ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น บวกกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เป็นปัจจัยลบที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะบทเรียนในช่วงนั้นเปรียบเสมือนฝันร้ายที่ยังหลอกหลอนแบงก์เกอร์มาโดยตลอด เนื่อง จากเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินทั้งระบบพุ่งสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท ฉะนั้นอย่าแปลกใจ หากช่วงเวลานี้ทั้งแบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์ ทยอยงัดมาตรการสกัด เอ็นพีแอลรอบใหม่ออกมาเรื่อยๆ ในส่วนตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็เช่นเดียวกัน นอกเหนือจากมาตรการคุมเข้มการอนุมัติเงินกู้ให้กับลูกค้าแล้ว ขณะนี้หลายแบงก์เริ่มจับตาความเคลื่อนไหวการผ่อนชำระค่างวดบ้านมากขึ้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะเจ้าตลาดสินเชื่อบ้านรายย่อย เป็นรายแรกที่ออกมาตรการตั้งรับปัญหาเอ็นพีแอลรอบใหม่อย่างชัดเจนและเป็นทางการ เพราะที่ผ่านมากว่าธนาคารจะสามารถบริหารเอ็นพีแอลที่มีอยู่กว่า 29% ในช่วงก่อนหน้านี้ ให้ลดเหลือเพียง 6.12% ในปัจจุบันต้องใช้เวลาและความพยายามไม่น้อย ที่สำคัญสิ้นปีนี้ ธอส.มีเป้าหมายจะลดตัวเลขหนี้เสียให้มาอยู่ที่ระดับ 5% ด้วยซ้ำ อย่าลืมว่า "ธอส." เป็นสถาบันการเงินหนึ่งเดียวของไทยที่มีฐานลูกค้าสินเชื่อรายย่อยมากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินทั้งระบบ ในจำนวนนี้กว่า 70% เป็นลูกค้าในระดับที่มีรายได้ระดับปลานกลาง-ล่าง การเกิดเอ็นพีแอลจึงมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะปัจจุบันลำพังแค่ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นลูกค้ากลุ่มนี้ก็แทบจะรับมือไม่ไหวอยู่แล้ว จากสถิติเอ็นพีแอลตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงขณะนี้พบว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้นตลอด จากเดือนมกราคมอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2.93 หมื่นล้านบาทในเดือนมีนาคม และเดือนเมษายนอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1% แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักแต่ก็ประมาทไม่ได้ "ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และความผันผวนของเศรษฐกิจ ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อยของธนาคารประสบปัญหาในการผ่อนชำระเงินกู้ที่ลดลง แม้ว่าตัวเลขเอ็นพีแอลจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อรวมที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลมีอัตราส่วนที่ลดลง" ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าว สำหรับมาตรการที่ ธอส.นำออกมาใช้เพื่อป้อง กันการเกิดเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือลูกค้ามี 6 แนวทาง แยกลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แนวทางที่ 1-3 สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ประสบปัญหาจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วน 3 แนวทางหลังดูเหมือนจะมีความเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่ค้างชำระเป็นเวลานาน และมีดอกเบี้ยค้างชำระสูง แนวทางที่ 1 ธนาคารจะขยายระยะเวลากู้เพื่อลดภาระในการผ่อนเงินค่างวด โดยให้ระยะเวลากู้เพิ่มขึ้นวิธีนี้จะทำให้เงินงวดที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนลดลง ลูกค้าที่มีการผ่อนชำระมาแล้ว 5 ปี หรือ 10 ปี หากผ่อนชำระไม่ไหวเพราะเงินงวดสูง สามารถเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร เพื่อขยายระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี แนวทางที่ 2.การผ่อนผันลดเงินงวดในการผ่อนชำระเท่ากับดอกเบี้ยรายเดือน ธนาคารจะดำเนินการปรับลดค่าเงินงวดในการผ่อนชำระให้ลดลงเหลือเท่ากับดอกเบี้ยรายเดือน เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะทำให้ลูกค้าลดภาระในการผ่อนต่อเดือนลง แนวทางที่ 3. ธนาคารจะปรับลดเงินงวดในการผ่อนชำระจากปกติให้เหลือครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 12 เดือน แนวทางที่ 2 และ 3 เมื่อครบกำหนดลูกค้าจะต้องชำระหนี้ค้างทั้งหมด แนวทางที่ 4. การพักชำระดอกเบี้ยค้าง ลูกค้าที่ต้องการประนอมหนี้ ธนาคารจะให้พักดอกเบี้ยไปก่อน หรือแขวนดอกเบี้ย นาน 2 ปี ระหว่างนี้ธนาคารจะกำหนดเงินงวดในการผ่อนชำระใหม่ที่จะทำให้ลดเงินต้นลง เมื่อชำระได้ครบตามกำหนดดอกเบี้ยที่แขวนไว้จะถูกนำกลับเข้ามาในบัญชีเงินกู้ตามเดิม โดยธนาคารจะมีส่วนลดให้ 25% ของดอกเบี้ยที่ไม่รับรู้รายได้ แนวทางที่ 5. การใช้มาตรการ GHB2U ด้วยการปิดบัญชี หรือชำระต่อ โดนธนาคารจะลดดอกเบี้ยบางส่วนให้ลูกค้า ซึ่งจะพิจารณาจากราคาประเมิน ประวัติการชำระ เหตุผลตามความจำเป็น ซึ่งจะให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ปี แนวทางที่ 6. มาตรการสวมสิทธิการใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ สำหรับผู้กู้รายเดิมที่ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ แต่ผ่อนชำระไม่ไหว และต้องการขายบ้านให้แก่ผู้กู้รายใหม่ ธนาคารจะเปิดให้มีการสวมสิทธิโดยใช้ดอกเบี้ยคงที่ของผู้กูเดิม ส่งผลให้การซื้อหลักประกันจากผู้กู้รายเดิมเป็นไปได้ง่ายขึ้น ต้องจับตาดูต่อไปว่าทั้ง 6 มาตรการ จะรับมือหนี้เอ็นพีแอลเหมือนกับที่หวังเอาไว้หรือไม่
|