"บ้านคือวิมานของเรา" หรือ บ้านเราแสนสุขใจ ถึงจะอยู่ที่ไหนไม่สุขใจเท่าบ้านเรา เป็นบางส่วนของเนื้อหาเพลงเกี่ยวกับบ้าน ที่แต่งขึ้นเพื่อเอาใจคนไทยที่รักบ้านโดยเฉพาะ แต่ไม่ว่าจะคนไทย คนอเมริกันหรือคนชาติไหนๆ ย่อมรักบ้านตัวเองอยากให้เป็นสถานที่แสนสุขและปลอดภัยที่สุด แต่ยามเผลอหรือปล่อยให้ธรรมชาติกับเชื้อโรคที่ไม่ได้รับเชิญ เข้ามาเล่นงานหรือทำลายความสุขในบ้านและสุขอนามัยที่ดีภายในที่อยู่อาศัย ย่อมเป็นสิ่งไม่ดีสำหรับเจ้าของบ้าน และโครงสร้างบ้านในระยะยาว ปัญหาข้างต้นเป็นสิ่งที่เกอร์รี่ วิลลิส คอลัมนิสต์ของซีเอ็นเอ็นมันนี่วิตกกังวลแทนเจ้าของบ้านทั่วโลก ทั้งคนไทยและคนอเมริกัน จึงรวบรวมข้อมูลความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงบ้านรับหน้าฝนทั่วสหรัฐ ซึ่งคนไทยและชาติอื่นๆน่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน "การเตรียมบ้านของคุณเมื่อย่างเข้าหน้าฝน" เป็นหัวข้อที่วิลลิสตั้งไว้ ดึงดูดใจคนรักบ้านเข้าไปศึกษา 5 กลวิธี ที่จะช่วยให้บ้านพร้อมเสมอที่จะสู้กับฝน โดยวิลลิสเชื่อว่าแม้เจ้าของบ้านต้องยุ่งอยู่กับการเตรียมสิ่งต่างๆ ให้ลูกๆ เพื่อรับวันเปิดเทอม แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือต้องไม่ละเลยตรวจตราสุขภาพของที่พักอาศัย ช่วงต้นฤดูฝนเป็นเวลาที่เจ้าของบ้านสามารถเตรียมปรับบ้าน เจ้าของบ้านส่วนใหญ่อาจรู้ว่าจะทำความสะอาดรางน้ำหรือท่อน้ำ จะอุดรอยรั่วตามที่ต่างๆภายในบ้านโดยเฉพาะรอบหน้าต่าง ซึ่งอาจทำให้ความเย็นหรือความร้อนในบ้านรั่วได้อย่างไร แต่วิลลิสเชื่อคนไทยในสหรัฐหรือคนอเมริกัน อาจมองข้ามยังไม่รู้ว่ามีปัญหาอื่นที่มองไม่เห็น แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้บ้านแสนรักสุขภาพดีทั้งภายในและภายนอก "ตรวจสอบระบบความร้อน" เป็นข้อคิดแรกที่คนไทยโดยเฉพาะคนไทยในสหรัฐต้องฉุกคิดและเพิกเฉยไม่ได้ เอ็ด เดล แกรนด์ เจ้าของและผู้จัดรายการ Do It Yourself ซึ่งเป็นเครือข่ายของบริษัท "Ed The Plumber." แนะนำเจ้าของบ้านว่า เขาหรือเธออาจจะลืมระบบทำความร้อนไปเลยในช่วงฤดูร้อน แต่เมื่อใดที่ย่างเข้าฤดูหนาว กลับมักจะนึกถึงเครื่องทำความร้อนขึ้นมาทันที ไอเดียของเอ็ดเน้นว่าสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ระบบทำความร้อนทำงานปกติและปลอดภัย เขาแนะนำให้เรียกผู้เชี่ยวชาญระบบทำความเย็นและความร้อนมาตรวจดูระบบปีละครั้งในช่วงย่างเข้าหน้าฝนนี้ หากเจ้าของบ้านใช้ระบบทำความร้อนและความเย็นในตัวเดียวกัน มีการใช้ฟิลเตอร์หรือเครื่องกรองตัวเดียวกัน หากเครื่องสกปรกอากาศเสียจะหมุนเวียนอยู่ภายในบ้าน การเปลี่ยนฟิลเตอร์จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านสามารถทำและควรทำด้วยตัวเองได้ เอ็ดแนะว่าฟิลเตอร์มักจำเป็นต้องเปลี่ยน 3-4 ครั้งในช่วงฤดูหนาว หากเจ้าของบ้านใช้เครื่องทำความร้อนใช้แก๊สเผาผลาญ เจ้าของบ้านควรเรียกช่างตรวจสอบท่อส่งในทุกๆส่วน เพราะก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์อาจรั่วซึมได้ หากปล่อยให้มีรูระบายอากาศรั่วออกมาอย่างไม่เหมาะสม บ้านอาจสะสมก๊าซอันตรายนี้ไว้ได้ ทั้งนี้เอ็ดตั้งข้อสังเกตว่าระบบใช้ความร้อนร่วม หรือForced hot water heating systems ต้องตรวจสอบด้วยเพราะระบบป้องกันการแข็งตัวอยู่ร่วมกับท่อส่งความร้อน ดังนั้น ระบบจะไม่มีการป้องกันน้ำแข็งตัว เมื่อไม่มีการใช้ความร้อน สำหรับค่าบริการตรวจส่วนนี้ เอ็ดประเมินว่าตกประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้หากป้องกันไว้ก่อน ถือว่าคุ้มค่ากว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแน่นอน "ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับระบบความเย็นและการแข็งตัวของน้ำในพื้นดินข้างล่างฐานบ้าน" เป็นคำแนะนำสำหรับคนไทยในสหรัฐโดยเฉพาะ เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นในเมืองหนาวมากกว่า เอ็ดแนะนำให้ใช้ระบบอัดฉีดใต้ดิน( underground sprinkler systems) ระบบข้างต้นมีกระบวนการเกี่ยวกับการเป่าอากาศเข้าไปตามท่อ เพื่อให้เข้าไปแทนที่น้ำ ระบบนี้สำคัญเพราะท่อส่งน้ำปกติจะอยู่ใต้พื้นดินเพียง 6-8 นิ้วและเสี่ยงต่อการที่น้ำจะแข็งตัว หากน้ำเกิดแข็งตัวท่อจะแตกได้ เมื่อนั้นเจ้าของบ้านอาจต้องจ่ายค่าซ่อมแพง และแพงกว่าค่าตรวจสอบได้ นอกจากนี้ วิลลิสยังนำไอเดียของผู้เชี่ยวชาญ มาเตือนเจ้าของบ้านที่มีถังส้วมใต้ดิน ต้องระวังหรือรอบคอบไว้ ก่อนที่น้ำแข็งและหิมะจะปกคลุมพื้นดิน ขอให้ตรวจสอบถังส้วมซึมทุกปีตกปีละครั้ง และให้ทำความสะอาดถังอย่างน้อยทุกๆ 3 ปี "ต้องสำรวจส่วนบนของตัวบ้านอยู่เสมอ" วิลลิสแนะนำว่าข้อนี้ให้เน้นไปที่การตรวจสอบหลังคา ที่อาจมีอายุขัยพอๆ กับเจ้าของบ้าน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องให้ความใส่ใจ เพราะร่างกายคนเราต้องตรวจกันอยู่เสมอปีละครั้ง หลังคาเช่นเดียวกันต้องตรวจดูสภาพกันบ้างว่าดีอยู่หรือไม่ ลองแหงนดูแผ่นไม้ใช้มุงหลังคาว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ และไม่ให้เสียเที่ยวกับการไต่ขึ้นไปตรวจบนบ้าน ขอให้ตรวจดูรางน้ำด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเศษใบไม้หรือซากสัตว์ไปตายติดอยู่ตามราง จะยิ่งดีหากใช้จังหวะนี้ซ่อมแซมรางน้ำให้อยู่ในสภาพดีเสมอ แต่เจ้าของบ้านต้องไม่ลืมที่จะยอมเสียเวลาปีนขึ้นไปตัดกิ่งไม้ที่แห้งตาย หรือแผ่ขยายเข้ามาทิ่มแทงตัวบ้าน โดยเฉพาะกิ่งไม้หนักๆ ต้องจัดการตัดทิ้ง ก่อนจะทำความเสียหายให้กับบ้านแสนรัก "ระวังน้ำก่อความชื้นและต้องป้องกันเชื้อรา" วิลลิสเชื่อว่าความชื้นเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของบ้าน และการระบายอากาศแย่เป็นศัตรูหมายเลข 2 ถ้ารวมศัตรูทั้งสองนี้ไว้ด้วยกัน จะช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมกระตุ้นให้เชื้อราเติบโตได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เชื้อราสามารถสร้างความเสียหายให้บ้านแสนรัก ซึ่งเปรียบดั่งการลงทุนสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิตได้ หนักไปกว่านั้นเชื้อราบางตัวอาจทำให้เจ้าของบ้านและสมาชิกในบ้านเจ็บป่วยได้ ปัญหานี้เอ็ดแนะนำให้ใช้พัดลมระบายอากาศที่ดีในห้องน้ำทุกห้องในบ้าน ซึ่งห้องน้ำถือเป็นแหล่งสะสมความชื้นที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย หลังจากมีการอาบน้ำชำระล้างร่างกาย วิลลิสให้ข้อมูลอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญด้วยว่า ห้องใต้ดินเปียกชื้น และพื้นที่หรือช่องว่างมุดเข้าไปได้ตามส่วนต่างๆ ของบ้าน สามารถก่อสภาพแวดล้อมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อราได้เป็นอย่างดี ให้มองหารอยรั่วในอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน ทั้งรูรั่วที่เกิดจากเครื่องทำความร้อน หรือระบบวัดและตรวจน้ำฝนไหลซึมเข้าบ้าน ถ้าพื้นที่ใดเกิดปัญหาน้ำท่วมรุนแรงบ่อย ยิ่งจำเป็นต้องมีปั๊มไว้สูบน้ำออก แต่หากเจ้าของบ้านมีห้องใต้ดินเปียกชื้น เอ็ดแนะนำให้ใช้เครื่องขจัดความชื้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาความชื้นและเชื้อราภายในบ้าน วิลลิสยังแนะนำทิ้งท้ายข้อคิดนี้ว่า เจ้าของบ้านต้องรู้ว่าวาล์วเปิดปิดอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดความชื้นอยู่ที่ใดบ้าง หากจดจำไว้บ้าง เวลาเกิดรอยรั่วหรือรูที่ทำให้น้ำซึมในบ้าน จะช่วยให้เจ้าของบ้านหาทางปิดต้นน้ำ และป้องกันปัญหาน้ำเฉอะแฉะจนเปียกชื้น กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อราได้ "ระวังอันตรายอันอาจเกิดจากการทำกิจกรรมในโรงรถ" เป็นข้อคิดควรระวังสุดท้าย เพื่อรักษาทะนุบำรุงทั้งภายในและภายนอกบ้านแสนรัก คนไทยในสหรัฐอาจมีโรงรถติดอยู่กับตัวบ้าน เวลาที่เครื่องทำความร้อนให้ความอบอุ่นรั่ว อากาศจากโรงรถย่อมซึมเข้าไปในบ้านได้ หมายความว่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และควันอันตรายอื่นๆ อาจเข้าไปในบ้านได้เช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้องคิดหนักหรือรอบคอบ เกี่ยวกับการอุ่นเครื่องรถยนต์ภายในโรงรถในวันหนาวเหน็บ แต่เจ้าของบ้านต้องคิดให้ดีว่าโรงรถสะสมมลพิษอะไรไว้บ้าง อย่าลืมว่าควันพิษมีทั้งสารเคมีหรืออาหารของเชื้อรา ซึ่งเป็นภัยคุกคามสุขภาพบ้านและคนที่อยู่อาศัย ดังนั้นควรรอบคอบกับการระบายอากาศ โดยต้องใช้วัสดุเป็นพลาสติกและกันน้ำได้ |