งานเปิดตัว Cotto Tiles Library หรือ "ห้องสมุดกระเบื้องคอตโต้" สาขาภูเก็ต ที่จัดขึ้นภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครจะคิดว่าคอตโต้สามารถหยิบ "กระเบื้อง" กับ "แฟชั่น" มาผสมผสานกันและสร้างสีสันให้กับงานได้อย่างลงตัว เป้าหมายเพื่อสื่อว่ากระเบื้องไม่ได้เป็นเพียงแค่วัสดุตกแต่งอีกต่อไป แต่เป็นงานดีไซน์ที่มีไอเดีย อันเป็นคีย์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า และดันให้กระเบื้อง "คอตโต้" ก้าวไปสู่การเป็นท็อปแบรนด์ในตลาดโลก บรรยากาศของงานในวันนั้นนอกจาก 2 สาว "แอน ทองประสม-นัท มีเรีย" ที่มาพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในงานศิลปะ และไฮไลต์จากบรรดานายแบบ นางแบบ 10 ชีวิต ที่สวมเครื่องประดับทำจากกระเบื้องมาเดินแฟชั่นโชว์ร่วม 15 นาที ภายในงานยังเต็มไปด้วยแขกวี.ไอ.พี. ที่คอตโต้ส่งเทียบเชิญมาร่วมงาน อาทิ "ทินกร รุจิณรงค์" นายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย "ทวีจิตร จันทรสาขา" อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยาม "ภาวินี สันติศิริ" อินทีเรียดีไซน์จากบริษัท สหัสชา (1993) จำกัด "ผมมองอนาคตมากกว่า คิดว่าการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์สึนามิ จะทำให้ความต้องการใช้กระเบื้องเพิ่มขึ้น ทดลองเปิดมา 2 สัปดาห์มีลูกค้าเข้ามาเฉลี่ยวันละ 20-30 ราย ถือว่าเยอะนะ" พิชิต ไม้พุ่ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างซิมเมนต์ไทย จำกัด กล่าว ห้องสมุดกระเบื้องไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นโชว์รูม เป้าหมายจริงๆ ยังรวมถึงการอุดช่องโหว่ "loss sale" หรือยอดขายที่สูญเสียไปจากการที่ลูกค้าไม่สามารถหากระเบื้องลวดลายที่ชอบจากร้านดีลเลอร์ได้ โดยมีระบบไอทีสืบค้นได้ทันทีว่าร้านดีลเลอร์รายใดที่มีสินค้าตัวนี้อยู่บ้าง ที่ผ่านมาคอตโต้เสียโอกาสตรงนี้ไปพอสมควร จากการเก็บข้อมูลในภูเก็ตพบว่าในลูกค้า 100 ราย มีถึง 30 ราย ที่เข้าร้านแล้วไม่สั่งสินค้าเพราะไม่มีกระเบื้องลวดลายที่หมายตาไว้ให้ดู ภายในปีหน้าจึงวางแผนเปิดตัวห้องสมุดกระเบื้องให้ได้อีก 5 แห่ง การตั้งเป้าหมายเป็นท็อปแบรนด์ในตลาดโลก อีกด้านหนึ่งคอตโต้ก็กำลังเร่งขยาย "Cotto Tiles Library" ตามร้านดีลเลอร์ในต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโชว์รูมและจุดขายกระเบื้องไปในตัว จากที่มีห้องสมุดกระเบื้องอยู่ในประเทศอินเดีย (เมืองมุมไบ) เกาหลี จีน และเนปาล เตรียมเปิดสาขาใหม่ในเวียดนาม มีพื้นที่ 400 ตารางเมตร "ผมว่าปีหน้าเราจะไปถึงอันดับ 5 ของโลกได้แน่ จาก 6 ปีก่อนเราอยู่อันดับที่ 50 กว่าๆ ตัววัดก็คือการมียอดขายถึงระดับ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ซึ่งปีที่แล้วเราทำได้ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ วิธีการคือต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อเพิ่มราคาขายเฉลี่ยกระเบื้องส่งออกจากตารางเมตรละ 15 เหรียญสหรัฐ ให้เป็น 20 เหรียญ" แนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า เป็นสิ่งที่เห็นได้การจัดงานเปิดตัวเทรนด์กระเบื้องปี 2006 ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพระเอกอยู่ที่การเปิดตัวกระเบื้องโมเสกแก้วรุ่น Fiorina ที่ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ได้ และรุ่น Bedding กระเบื้องที่ดีไซน์เป็นทรงกลมขนาด 20 เซนติเมตร ที่จะนำไปโชว์ในงาน Cersaie 2005 ที่เมืองโบโลนญา อิตาลี ในเดือนกันยายนนี้ "เราอยากทำอะไรที่แตกต่างเพื่อสร้างอิมเมจให้กับแบรนด์ กับรุ่น Fiorina จะเหมาะกับคนที่มีเวลาอยู่กับบ้าน มีความสุขกับกลิ่นของกระเบื้องเหมือนสปาบำบัด ส่วน Bedding น่าจะเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบเหมือนใคร" เทวินทร์ วรรณบำรุง ดีไซน์ ไดเร็กเตอร์ กระเบื้องคอตโต้ พร้อมกับตั้งความหวังว่าซักวัน "คอตโต้" จะเป็นก้าวไปไกลถึงขั้นขายดีไซน์และโนว์ฮาว กระเบื้อง ! |