การใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนบริการทางการเงิน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการบริการทางการเงิน เทคโนโลยีถือเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับความสัมพันธ์ของลูกค้าได้ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินทุกรายจะสามารถใช้งานเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพได้เหมือนๆ กัน เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการมาเกี่ยวข้อง นายทวีศักดิ์ แสงทอง ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ อธิบายให้เห็นถึงวิธีที่โซลูชั่นจัดเก็บข้อมูลที่ดีที่สุดจะสามารถเพิ่มอำนาจให้กับอุตสาหกรรมการธนาคาร ตลอดจนปรับปรุงความสามารถในการผลิตและปกป้องข้อมูลที่มีค่าของลูกค้าได้ อุตสาหกรรมการบริการทางการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นส่วนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อย่างมั่นคงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการเปิดเสรีของภาคอุตสาหกรรมนี้ การผ่อนปรนกฎระเบียบ การรวมและเข้าซื้อกิจการ และการพัฒนาของธนาคารทางอินเทอร์เน็ตได้นำไปสู่การรวมตัวของอุตสาหกรรมให้เป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เทคโนโลยีที่สถาบันทางการเงินต้องการใช้งานมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการใช้จ่ายด้านไอทีที่เพิ่มขึ้นในตลาดกลุ่มธนาคารของภูมิภาคแห่งนี้ สิ่งสำคัญที่จะประเมินว่าธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้นอย่างไรนั้น อยู่ที่ลูกค้าและการนำเทคโนโลยีหลักๆ มาใช้งาน สิ่งเหล่านี้กำลังมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยการให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสัมพันธ์กับลูกค้า ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ต้องเสริมความแข็งแกร่งในด้านการดำเนินงานหลักของพวกเขา ตั้งแต่ทรัพยากรมนุษย์ ไปจนถึงการจัดการข้อมูล สิ่งที่ทำให้ซีไอโอสะดุ้งตื่นยามค่ำคืน หลากปัญหา การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของข้อมูลได้นำไปสู่ปัญหามากมาย ที่ต้องอาศัยการจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (ซีไอโอ) ที่ทำงานอยู่ในสถาบันการเงินต่างๆ กำลังเจอกับปัญหาที่เกี่ยวกับข้อมูลและต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อควบคุมและจัดการระบบของพวกเขาให้ดีขึ้น การควบคุมค่าใช้จ่ายด้วยการให้ความสำคัญกับการวางแนวธุรกิจกับเป้าหมายเทคโนโลยีระบบจัดเก็บข้อมูล การจัดการความเสี่ยง และการปกป้องข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่บรรดาซีไอโอกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาภายใน การจัดการไอทีโดยใช้แง่มุมทางธุรกิจ ในด้านธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนทางธุรกิจไม่ใช่ความสามารถในด้านการประหยัดงบประมาณได้สำเร็จ แต่สิ่งที่ถูกต้องคือการกำหนดการใช้ทรัพยากรเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าทางธรุกิจอย่างดีที่สุด (หรือเกือบดีที่สุด) ในด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าการวางเทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นแนวทางเดียวกับธุรกิจจะเป็นข้อกำหนดขององค์กรด้านไอทีมาหลายปีแล้ว แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลของธนาคารหลายแห่งกำลังประสบปัญหาความซ้ำซ้อน ระบบจัดเก็บข้อมูลและการเพิ่มจำนวนอย่างมากของสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ปัญหาขององค์กรด้านการเงินคือการกำจัดความซ้ำซ้อนขณะที่ต้องแน่ใจได้ถึงความคุ้มค่าของโซลูชั่นและการปรับปรุงความสามารถในการผลิตทางธุรกิจในระยะยาวให้ดีขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น โซลูชั่นจัดเก็บข้อมูลจะต้องมีผลด้านบวกต่อธุรกิจโดยตรง กล่าวคือเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลจะต้องทำให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้ ตลอดเวลา ต้องถูกกำหนดไว้อย่างใกล้ชิดกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ปัญหาภายใน การดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันโลกธุรกิจที่ดำเนินงานตลอดเวลา การเข้าถึงแอพพลิเคชั่นและข้อมูลที่รวดเร็วและเป็นไปได้ต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จ ในอุตสาหกรรมการบริการทางการเงิน เวลาคือตัวเงินและหากระบบหยุดทำงานย่อมจะสร้างความเสียหายได้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะนั่นจะส่งผลให้รายได้หายไปได้นับล้านดอลลาร์ สิ่งที่ธนาคารทุกแห่งจะต้องดำเนินการให้ได้ก็คือความสามารถในการดำเนินงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ด้วยความพร้อมใช้งานของข้อมูล 100% เท่านั้นที่จะช่วยให้การดำเนินการฟังก์ชั่นสำคัญทางธุรกิจเป็นไปได้ จากแนวทางดังกล่าวทำให้คำว่าการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity: BC) และ การกู้คืนข้อมูลที่เสียหาย (Disaster Recovery: DR) กลายเป็นส่วนหนึ่งของพจนานุกรมด้านไอทีและธุรกิจไปแล้ว และยังเป็นส่วนที่ทำให้งบประมาณด้านไอทีของสถาบันบริการด้านการเงินเพิ่มมากขึ้นด้วย จะเห็นได้ว่าหากระบบหยุดทำงาน ความเสียหายโดยธรรมชาติมีจำนวนไม่ถึง 5% ขณะที่กว่า 80% เป็นผลมาจากปัญหาภายใน เช่น ข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ การอัพเกรดแพทช์ (โปรแกรมซ่อมแซม) การเปลี่ยนแปลงการกำหนดค่า ไฟดับ และเครือข่ายล่ม สถาบันทางการเงินต่างๆ ตระหนักว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการหยุดทำงานของระบบ นอกเหนือจากค่าจ้างพนักงานที่ต้องหยุดทำงานชั่วคราว และรายได้ที่สูญเสียแล้ว ยังมีความเสียหายด้านความน่าเชื่อถือที่ลูกค้ามีต่อองค์กรรวมทั้งการสูญเสียศักยภาพทางธุรกิจด้วย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ธนาคารต่างๆ จะต้องอ้าแขนรับเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อปกป้องเครือข่ายของตนไว้ให้ได้ ปัญหาภายนอก การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ อุตสาหกรรมการบริการทางการเงินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกควบคุมอย่างมากที่สุดในโลก จะเห็นได้ว่าจากกรณีเรื่องอื้อฉาวด้านการตบแต่งบัญชีขององค์กร ความเสี่ยงด้านการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต และความต้องการในการควบคุมองค์กรอย่างต่อเนื่องที่กำลังเพิ่มมากขึ้นได้นำไปสู่การนำกฎระเบียบมาใช้งานมากขึ้น แม้ว่าหลังวิกฤตด้านการเงินในปี 1997 ภูมิภาคเอเชียจะมีการแก้ไขความไม่ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาด้านความปลอดภัยและการฉ้อโกงยังคงมีจำนวนมากในภูมิภาคแห่งนี้ การยึดมั่นมาตรการที่เกี่ยวข้อง อย่าง Basel II, AML, มาตรฐานด้านบัญชีจึงเป็นส่วนที่ธนาคารต่างๆ กำลังถูกเพ่งเล็งอย่างมากในขณะนี้ จากมุมมองด้านข้อมูล สิ่งนี้นำไปสู่ปัญหาใหญ่สองประการสำหรับซีไอโอ ประการแรกคือการตอบสนองมาตรฐานที่เป็นไปตามกฎระเบียบ ส่งผลให้ข้อมูลจำนวนมหาศาลจะต้องได้รับการจัดการและเก็บรักษาเป็นระยะเวลานาน ประการที่สองอยู่ในกรอบการตีความของข้อบังคับใหม่ สำหรับซีไอโอแล้วนั้น ทั้งสองประการคือค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่ต้องเจอค่าปรับ หรือค่าสินไหมทดแทนต่างๆ ดังนั้น โซลูชั่นจัดเก็บข้อมูลที่ทำให้กระบวนการเก็บรักษาข้อมูลเป็นระยะเวลานานได้ง่ายขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการข้อมูลจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับบริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน เมื่อรวมประเด็นต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการไอทีในแง่มุมธุรกิจ การจัดการความเสี่ยง และการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมากเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานระบบจัดเก็บข้อมูลของสถาบันการเงินต่างๆ จะเห็นได้ว่าหลายองค์กรกำลังประสบกับปัญหา จากผลกระทบของโครงสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลที่กำลังจะเกิดความยากลำบากมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายทางธุรกิจสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังปัญหาในด้านการผูกมัดตัวเองเข้ากับโซลูชั่นจัดเก็บข้อมูลเฉพาะของผู้ค้าเพียงรายเดียว รวมทั้งแผนค่าใช้จ่ายด้านการอัพเกรดและการบำรุงรักษา ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการดำเนินการมากมาย ขณะช่องทางในการลดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานมีอยู่น้อยมาก สิ่งที่สามารถช่วยซีไอโอได้ โซลูชั่น การวางเป้าหมายทางธุรกิจและระบบจัดเก็บข้อมูลให้ดีขึ้น แผนธุรกิจที่ดีที่สามารถเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ด้านไอทีได้นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีจะสนับสนุนเป้าหมายโดยรวมของธุรกิจได้ จึงไม่แปลกที่องค์กรที่มีการกำหนดแนวทางไว้อย่างดีในด้านธุรกิจและเทคโนโลยีจะได้รับส่วนแบ่งกำไรดีกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม เพื่อจัดการกับปัญหาในด้านการวางเป้าหมายไอทีกับวัตถุประสงค์ด้านธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน องค์กรด้านเทคโนโลยีก้าวหน้า อย่าง บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ จึงได้นำแนวคิดเชิงบริการที่จะจัดการฟังก์ชั่นไอทีหลักๆ และนำเทคโนโลยีใหม่ อย่าง ระบบเสมือนจริง (Virtualization) มาใช้งาน โดยบริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ได้ช่วยองค์กรด้านการเงินหลายแห่งในการนำโซลูชั่นระบบจัดเก็บข้อมูลเชิงบริการ (Services Oriented Storage Solution: SOSS) มาใช้ เพื่อลดจุดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบจัดเก็บข้อมูล โดยพื้นฐานแล้ว SOSS จะนำแนวคิดสถาปัตยกรรมเชิงบริการ (Service-Oriented Architecture: SOA) ไปใช้กับระบบจัดเก็บข้อมูล เพื่อส่งมอบแพลตฟอร์มที่สามารถใช้กำหนดค่าได้ใหม่และสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ตลอดเวลา แทนที่จะเป็นการแยกทำทีละส่วนเหมือนในลักษณะเดิมๆ แต่แนวคิดนี้จะมุ่งเน้นไปที่งาน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ไม่ต้องบำรุงรักษาระบบจัดเก็บข้อมูลมากเกินไป ลดความซับซ้อนในการจัดการ และทุกอย่างเป็นไปตามกฎข้อบังคับ นอกจากนี้ บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ยังได้พัฒนาแนวคิดของบริการเชิงกระบวนการ ที่จะจัดเก็บข้อมูลในรูปของ SOSS ซึ่งเป็นวิธีใหม่ในการทำให้การใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบจัดเก็บข้อมูลเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด เพื่อลดต้นทุนและความซับซ้อนให้น้อยลง ถือเป็นประเด็นหลักสำคัญสองประการ ในด้านการจัดการข้อมูลของซีไอโอในอุตสาหกรรมการบริการทางการเงิน การใช้เทคโนโลยีใหม่ อย่างระบบเสมือนจริง (Virtualization) ยังเพิ่มความคุ้มค่าได้อย่างสูงสุดโดยไม่บั่นทอนประสิทธิภาพของโซลูชั่น โดยสามารถผลักดันองค์กรให้บรรลุเป้าหมายได้ในราคาที่ไม่แพง เนื่องจากระบบจัดเก็บข้อมูลเสมือนจริงจะลดความต้องการแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ที่ซ้ำซ้อนและสิทธิใช้งานต่างๆ ซึ่งนั่นหมายถึงการลดจำนวนและค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อในอนาคต (ทำให้การจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลโดยรวมน้อยลง) และค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ที่ต้องใช้ในด้านการจัดการ สนับสนุน หรือฝึกอบรมพนักงานไอที อีกทั้งยังทำให้ระบบจัดเก็บข้อมูลที่ได้จากการเช่า และที่มีการกำหนดเสื่อมราคาของสินทรัพย์ไว้แล้วนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในกลุ่มเสมือนจริงได้ ขณะเดียวกันความสามารถในด้านการเข้าถึงข้อมูลแบบเสมือนในกรณีที่ระบบล้มเหลวยังก่อให้เกิดความคุ้มค่าอย่างยิ่งด้วย นอกจากนี้ การนำสถาปัตยกรรมระบบจัดเก็บข้อมูลแบบชั้นมาใช้งานยังลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสภาพแวดล้อมระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่ และยังทำให้การวางแนวธุรกิจและเป้าหมายด้านไอทีสอดคล้องกันอย่างมาก การจัดการที่เป็นไปตามกฎข้อบังคับที่ดีขึ้น บทบาทของเทคโนโลยีคือการสร้างเครื่องมือที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้ รวมทั้งระบบที่จะตอบสนองความเป็นจริงในธุรกิจใหม่ที่เป็นไปตามกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเมื่อข้อมูลจำนวนมากขึ้นๆ ถูกสร้าง แจกจ่าย และจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล การเก็บถาวรข้อมูลสำคัญจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ดังนั้น บทบาทของโซลูชั่นจัดเก็บข้อมูลถาวรจึงมีสองส่วนด้วยกัน ได้แก่ ต้องรักษาข้อมูลไว้ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง และต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ได้โดยง่าย โซลูชั่นระบบจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากสามารถทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้ตามต้องการ แต่มีแนวโน้มที่จะต้องเป็นระบบที่มีสมรรถนะสูงที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนสำหรับระบบจัดเก็บถาวรข้อมูล ขณะที่รูปแบบของระบบจัดเก็บข้อมูลแบบออฟไลน์ในลักษณะเดิมนั้น (เช่น การสำรองด้วยเทป) ให้การประหยัดงบประมาณได้ดีก่วา แต่การเรียกใช้เนื้อหาที่จัดเก็บ ก็เป็นไปได้ช้าและใช้แรงงานมากเกินไป โซลูชั่นในอุดมคติจึงต้องอยู่ตรงกลางของโซลูชั่นข้างต้น นั่นคือให้ระดับของประสิทธิภาพที่สมเหตุสมผลในระดับค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ไม่ต้องการแนวคิดเฉพาะในการกำหนดค่าหรือการจัดการ แต่ตอบสนองมาตรฐานอุตสาหกรรมและสนับสนุนเครือข่ายและเครื่องมือจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลทั่วไปได้ นอกจากนี้ โซลูชั่นจัดเก็บข้อมูลถาวรที่มีประสิทธิภาพยังทำให้แน่ใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงและเรียกใช้ข้อมูลต่างๆ ได้ทันเวลา และสามารถรวมเข้ากับระบบจัดเก็บข้อมูลแบบชั้นอื่นๆ ได้ด้วย ขณะเดียวกันยังคงสามารถถูกแยกการใช้งานได้อย่างพอเพียง ในกรณีที่ต้องได้รับการตรวจสอบและการสืบค้นเมื่อองค์กรถูกดำเนินคดี การรวมอย่างราบรื่นเข้ากับระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่ยังแสดงให้เห็นว่าระบบนี้สามารถใช้เป็นชั้นจัดเก็บข้อมูลอีกหนึ่งชั้นภายในสภาพแวดล้อมแบบหลายชั้นได้ ความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ดีขึ้น การปกป้องข้อมูลเป็นก้าวแรกในแผนงานที่จะทำให้องค์กรด้านการเงินทำงานได้อย่างไม่ต้องหยุดพักและเป็นมากกว่าแค่การวางแผนสำหรับการกู้คืนข้อมูลที่เสียหาย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการสร้างให้องค์กรขนาดใหญ่มีความยืดหยุ่น โซลูชั่นดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ง่ายเหมือนกับการสำรองข้อมูลไว้ภายในเครื่อง หรือยากพอๆ กับการจำลองแบบข้อมูลจากระยะไกล ขอบเขตของตัวเลือกมีมากมายและการตัดสินใจเลือกใช้งานนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาด้านความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร โดยเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล เช่น Virtual Tape Library Solution จะช่วยให้ผู้จัดการระบบจัดเก็บข้อมูลสามารถได้รับประโยชน์ทั้งหมดของการสำรองข้อมูลลงในดิสก์โดยไม่ต้องเปลี่ยนนโยบายหรือกระบวนการสำรองข้อมูลที่มีการกำหนดไว้แล้วได้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล (De-duplication) สามารถช่วยให้ลูกค้าของบริการด้านการเงินขจัดการจัดการข้อมูลที่ซ้ำซ้อนได้ ทั้งหมดนี้ล้วนผลักดันให้ธุรกิจ สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ดีขึ้น อนาคตเบื้องหน้า สำหรับการเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของอุตสาหกรรมบริการด้านการเงินของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น จำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์เพิ่มเติมในด้านการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพด้านการดำเนินการขณะที่ยังคงเน้นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางการลงทุน การเข้าซื้อ และลูกค้าใหม่ๆ ที่มีศักยภาพของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ในสภาพแวดล้อมที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างและทำให้ความสัมพันธ์ของบริการทางการเงินกับลูกค้าเติบโตได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการผลิตของธุรกิจ เทคโนโลยีระบบจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะสมที่สุด อย่างระบบเสมือนจริง (Virtualization) และ SOSS จะช่วยให้บรรดา ซีไอโอ สามารถจัดการกับปัญาหลักของตนและช่วยให้นอนหลับฝันดีได้อย่างไร้กังวล |