มีตัวอย่างสวนกระถาง ในพื้นที่จำกัด 3 รูปแบบ ซึ่งจะช่วยให้คุณเห็นไอเดียการนำไม้กระถางมาใช้ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาและเพื่อสร้างบรรยากาศสวนที่สวยงาม พร้อมทั้งเทคนิคการจัดสวนกระถาง วิธีปลูกและดูแลไม้กระถางสำหรับมือใหม่ และ ตัวอย่างการจับคู่ต้นไม้กับกระถาง ที่จะทำให้คุณกลายเป็นเซียนจัดสวนกระถางได้ แบบไม่ยากจนเกินไป 1.สวนกระถางข้างบ้าน-หลังทาวน์เฮ้าส์ สำหรับบ้านเดี่ยวขนาดเล็กหรือทาวน์เฮ้าส์ มักมีพื้นที่จัดสวนเหลือเพียงเล็กน้อยรอบๆบ้าน แต่พื้นที่ลักษณะนี้ก็มีข้อได้เปรียบ เพราะมีผนังบ้านเป็นฉากหลัง จึงช่วยให้สวนดูเต็มได้โดยไม่ต้องใช้ต้นไม้จำนวนมาก แค่จัดวางกระถางชิดกำแพง หรือขนาบสองข้างทางเดิน ก็เนรมิตสวนสวยได้ไม่ยาก
ปลูกต้นอะไรดี แม้จะที่เหลือน้อย แต่ด้านบนยังเปิดโล่ง ที่สำหรับต้นไม้ในกระถางจึงมีมากชนิด จะต้นสูงหรือเตี้ยไม่มีปัญหา ที่สำคัญความกว้างของทรงพุ่มต้องพอดีกับพื้นที่ และสภาพแสงต้องเหมาะกับต้นไม้ หากที่แคบอยู่ทางฝั่งทิศใต้ แนะนำให้ใช้ไม้ทนแดด เช่น จันทน์ผา สนดินสอ ไทร ปาล์มบางชนิด อย่างปาล์มหางสุนัขจิ้งจอก ปาล์มน้ำพุ หรือหมากเขียว แต่หากได้ร่มเงาจากไม้ต้นสูงแล้ว ไม้ต้นเตี้ยกว่าก็สามารถเป็นไม้ร่มได้ ส่วนทิศอื่นๆ ล้วนแต่ได้รับแดดอย่างน้อยครึ่งวัน ไม้กึ่งแดดกึ่งร่มจึงน่าจะเหมาะกว่า เช่น โมก แก้ว หมากแดง หรือหมากเหลือง รวมทั้งไม้ร่มที่เป็นไม้ใบสวยๆอีกหลายชนิดก็อยู่ได้ สวนที่กระถางเป็นพระเอก 1.เลือกกระถางให้หลากหลาย สีสันรูปทรงและวัสดุที่หลากหลายของกระถาง เมื่อนำมาอยู่รวมกัน จะช่วยสร้างความน่าสนใจ แต่ถ้าคุณเป็นมือใหม่หัดจัด อาจคุมโทนสีของกระถางโดยเลือกใช้แค่ 2-3 สีก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สีในสวนดูเลอะเทอะเกินไป 2.ทิ้งช่องไฟให้กระถางได้อวดโฉม ต้นไม้ที่จับคู่กับกระถางได้ลงตัวนั้นจะดูสวยงามด้วยตัวเอง เมื่อนำมาจัดวางเรียงต่อกันหรือซ้อนแถว ควรเว้นระยะห่างระหว่างกระถางสักเล็กน้อย เพื่อให้เห็นรูปทรงของกระถางและต้นไม้ได้ชัดเจนขึ้น 3.ยกกระถางให้ดูเด่น ไม้กระถางขนาดเล็ก หรือที่คุณโปรดปรานเป็นพิเศษ อาจวางให้อยู่ในระดับที่ชื่นชมได้ใกล้ชิด โดยวางบนโต๊ะ เก้าอี้ หรือทำชั้นวางปะปนกับกระถางที่วางบนพื้น เป็นการเพิ่มมิติให้กับสวนได้อีกทางหนึ่ง 2. สวนกระถางนอกระเบียง พื้นที่ระเบียง มีข้อจำกัดในการจัดสวนหลายอย่าง ทั้งพื้นที่ที่ส่วนมากจะแคบและยาว รับน้ำหนักมากๆไม่ได้ บางครั้งมีชายคาเป็นตัวกำหนดความสูงของต้นไม้ และเป็นทางผ่านของแสงเข้ามาสู่ภายในห้อง (ปลูกต้นไม้ทึบมาก ห้องจะมืด)การจัดสวนกระถางบนระเบียง จำนวนของไม้กระถางจึงต้องพอดีกับขนาดพื้นที่ และไม่ควรเลือกต้นไม้ที่กินพื้นที่ทางกว้างมาก ที่เหลือก็แค่กำหนดรูปแบบการใช้งานให้ชัดเจน ว่าจะใช้นั่งนอนเอกเขนก แค่นั่งชมวิวชั่วครู่ หรือ แค่มีไว้ชื่นชมจากในห้อง เพื่อให้สวนกระถางบนระเบียงตอบสนองความต้องการได้ตรงประเด็น ปลูกต้นอะไรดี ขึ้นอยู่กับสภาพแสงของมุมระเบียงนั้นๆ หากได้รับแดดไม่เต็มวันต้องเลือกใช้ต้นไม้ที่สามารถอยู่รอดได้ เช่น ไม้ทนร่ม ส่วนใหญ่เป็นไม้ใบชนิดต่างๆ อย่าง เฟิร์น จั๋ง สาวน้อยประแป้ง หมากผู้หมากเมีย เดหลี หรือหน้าวัวใบ แต่หากระเบียงได้รับแดดเต็มๆ ก็ควรเลือกต้นที่ทนแดดได้ดี ระวังอย่าเลือกใช้ไม้ใบที่มีขนาดใบใหญ่เกินไปเพราะอาจถูกลมพัด ใบฉีกขาดได้ และไม่ควรเลือกต้นไม้ที่ลำต้นแผ่นกว้าง กินพื้นที่มาก อย่างปาล์มพัด ปาล์มจีน ต้นไม้ที่ตัดแต่งทรงพุ่มได้ ประเภท ไทร แก้ว หรือ ชาปัตตาเวีย ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสวนระเบียง จัดสวนกระถางให้ดูเป็นธรรมชาติ วิธีง่ายๆที่จะทำให้สวนกระถางของคุณ ดูไม่ต่างจากสวนที่ปลูกลงดินเลย 1.พรางกระถางอย่างมีชั้นเชิง * เลือกใช้กระถางเรียบๆสีเดียว อย่างกระถางดินเผา เพื่อพรางกระถางไม่ให้ดูเด่นสะดุดตา * ก่อกระบะต้นไม้เพื่อพรางไม่ให้เห็นกระถาง หรืออาจใช้ไม้หมอนรถไฟ อิฐมอญ อิฐบล็อกประสาน หรืออิฐมวลเบามาวางเรียงเป็นขอบกระบะแบบชั่วคราว ซึ่งสะดวกต่อการปรับเปลี่ยนในอนาคต 2.สร้างระดับเลียนแบบธรรมชาติ * จัดวางต้นไม้ให้มีความสูงลดหลั่นกัน ด้านหลังวางต้นสูง ส่วนด้านหน้าวางต้นเตี้ย ให้เหมือนสวนธรรมชาติ และสร้างมิติในการมอง แต่หากไม้กระถางที่มีอยู่มีความสูงใกล้เคียงกัน ก็อาจปรับระดับพื้นโดยหาก้อนอิฐหรือคว่ำกระถางเปล่าที่ไม่ใช้มาวางหนุนไม้ กระถางให้สูงขึ้นแทน นอกจากจะช่วยให้ต้นไม้มีความต่างระดับแล้ว ยังช่วยพรางไม่ให้เห็นกระถางต้นไม้ได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย * เรียงไม้กระถางที่อยู่แถวหน้าชิดกับขอบทางเดินหรือขอบกระบะ ให้เอียงเล็กน้อย เพื่อช่วยให้กิ่ง ก้าน ใบ ยื่นล้ำออกมาจากแนวขอบอย่างเป็นธรรมชาติ 3.เลือกพรรณไม้ ให้มีความหลากหลาย * ในพื้นที่เดียวกัน ควรมีทั้งไม้ทรงสูง ไม้ทรงพุ่มขนาดกลาง และไม้คลุมดิน เลียนแบบลักษณะสวนธรรมชาติที่มักมีชนิดและขนาดของต้นไม้ที่หลากหลาย 3.สวนกระถางบนดาดฟ้า การจัดสวนกระถางบนพื้นที่โล่งแจ้งอย่างดาดฟ้า ควรเลือกใช้ไม้กระถางทรงสูงลดทอนความเวิ้งว้าง และจัดวางเป็นแนวแทนกำแพงเพื่อสร้างระนาบปิดล้อม เพิ่มความเป็นส่วนตัวและน่าเข้าไปใช้งานบางครั้ง หากพื้นที่กว้างมาก อาจต้องหาวิธีพรางกระถางด้วยกระบะ เพื่อให้สวนกระถางดูเป็นกลุ่มก้อน ไม่กระจัดกระจาย ที่สำคัญคือเรื่องความร้อน ข้อจำกัดที่ทำให้สวนดาดฟ้ามักถูกทิ้งร้าง พื้นสวนดาดฟ้าจึงควรปูวัสดุที่ไม่เก็บความร้อน และเตรียมระบบระบายน้ำให้ดี เพื่อลดปัญหาน้ำซึมสู่ห้องด้านล่าง
ปลูกต้นอะไรดี ไม้กระถางที่เหมาะกับสวนกระถาง บนดาดฟ้า ควรมีผิวสัมผัสใบละเอียดเล็ก ดูนุ่มสบายตา และไม่ฉีกขาดง่ายอันเนื่องมาจากสภาพลมแรง เป็นไม้ทนแดด และไม่ต้องการน้ำมากนัก ต้นไม้เหล่านี้มีทั้งไม้ใบ เช่น ไทร สน ปาล์ม จันทน์ผา จันทน์หอม และไม้ดอกมีกลิ่นหอม อย่างเช่น โมก แก้ว ลั่นทม ชวนชม มือใหม่ปลูกไม้กระถาง
เทคนิคเล็กๆน้อยๆ ที่จะช่วยให้ไม้กระถางอยู่กับคุณไปนานๆ เมื่อซื้อต้นไม้มาใหม่ๆ ควรนำออกจากถุงดำหรือกระถาง วางพักในที่ร่มรำไร รดน้ำให้ชุ่ม แล้วทิ้งไว้ข้ามคืนก่อนปลูกลงกระถาง เพื่อช่วยให้ต้นไม้ตั้งตัวได้ ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ซื้อมามักปลูกในวัสดุเพาะชำมากกว่าดินปลูก จึงควรเปลี่ยนมาปลูกในดินที่เหมาะกับชนิดต้นไม้ใหม่ทุกครั้ง ก่อนปลูกต้นไม้ลงกระถาง อย่าลืมวางเศษกระถางแตก ใส่โฟมหักเป็นก้อนเล็กๆ อิฐมอญทุบ หรือถ่านอย่างใดอย่างหนึ่งที่ก้นกระถาง เพื่อให้ก้นกระถางโปร่ง ระบายน้ำได้ดี หากต้นไม้ที่ซื้อมามีตุ้มรากแน่นเกินไป ควรตัดแต่งรากเก่าทิ้งออกไปบ้าง เพื่อช่วยให้ตุ้มรากโปร่ง ระบายอากาศดี และยังช่วยกระตุ้นให้รากแตกแขนงออกมาใหม่ ทำให้ต้นไม้แข็งแรงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ปลูกต้นไม้ลงกระถางให้ถูกวิธี ใส่ดินในกระถางให้เป็นมูลดินมียอดแหลมสูงเท่ากับระดับที่ต้องการ วางโคนต้นไม้ลงบนยอดแหลม ค่อยๆจัดระบบ รากให้แผ่ลาดไปตามมูลดิน เติมดินให้เต็มกระถางที่รอบๆโคนต้นเสียก่อน ค่อยๆกดดินรอบโคนต้นเบาๆ เพื่อไล่โพรงอากาศในดิน ทำให้ระบบรากสัมผัสกับดินได้ทั่วถึง ระวังให้ระดับของดินต่ำกว่าขอบกระถางพอประมาณ รดน้ำให้ชุ่ม หากดินยุบตัว เติมดินเพิ่มตามความเหมาะสม หมั่นสังเกตดูแลให้ดินอยู่ต่ำกว่าขอบกระถางในระดับพอดี หากดินสูงกว่าหรือเท่ากับขอบกระถางจะทำให้น้ำไหลล้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เวลารดน้ำต้นไม้ แต่หากดินต่ำกว่าขอบกระถางมากเกิน จะทำให้รากลอย เกิดความชื้นสะสม เป็นสาเหตุให้โคนต้นเน่าหรือติดโรคอันเนื่องมาจากเชื้อราได้ การรดน้ำไม้กระถาง ควรรดที่โคนต้นมากกว่าฉีดน้ำรดแรงๆที่พุ่มใบ นอกจากจะทำให้ทรงพุ่มและใบเสียหายแล้ว แรงดันของน้ำยังทำให้ดินปลูกกระจายหกเลอะเทอะ และน้ำไหลทิ้งออกไปมากกว่าซึมลงในกระถาง เป็นการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อดินยุบอัดตัวแน่น ควรพรวนดินก่อนรดน้ำ แล้วเติมดินหรือวัสดุปลูกให้อยู่ในระดับเหมาะสม ข้อมูลจาก บ้านและสวน ฉบับที่ 376
|