ห้องทำงาน ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผู้คนในสังคมยุคนี้ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ ก็คือสารเคมีในที่ทำงาน ที่มาจากสภาพแวดล้อมภายในห้องทำงาน เครื่องถ่ายเอกสาร ก๊าซโอโซนที่เกิดขึ้นจากการอัดและปล่อยประจุไฟฟ้าที่ลูกกลิ้งกระดาษ และบางส่วนเกิดจากการปล่อยแสงเหนือม่วง ที่มาจากหลอดไฟพลังงานสูงของเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งแสงเหนือม่วงจะทำให้ก๊าซออกซิเจนรวมกันเป็นโอโซนได้ง่ายขึ้น แต่ในสภาพปกติหรือในสำนักงานทั่วไป โอโซนจะสลายตัวเป็นออกซิเจนภายใน 2-3 นาที ซึ่งอัตราการสลายตัวจะขึ้นอยู่กับระยะเวลา อุณหภูมิ (อุณหภูมิสูงสลายตัวได้เร็วขึ้น) และการระบายอากาศในห้องนั้น ผงหมึกที่ใช้ในเครื่องถ่ายเอกสารทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบแห้ง เป็นหมึกประเภทผงคาร์บอนดำ 10% ผสมกับพลาสติกเรซิน ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนั้น สิ่งที่อาจเป็นอันตรายของเครื่องถ่ายเอกสาร คือความร้อนจากการถ่ายเอกสารเป็นเวลานานในสถานที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศ และเรื่องเสียงที่รบกวน เพราะเครื่องถ่ายเอกสารขนาดใหญ่อาจดังถึง 80 เดซิเบล อาการ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆได้ มีอาการระคายคอ ไอ หายใจสั้น วิงเวียน และปวดศีรษะได้ เนื่องมาจากการสัมผัสก๊าซโอโซนนานๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจ มีการไอและจาม และเป็นสาเหตุของภูมิแพ้ รวมทั้งอาจก่อมะเร็ง จากการสูดดมฝุ่นผงหมึกเป็นระยะเวลานาน แสงเหนือม่วงเป็นอันตรายต่อตา การสัมผัสแสงจ้าเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดตาและปวดศีรษะ วิธีป้องกัน ถ่ายเอกสารทุกครั้งควรปิดฝาครอบให้สนิท หากไม่สามารถปิดได้ควรหลีกเลี่ยงการมองที่กระจกต้นฉบับ สวมถุงมือขณะเติมหรือเคลื่อนย้ายผงหมึก ผงหมึกที่ใช้แล้วนำไปกำจัดลงในภาชนะปิดมิดชิด มีการบำรุงรักษาและทำความสะอาดเครื่องถ่ายเอกสารเป็นประจำ ไม่ควรตั้งเครื่องถ่ายเอกสารในห้องทำงาน ควรจัดแยกไว้ในที่เฉพาะ หรือไว้ที่มุมห้องไกลจากคนทำงาน และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม อาจติดตั้งพัดลมดูดอากาศเฉพาะที่ในห้องถ่ายเอกสาร สังเกตและเลือกใช้เครื่องถ่ายเอกสารที่มีแผ่นกรองประเภท Activated Carbon Filter เพื่อสลายโอโซนก่อนปล่อยออก จึงปลอดภัย น้ำยาลบคำผิดและกาว น้ำยาลบคำผิด และกาววิทยาศาสตร์ ถือเป็นสารระเหย เพราะมีทินเนอร์และสารประกอบอินทรีย์เคมีชนิดต่างๆ ประกอบอยู่ ได้แก่ สารโทลูอีน เบนซีน และสไตลีน ซึ่งมีกลิ่นพิเศษเฉพาะ และระเหยปะปนในอากาศ ได้ง่าย อาการ ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด มีผลกระทบต่อประสาทส่วนกลาง และเสียการทรงตัวได้ เมื่อสูดดมในระยะสั้น ทำให้โครโมโซมในเม็ดเลือดผิดปกติจนถึงขั้นเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด หญิงมีครรภ์อาจแท้งหรือลูกออกมาพิการได้ หากสูดดมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากมีการกลืนสารเหล่านี้เข้าไป และมีการสำลักร่วมด้วย ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการสูดดม และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน
วัสดุเครื่องใช้สำนักงานต่าง ๆ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์จากไม้ มักพบสารฟอร์มาลดีไฮด์ตกค้าง นอกจากนี้ยังมีสารตัวทำละลายที่อยู่ในสี กาว และสารเคลือบเงา เช่น โทลูอีน ไซลีน และเอธิลเบนซิน เป็นต้น และที่สำคัญอาจมีสีที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ หลุดลอกจากเฟอร์นิเจอร์หรือผนังอาคารปะปนกับฝุ่นผงในอากาศ อาการ สารฟอร์มาลดีไฮด์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตา หรือระบบทางเดินหายใจได้ และหากเป็นระยะเฉียบพลัน ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหายอย่างรุนแรง เช่น ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้ แต่เมื่อสูดดมโทลูอีนและไซลีน จะมีอาการเบื้องต้นคือ ทำให้ระคายเคืองจมูกและลำคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หากสูดดมในระดับความเข้มข้นสูง ๆ จะทำให้มึนศีรษะ เป็นลม อาจเสียชีวิตได้ และมีผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ หากสูดดมระยะยาว อาจส่งผลเรื้อรัง ได้แก่ การทำลายไขกระดูก เนื่องจากทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง ทำลายตับ ทำให้ผิวหนังแห้ง แตก ความจำเสื่อม สมาธิสั้น และอาจมีผลต่อสมอง รวมทั้งอาจทำลายเยื่อบุตา นอกจากนี้ ในโทลูอีนมีผลกระทบต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียการทรงตัว สารตะกั่วก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก ปวดกล้ามเนื้อ ข้อมือตก มีผลต่อสภาพจิตใจ เกิดอารมณ์เศร้าหมอง เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ถ้าได้รับสารตะกั่วติดต่อเป็นระยะเวลานานและปริมาณมาก จนมีผลเฉียบพลัน คือ ปวดท้องรุนแรง ทำลายสมอง ไต ระบบการย่อยอาหาร และระบบการได้ยิน วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการสูดดม ทำความสะอาดที่ทำงานอยู่เสมอ และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี แผ่นฝ้าเพดาน และใยฉนวนกันความร้อน แผ่นฝ้าเพดาน หรือวัสดุฉนวนกันความร้อนและเสียง ซึ่งทำมาจากแร่ใยหิน หรือที่เรียกว่าแอสเบตอส อาการ ทำให้เกิดการหายใจลำบาก เกิดพังผืดในปอด จนเกิดเป็นโรคปอดจากแร่ใยหินหรือโรคแอสเบสโตซีส ซึ่งจะไม่ได้แสดงอาการทันที แต่จะเกิดเมื่อสะสมเป็น 20-30 ปีให้หลัง และอาจลามจนเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้องได้ วิธีป้องกัน ทำความสะอาดห้องทำงานอยู่เสมอ และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี ฝุ่นละอองในสำนักงาน ฝุ่นเหล่านี้อาจเกิดจากผงหมึกที่กระจายออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสาร ฝุ่นเยื่อกระดาษที่อาจพบตามเอกสารต่าง ๆ บนโต๊ะทำงาน หรือกระดาษปิดผนังหรือวอลล์เปเปอร์ รวมทั้งพรมที่ทำจากใยสังเคราะห์ก็เป็นที่เก็บกักฝุ่นเป็นอย่างดี โดยฝุ่นเหล่านี้สามารถเข้าไปสะสมในปอดได้ อาการ มีอาการไอ จาม และระคายเคืองต่อตา จมูกและคันผิวหนัง คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการจะกำเริบขึ้น มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ หากเป็นเรื้อรังก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหอบหืดได้ นอกจากนี้เชื้อราที่ปะปนมากับฝุ่นยังทำให้เกิดโรคชนิดอื่น ๆ ได้อีก วิธีป้องกัน ควรจัดวางโต๊ะทำงานไม่ให้หนาแน่น ทำความสะอาดห้องและโต๊ะทำงานเป็นประจำ แบ่งโซนเครื่องถ่ายเอกสารหรือหนังสือ ให้อยู่ในมุมที่ห่างไกลจากคนทำงาน และสิ่งสำคัญ จัดให้ห้องทำงานมีระบบระบายอากาศที่ดี คาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนนอคไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มักจะเกิดมากในห้องที่ปิดอับ ไม่มีหน้าต่าง หรือการถ่ายเทอากาศไม่ดี ส่วนก๊าซคาร์บอนมอนนอคไซด์ เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ทำงานอยู่ติดถนน มีปริมาณก๊าซจากไอเสียรถยนต์ซึ่งมีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เข้ามาในห้องปริมาณมาก และขาดการระบายอากาศที่ดี อาการ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หายใจหอบสั้น คลื่นไส้ ง่วงซึม และการตัดสินใจไม่ค่อยเด่นชัด มีความสับสน ซึ่งก่อความไม่สบายในการทำงาน ถ้าได้รับสารเหล่านี้ในปริมาณน้อย ๆ ในระดับความเข้มข้นที่สูงมาก ๆ ก็ทำให้ประสาทมึนงง ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้ วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการสูดดม และจัดให้มีระบบระบายอากาศที่ดี นอกจากนั้น ยังมีอันตรายจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีผลการศึกษาของนักวิจัยในสวีเดนระบุว่า สารเคมีจากจอคอมพิวเตอร์ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ โดยสารเคมีที่ชื่อ Triphenyl Phosphate ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในจอวีดีโอ หรือปากกาเคมี ตลอดจนสเปรย์ปรับอากาศ ซึ่งมีกลิ่นจากสารเคมี ใช้ไปนาน ๆ ย่อมระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกและตาได้ เป็นต้น |