บ้านตึกแถวทั่วไปมักจะมีพื้นที่บนดาดฟ้าซึ่งปกติเจ้าของบ้านมักจะปล่อยไว้เฉยๆหรือไม่ก็ใช้เป็นที่ตากเสื้อผ้า เก็บแท็งก์น้ำหรือของอื่นๆ ซึ่งทำให้ทัศนียภาพที่ออกมาดูไม่ค่อยน่ามองเท่าไร ที่จริงเราสามารถทำดาดฟ้าให้กลายเป็นห้องธรรมชาติไว้ชื่นชมต้นไม้นานาชนิดได้ บ้านและสวน มีวิธีสร้างสวนดาดฟ้าที่ถูกต้องมาแนะนำ โดยสิ่งสำคัญในการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงมีดังนี้ โครงสร้างและการรับน้ำหนัก เนื่องจากโครงสร้างพื้นเหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักมากๆอย่างการจัดสวน เมื่อดัดแปลงมาใช้จัดสวนจึงต้องคำนึงถึงน้ำหนักส่วนเกินที่พื้นต้องรับเพิ่ม เช่น ต้นไม้ ดิน กระถาง เครื่องปลูก ของแต่งสวน และน้ำที่ใช้รดต้นไม้ หากไม่ได้เสริมโครงสร้างพื้นให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น ก็อาจต้องลดน้ำหนักเครื่องปลูกลง ด้วยการใช้ส่วนผสมที่มีน้ำหนักเบาแทนดินปลูก เช่น ขุยมะพร้าวสับ ขี้เถ้าแกลบ รวมไปถึงการใช้หินเทียมแทนหินจริง หรือแม้แต่การลดขนาดและจำนวนของต้นไม้ลง โดยทั่วไปโครงสร้างพื้นดาดฟ้าสามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 610 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หากจำเป็นต้องรับน้ำหนักมากไปกว่านี้ ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อเสริมโครงสร้างให้สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น ระบบกันรั่วกันซึม ก่อนลงมือจัดสวนบนดาดฟ้า ควรมีการจัดเตรียมพื้นให้ดีเพื่อป้องกันการรั่วซึม โดยทาน้ำยากันรั่วซึมเคลือบที่พื้นก่อนหนึ่งชั้น ก่อนวางระบบระบายน้ำทิ้ง มิเช่นนั้นก็อาจต้องก่อเป็นสวนกระบะขึ้นมา เพื่อให้ง่ายต่อการเตรียมระบบกันรั่วกันซึม โดยทาน้ำยากันซึมเคลือบพื้นกระบะ หรือปูแผ่นผืนพีวีซีกันรั่วซึมรองตลอดทั่วก้นกระบะ ก่อนจะเตรียมระบบระบายน้ำทิ้งต่อไป แต่หากต้องการจัดสวนจริงลงบนพื้นระเบียงดาดฟ้าเลย อาจต้องเสริมแผ่นพื้นกันความชื้นและกันน้ำอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนแรกที่เทพื้นคอนกรีต เพื่อป้องกันปัญหาการรั่วซึมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ระบบระบายน้ำ โดยทั่วไปแล้วพื้นดาดฟ้าต้องลาดเอียงให้น้ำไหลลงสู่ท่อน้ำทิ้ง เป็นการระบายน้ำที่ผิวหน้า แต่หากต้องการจัดสวนอาจต้องเพิ่มท่อระบายน้ำที่เจาะรูรอบ แล้วต่อท่อแบบก้างปลาช่วย วางข้างใต้แผ่น Solar Slab ที่ปูเรียงเต็มบนพื้นดาดฟ้าหรือพื้นกระบะปลูกต้นไม้ ก่อนคลุมด้วยแผ่นตาข่ายพีวีซีสีฟ้า จากนั้นเทเปลือกมะพร้าวสับละเอียดอีกชั้นหนึ่ง แล้วตามด้วยทรายหยาบ คลุมปิดด้วยตาข่ายพีวีซีสีฟ้าอีกครั้ง ก่อนเป็นชั้นของดินผสมสำหรับปลูกต้นไม้ต่อไป เตรียมพื้นดาดฟ้าก่อนจัดสวน ก่อนลงมือจัดสวนบนพื้นดาดฟ้าควรเตรียมการดังต่อไปนี้ 1. ชั้นพื้นดาดฟ้า โดยปกติแล้วจะมีความความลาดเอียงประมาณ 1 : 200 เพื่อให้น้ำไหลลงสู่รูระบายน้ำ การเลือกตำแหน่งในการติดตั้งหัวท่อระบายน้ำจึงควรวางอยู่ใกล้เคียงกับรูระบายน้ำของพื้นเดิม เพื่อสะดวกในการเดินระบบท่อระบายน้ำ 2. ชั้นวัสดุกันรั่วกันซึม ปกติแล้วต้องเสริมแผ่นพื้นกันความชื้นและกันน้ำอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนแรกที่เทพื้นคอนกรีต แล้วจึงทาน้ำยากันซึมเคลือบอีกชั้นก่อนวางแผ่น Solar Slab 3. ชั้นวัสดุระบายน้ำ เริ่มตั้งแต่วางแผ่น Solar Slab ก่อน วางท่อพีวีซี ที่เจาะรูรอบแล้วต่อท่อแบบก้างปลาใต้แผ่น Solar Slab คลุมด้วยตาข่ายพีวีซีสีฟ้า ถัดมาเป็นเปลือกมะพร้าวสับละเอียดและทรายหยาบ แล้วปิดคลุมด้วยตาข่ายพีวีซีสีฟ้าหรือกระสอบถุงปุ๋ยอีกครั้ง เพื่อกันเศษดินไหลลงไปยังท่อระบายน้ำ สร้างปัญหาท่ออุดตันในอนาคต 4. ชั้นดินปลูก เป็นชั้นดินผสมสำหรับปลูกต้นไม้ ควรมีความลึกของชั้นดินไม่น้อยกว่า 0.40 เมตร และสูงไม่เกิน 1.00 เมตร ดินผสมที่ใช้ควรมีน้ำหนักเบาและระบายน้ำได้ดี และควรเติมดินทุก 1- 3 เดือน พรรณไม้ ควรเลือกพรรณไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ทนทาน และดูแลง่าย โดยเฉพาะไม้อวบน้ำ บนดาดฟ้ามักมีลมแรง ควรเลือกใช้พวกที่มีใบละเอียดเล็กและไม่ร่วงมาก หากเป็นไปได้ควรปลูกต้นไม้ลงในกระถาง เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย การดูแลรักษา และที่สำคัญสามารถโยกย้ายสับเปลี่ยนพรรณไม้ได้ตามความพอใจ ตัวอย่างพรรณไม้ เช่น หมากเขียว โมก โกสน เล็บครุฑ ชบา เข็มสามสี หูปลาช่อน การะเกด ผกากรอง บุษบาฮาวาย กุหลาบหิน จั๋งจีน ใบเงิน ใบทอง ใบนาก มะขามเทศด่าง เป็นต้น |