บ้านใหญ่หากแต่ว่ารก ไม่เป็นระเบียบก็ดูแออัดได้ ในขณะที่บ้านเล็กหากจัดเก็บทุกพื้นที่เต็มประสิทธิภาพก็ช่วยให้เรียบโล่งได้ไม่ยาก การมีระบบจัดเก็บที่ดีจะช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยอีกทั้งทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย หากพิจารณาให้ดี เกือบจะทุกห้องในบ้านมักจะมีมุมอับซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เช่น พื้นที่ใต้บันได โถงทางเดินขึ้นบันได พื้นที่ใต้หลังคาจากห้องนอน มุมเล็ก ๆ ใต้ซิงก์ในห้องน้ำ หรือแม้แต่หลืบลิ้นชักที่รกเพราะโยนทุกอย่างเอาไว้รวมกัน หากนำมาจัดระบบใหม่ให้สามารถจัดเก็บได้เรียบร้อย ก็อาจจะเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านได้ เทคนิคการสร้างระบบจัดเก็บในพื้นที่ขนาดเล็กมีง่าย ๆ ดังนี้ 1. ซ่อนของในผนัง บางครั้งผนังบ้านได้รับการออกแบบให้หนาขึ้นเพื่อซ่อนงานระบบของท่อต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีความหนาไม่ตลอดแนว หรือ บางครั้งก็หลอกให้ดูหนาตลอดแนวโดยภายในเป็นพื้นที่ว่าง เราสามารถสร้างพื้นที่จัดเก็บโดยทำตู้ซ่อนลึกเข้าไปในผนังส่วนที่ว่างเปล่า หลอกตาให้กลมกลืนไปกับผนังได้ หรือสร้างช่องลึกเป็นชั้นสำหรับโชว์ของสะสม และ เก็บหนังสือขนาดเล็กได้ 2. ใช้ตู้เก็บของเป็นส่วนกั้นห้อง เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บของภายในบ้าน แทนการกั้นห้องด้วยผนังธรรมดา ซึ่งจะทำให้ลดพื้นที่ผนังและเพิ่มพื้นที่ใช้สอยระหว่างห้อง อีกทั้งหากเราสามารถออกแบบให้ตู้ดังกล่าวเคลื่อนย้ายได้ พื้นที่ในบ้านก็จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นอีกด้วย 3. พื้นที่ใต้บันได มักมีปัญหาการจัดเก็บที่ยาก เนื่องจากระดับของขั้นบันไดทำให้การเข้าถึงเป็นไปได้ยาก อาจแก้ไขได้ด้วยการทำพื้นที่จัดเก็บเป็นแบบลิ้นชักแทนที่จะเป็นตู้ หรือ ทำเป็นตู้ติดรางเลื่อนที่สามารถดึงออกมาใช้งานได้แทนการเป็นตู้ติดตายกับที่ แต่หากบันไดเป็นแบบโปร่ง การทำเฟอร์นิเจอร์ติดตั้งกับที่อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมเนื่องจากจะมองเห็นจากแนวลูกตั้งบันได การเก็บของจึงควรเปลี่ยนเป็นเก็บด้วยเครื่องเรือนลอยตัว เช่น ตู้ลิ้นชักจีนใบเก๋ หรือ หีบเก่านำมาวางซ้อนกัน สำหรับการจัดเก็บใต้บันไดเพื่อเป็นชิ้นโชว์ในขณะเดียวกัน 4. พื้นที่ใต้หลังคา มักมีปัญหาในการจัดเก็บเนื่องจากอยู่สูง ทำให้เข้าถึงได้ยาก สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของห้องชั้นล่างด้วยการเปิดฝ้าเพดานทำเป็นชั้นลอยและทำบันไดเวียนสำหรับขึ้นลงเพื่อไม่ให้กินพื้นที่ บริเวณที่หลังคาชนกับผนังอาจปิดด้วยบานเลื่อนเพื่อไม่ให้เกิดซอกมุมแหลมที่ทำความสะอาดยาก และยังสามารถเก็บของใส่กล่องขนาดเล็กซ่อนไว้ภายในได้ด้วย หรือหากไม่ต้องการเปิดพื้นที่ให้เชื่อมถึงกัน ควรทำโครงสร้างพื้นที่รับน้ำหนักได้เพียงพอก่อนทำชั้นเก็บของที่ถ่ายเทน้ำหนักลงพื้น ไม่ถ่วงกับโครงสร้างของหลังคา 5. โถงทางเดินที่มีขนาดใหญ่ โดยมากคนทั่วไปมักไม่นิยมเก็บของบริเวณโถงทางเดิน เนื่องจากจะทำให้รกได้ง่าย ดูเกะกะไม่เป็นระเบียบและกีดขวางการสัญจรภายในบ้าน แต่หากโถงทางเดินในบ้านมีขนาดใหญ่ อาจลองสังเกตดูว่าโถงนี้ใช้งานบ่อยในช่วงเวลาใด และในเวลาที่ไม่ได้ใช้เราอาจซ่อนประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่นร่วมบริเวณดังกล่าว เช่น หากโถงนี้ใช้งานมากช่วงเวลาเช้าและเย็น แต่ไม่ได้ใช้เลยเวลากลางคืน และคนในบ้านใช้เวลาทำงานในช่วงดึก เราก็อาจสร้างชุดเคาน์เตอร์ทำงานที่ซ่อนด้วยบานเลื่อนหรือบานเฟี้ยมขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถปิดพื้นที่ดังกล่าวเวลากลางวันและเปิดใช้ได้ในเวลากลางคืนได้ เป็นต้น 6. ใต้เคาน์เตอร์ในห้องน้ำหรือห้องครัว ใต้เคาน์เตอร์ส่วนมากมักจะทำเป็นตู้สำหรับซ่อนงานระบบท่อน้ำ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ใช้งานอย่างอื่นเลยนอกจากเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด เราอาจเพิ่มลิ้นชักตื้น ๆ บริเวณด้านบนติดขอบอ่างสำหรับเก็บสบู่ แปรงสีฟันหรือเครื่องใช้ประเภทสำลี ไม้พันปลายสำลี และขวดโลชั่นเล็ก ๆ ทำขอเกี่ยวเก็บอุปกรณ์ หรือซ่อนถังขยะไว้ในตู้ได้ 7. ในลิ้นชัก การจัดเก็บควรแบ่งเป็นระบบหมวดหมู่ที่ชัดเจน การเก็บของในลิ้นชักหากเป็นเครื่องเขียนควรซื้อถาดสำเร็จสำหรับอุปกรณ์สำนักงานมาใส่ เพื่อแบ่งแยกเครื่องเขียนขนาดเล็กให้หยิบใช้งานได้ง่าย แต่หากเป็นลิ้นชักเก็บเครื่องประดับ อาจทำช่องสำหรับใส่เครื่องประดับแต่ละชนิดและบุผ้าเพื่อให้เครื่องประดับไม่เกิดรอยขีดข่วน เป็นต้น ตัวอย่างดังกล่าวเป็นวิธีง่าย ๆ ในการจัดพื้นที่ขนาดเล็กให้สามารถมีพื้นที่ใช้สอยได้อย่างคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด ลองสำรวจบ้านที่อยู่และจัดระบบเสียใหม่บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าบ้านของคุณนั้นมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยเห็นก็เป็นได้ ------------------------------------------------------------- ข้อมูลจากหนังสือแนะนำการแต่งบ้านดี ๆ ติดตามได้จาก ELLE DECORATION เดือนสิงหาคม 2549 ฉบับที่ 90 |