมุมสวนให้เหมาะกับการเข้าไปนั่งพักผ่อน ในบางมุมใช้ต้นไม้ช่วยพรางให้เกิดความเป็นส่วนตัวบ้าง เน้นการใช้พรรณไม้เมืองร้อนที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเลือกดูจากสีสัน ทรงต้น และลักษณะใบ เพื่อช่วยสร้างจุดเด่น 4. กำหนดทางสัญจรที่แน่นอน สามารถเชื่อมโยงสวนส่วนต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เข้ามาใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น คอนเซ็ปต์จากแปลน A. สร้างน้ำตกขนาดเล็กเพื่อสร้างเสียงในสวน กำหนดให้มีการไหลเวียนของน้ำมากยิ่งขึ้น ให้บ่อมีความลึกพอเหมาะแก่การเลี้ยงปลา โดยแบ่งให้เหมือนมีบ่อย่อยๆสี่บ่อซึ่งมีความสูงลดหลั่นกัน เพื่อให้น้ำไหลผ่านหินในแต่ละบ่อไปยังบ่อที่อยู่ลึกที่สุด ปลูกต้นไม้ที่มีทรงต้นแตกพุ่มทึบเป็นฉากหลัง เพื่อเป็นจุด จบสายตา ทำให้น้ำตกดูโดดเด่นยิ่งขึ้น ปลูกเตยด่างที่มีเส้นสายและสีสันสดใส เพิ่มความน่าสนใจให้น้ำตก B. ขยับตำแหน่งของบ่อกรองให้อยู่ใกล้บ่อน้ำมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการวางระบบ โดยตำแหน่งของฝาบ่อกรองนั้นตีเป็นไม้ระแนงสามารถยกเปิดปิดเป็นส่วนๆ ได้ จึงเข้าไปบำรุงรักษาได้ง่าย เพิ่มพื้นที่ใช้งานและมิติอีกนิดด้วยการทำพื้นไม้ยกระดับขึ้นมาอีกหนึ่งขั้นยื่นออกไปในน้ำ เพื่อสร้างความรู้สึกเหมือนศาลาท่าน้ำ สำหรับวางเฟอร์นิเจอร์เพื่อรองรับการใช้งาน C. เพิ่มตำแหน่งของลานอเนกประสงค์ให้มีส่วนรองรับการใช้งานอื่นๆมากขึ้น โดยดึงอารมณ์ของลานที่มีอยู่ในตำแหน่งต่างๆของบริษัทมาไว้เป็นการคุมภาพรวมของสวนเข้าไว้ด้วยกัน วางศาลานั่งเล่นเพื่อให้ร่มเงาและสร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การเข้าไปพักผ่อน D. จากเดิมจุดนี้เป็นบ่อน้ำซึ่งไม่ค่อยมีพื้นที่ใช้งาน และบริเวณนี้ก็อยู่ด้านหน้าบริษัท จึงปรับที่ให้ดูเรียบโล่งสามารถมองเห็นตัวอาคารได้ จุดเด่นอยู่ที่การทำพื้นไม้ยกระดับ และมีฉากระแนงไม้เป็นจุดจบสายตา มีลานอเนกประสงค์ให้สามารถเข้ามาใช้งานได้ง่าย ที่มา บ้านและสวน ฉบับที่ 384 |