พ.อ.หญิง รศ.พญ.อัมพา สุทธิจำรูญ รพ.พระมงกุฎเกล้า
โรคเบาหวานในประเทศไทยส่วนมากเกิดจากเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป แต่ขณะนี้พบว่าเด็กอ้วนเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ มีรายงานเด็กอายุเพียง 8 ขวบเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือร่างกายมีระดับอินซูลินเพียงพอหรือสูงกว่าปกติ แต่เซลล์ของร่างกายไม่ตอบสนองต่อระดับอินซูลินที่มีอยู่ ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน คือ มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index, BMI) เท่ากับหรือมากกว่า 23.0 และ 25.0 กิโลกรัมต่อตารางเมตรตามลำดับ
วิธีการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ควรเริ่มด้วยการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย
โดยให้ได้เกณฑ์ดังนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารข้ามคืนควรมีค่าน้อยกว่า 130 มิลลิกรัม/ เดซิลิตร และค่าน้ำตาลในเลือดสะสมเอวันซี (Hb A1C) ควรมีค่าน้อยกว่า 6.5%
การควบคุมอาหารในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีหลักง่ายๆ คือ รับประทานอาหารให้ตรงมื้อหรือตรงเวลาในปริมาณที่เหมาะสม รับประทานแต่พออิ่ม ไม่ควรเสียดายอาหารเหลือ ควรงดหรือลดอาหารรสหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม และอาหารที่มีรสมัน เนื่องจากผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติร่วมด้วย ถ้าผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ยังติดในรสหวาน ควรใช้น้ำตาลเทียมทดแทนการใช้น้ำตาลทราย น้ำตาลเทียมเป็นสารที่ให้รสหวานแต่ให้พลังงานน้อย ได้แก่ แอสปาแทม (aspartame) ซูคราโลส (sucralose) เป็นต้น ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าวแป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ นม และควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 6-8 แก้ว นมเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพเนื่องจากให้สารอาหารและแคลเซียม ถ้ามีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ ควรดื่มนมพร่องไขมัน หากดื่มนมแล้วมีอาการท้องเสียให้งดดื่มได้ เนื่องจากลำไส้ของคุณไม่มีสารเอ็นไซม์ย่อยนม ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ควรเลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น มะม่วง มื้อละครึ่งลูกทั้งชนิดสุกหรือดิบ หรือ 1 ใน 4 ส่วนของมะม่วงลูกโตๆ ส่วนข้าวเหนียวมูลที่รับประทานกับมะม่วงนั้น รับประทานได้วันละ 2-3 คำพอหายอยากก็เพียงพอ เพราะว่ามีกะทิและให้พลังงานมาก จะทำให้อ้วนได้
นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกาย โดยการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ของร่างกาย ออกกำลังกายให้หนักและใช้เวลานานเพียงพอที่ทำให้การทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น ควรทำอย่างสม่ำเสมอคู่ไปกับการควบคุมอาหาร จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ แต่ถ้าคุณไม่มีเวลาเพียงพอที่จะไปออกกำลังกายแบบแอโรบิค การทำกิจวัตรประจำวันให้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินจากที่จอดรถไปที่ทำงานให้ได้วันละ 10 นาที การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เช่น ต้องขึ้นลิฟต์ไปที่ทำงานชั้น 10 ก็ควรออกจากลิฟต์ที่ชั้น 5 และเดินขึ้นบันไดไปอีก 5 ชั้น เป็นต้น วิธีการเหล่านี้เป็นการช่วยเผาผลาญพลังงานที่คุณได้รับสะสมในร่างกายได้อีกทางหนึ่ง
การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมเคลื่อนไหวของร่างกายควรทำให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีหรือ 2 ชั่วโมงครึ่ง/สัปดาห์ ถ้าคุณทำอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการควบคุมอาหาร โดยลดพลังงานที่รับประทานให้ได้วันละ 500 กิโลแคลอรี รับรองว่าคุณสามารถลดน้ำหนักตัวได้อย่างน้อยครึ่งถึง 1 กิโลกรัม/สัปดาห์เป็นแน่ อย่างไรก็ตามถ้าทำทั้ง 2 อย่างแล้วคุณยังควบคุมโรคเบาหวานไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อใช้ยารักษาเบาหวานที่เหมาะสมต่อไป