ความเป็นที่สุดของท่าอากาศยานแห่งใหม่ของไทย คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ใช่เพียงแค่ความโอ่อ่าใหญ่โตของอาคารที่พักผู้โดยสาร(Main Terminal) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่ 563,000 ตารางเมตร ซึ่งใหญ่กว่าสนามบินฮ่องกงประมาณ 10,000 ตารางเมตร หรือมีหอวิทยุการบินที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงถึง 132 เมตร สูงกว่าหอวิทยุการบินของมาเลเซียถึง 10 เมตร และมีโรงแรมที่มีห้องพักขนาด 600 ห้อง พร้อมล็อบบี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น ในด้านสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมการก่อสร้าง ก็กล่าวได้ว่าทั้งภายนอกและภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ถูกเนรมิตให้มีความโดดเด่น ขึ้นชื่อ และมีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใครอีกด้วย สมกับเป็นฝีมือการออกแบบของ Helmut Jahn สถาปนิกระดับโลกชื่อดัง ชาวเยอรมัน เจ้าของบริษัท Murphy Jahn ที่เคยฝากฝีไม้ลายมือมาออกแบบสนามบินนานาชาติ ตลอดจนอาคารที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสนามบินชิคาโก ตึกโซนี่ เซ็นเตอร์ ในเยอรมนี เป็นต้น โดยรูปแบบของสนามบินสุวรรณภูมิ จะถูกดีไซน์ให้เป็นอาคารแห่งอนาคต ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการประหยัดพลังงาน แต่มีความสวยงามอยู่ในตัวด้วยการนำวัสดุก่อสร้างที่ทันสมัยมาใช้ เน้นใช้กระจกมาตกแต่ง ตั้งแต่ผนังชั้นสองไปจนถึงโครงสร้างส่วนของหลังคา ซึ่งติดตั้งโดยระบบ cable stayed ส่วนบริเวณชั้นล่างจนถึงพื้นชั้นสอง บางส่วนจะใช้ผนังอะลูมิเนียมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวเป็นวัสดุในการตกแต่ง นอกจากนี้ยังนำระบบพื้นหล่อเย็นมาใช้ โดยความเย็นจะถูกปล่อยจากพื้นขึ้นสู่ด้านบนของตัวอาคาร ทำให้ช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตัวอาคารส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยกระจก ทำให้ต้องใช้พลังงานมากในระบบปรับอากาศ โดยเฉพาะวัสดุแต่ละอย่างที่นำมาใช้ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว อย่างผนังชนิดอะลูมิเนียม ประกอบด้วยโครงเหล็กยึดติดกับผนังคอนกรีต บล็อกกับแผ่นอะลูมิเนียมเคลือบสารชนิดพิเศษที่เรียกกว่า Fluorocarbon มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพอากาศ สารเคมี และอุณหภูมิได้เป็นอย่างดี ขณะที่ผนังกระจก (cable stayed facade) ประกอบด้วยกระจกกรองแสงนิรภัยชนิดซ้อนทับ (laminated) หนา 21.52 มิลลิเมตร ขนาดกว้าง 2.25 เมตร สูง 2.45 เมตร ติดตั้งได้กับวัสดุหลากหลาย เพราะกระจกชนิดนี้ ถูกออกแบบให้เป็นระบบอิสระ สามารถเคลื่อนตัวได้ทั้งในแนวนอน และแนวดิ่ง หลังคาใยสังเคราะห์ หรือ fabric membrane roof ที่นำมาใช้เป็นหลังคาอาคารเทียบเครื่องบิน ผลิตจากวัสดุใยสังเคราะห์โปร่งแสงคล้ายผ้าใบ คุณสมบัติมีความหนาถึง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นนอก (out membrane) ทำจากใยสังเคราะห์ fiber glass หนา 1 มิลลิเมตร เคลือบสาร teflon เพื่อป้องกันแสงอาทิตย์ ฝน และอากาศภายนอกอาคาร รวมทั้งเสียงจากเครื่องบินได้สูงกว่าปกติ ชั้นกลาง (middle layer) เป็นแผ่น polycarbonate หนา 6 มิลลิเมตร ติดตั้งบนโครงตาข่ายเหล็กปลอดสนิม ทนทานต่อแสงยูวี และป้องกันความร้อนที่ผ่านจากชั้นนอกเข้ามา ทนทานต่อแรงลม และเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี ชั้นในสุด (inner layer) เป็นผืนผ้าทอด้วยใยสังเคราะห์ fiber glass หนา 0.3 มิลลิเมตร มีลักษณะคล้ายผ้าเคลือบด้วยสารเคลือบอะลูมิเนียม และสารเคลือบ LOW-E เพื่อป้องกันเสียง และความร้อนเข้าภายใน และชั้นในสุดท้ายเป็นผ้าใยแก้วพิเศษ มีเส้นใยสานกันช่องเปิดขนาดเล็กๆ ทำหน้าที่ดูดซับเสียง ลดการสะท้อนเคลื่อนพลังงานความร้อนภายนอก และป้องกันความเย็นภายในอาคารไม่ให้แพร่ขยายออกไปภายนอก สำหรับหลังคาใยสังเคราะห์นี้ สามารถออกแบบให้เป็นรูปทรงให้สะดุดตาได้ตามต้องการ ซึ่งที่อาคารเทียบเครื่องบินในสนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็นอาคารรูปตัด อาคารมีส่วนโค้งของรูปทรงไข่ไก่ เป็นที่เตะตาของผู้ที่พบเห็น นอกจากนี้ผู้ออกแบบ ยังนำความเชื่อของคนไทยเข้าไปใช้ผสมผสานในการออกแบบด้วย ตัวอย่างเช่นคนไทยส่วนใหญ่เชื่อถือและให้ความสำคัญกับเลข 9 เพราะถือว่าเป็นเลขนำโชค ทีมออกแบบก็นำเลข 9 มาคำนวณเป็นโครงสร้างของตัวอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน อย่างเช่น ระยะห่างระหว่างเสาแต่ละต้นของตัวอาคารผู้โดยสาร จะห่างกัน 9 เมตร เสาหลักหรือคานหลักรั้น มี 2 ตัวต่อ 1 คาน รวมเป็น 1 ชุด ซึ่งเสา 2 ต้น จะห่างกัน 81 เมตร (นำ 8+1=9) ชุดเสาที่อยู่ทิศตะวันออก จะห่างจากชุดเสาทิศตะวันตก 126 เมตร (1+2+6=9) หลังคาผ้าใยสังเคราะห์ที่ติดตั้งกับอาคารเทียบเครื่องบินมีทั้งหมด 108 เบย์ (1+0+8 =9) ทางเลื่อนระนาบผิวในอาคารเทียบเครื่องบิน มีทั้งหมด 95 ชุด มีความยาวตั้งแต่ 27 เมตร และ 108 เมตร (2+7=9 และ 1+0+8=9) ความเร็วของทางเลื่อนในอาคารรวมทั้งทางเลื่อนลาดเอียง มีความเร็ว 45 เมตรต่อนาที (4+5=9) นอกจากนี้ยังนำแนวคิดด้านศิลปะ และเอกลักษณ์หลายๆ อย่างที่สะท้อนถึงความเป็นไทย ทั้งร่วมสมัยและดั้งเดิมมาใช้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุษบก ซึ่งมีอยู่ 2 หลัง ศาลาไทย 2 หลัง ภาพวาดฝาผนังของศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เรื่องราวในภาพ จะบอกเล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นไทย ที่เป็นตำนานและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ที่มีมาช้านานแล้ว โดยภาพวาดฝาผนังมีทั้งหมด 66 ผนัง ส่วนใหญ่จะติดตั้งอยู่บริเวณทางเดินภายในอาคารเทียบเครื่องบิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวและนักเดินทางทั้งต่างชาติและคนไทยยุคใหม่ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ความเป็นไป ก่อนจะมีโอกาสเดินทางไปเยือนและเห็นวิถีชีวิตของคนไทยในชนบท ที่ขาดไม่ได้คือรูปปั้นยักษ์ขนาดใหญ่ 12 ตน ซึ่งแต่ละตนล้วนเป็นตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ วรรณคดีอมตะ ซึ่งถ่ายทอดให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความงดงามของประติมากรรมไทยได้อย่างเหนือคำบรรยาย โดยรูปปั้นยักษ์จะยืนตระหง่านบริเวณชั้น 2 ของอาคารเทียบเครื่องบิน แสดงถึงความยิ่งใหญ่และน่าเกรงขาม เปรียบเสมือนองครักษ์ที่คอยพิทักษ์ปกป้องรักษาประเทศไทยเอาไว้ อีกนัยหนึ่ง ก็เพื่อเชื้อเชิญและดึงดูดสายตาผู้มาเยือน เหมือนจะบอกให้รับรู้ว่า นี่คือประเทศไทย
|