1. วิจิตรศิลป์ ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า ประณีตศิลป์ หมายถึง ผลงานศิลปะที่มุ่งเน้นคุณค่าทางความงาม (Aesthetic Value) เป็นสำคัญ เป็นผลงานที่ตอบสนอง ด้านจิตใจมากกว่า ประโยชน์ใช้สอย ประกอบด้วย ทัศนศิลป์ (Visual Art) ดุริยางคศิลป์ (Music) นาฏยศิลป์ (Dance) สถาปัตยกรรม (Architecture) และวรรณกรรม (Literature) ทัศนศิลป์ (Visual Art) เป็นผลงานการสร้างสรรค์ทางศิลปะ เพื่อสนองการรับรู้ทางประสาทตา ประกอบด้วย จิตรกรรม (Painting) ประติมากรรม (Sculpture) ภาพพิมพ์ (Printmaking) ภาพถ่าย (Photography) งานสื่อผสม (Mixed Media) ศิลปะการจัดวาง (Installation) ศิลปะการแสดง (Performing Art) เป็นต้น  ดุริยางค์ศิลป์ (Music) ดนตรี คือ เสียงที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของมนุษย์ เป็นการร้อยเรียงกลุ่มเสียง เข้าหากันอย่างมีจังหวะลีลา มีทำนองหรือหลายทำนอง ประกอบซ้อนกัน อาจเป็นในรูปการขับร้อง ประกอบการบรรเลง หรือในรูปของการบรรเลงดนตรีล้วน ๆ นาฏศิลป์ (Dance) หมายถึงการร่ายรำ และการเคลื่อนไหวไปมา อย่างมีจังหวะจะโคน ซึ่งมนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น ด้วยความประณีต เกิดเป็นการเคลื่อนไหว ที่สวยงามน่าชม สื่อความหมายถึงผู้ชม เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน อาจจะเป็นอารมณ์สะเทือนใจ เศร้าใจ สุขใจ สนุกสนานเพลิดเพลิน เป็นต้น สถาปัตยกรรม (Architecture) หมายถึงสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเน้นความงาม หรือรูปแบบเฉพาะ ก็สามารถจัดอยู่ ในงานวิจิตรศิลป์ได้เช่นกัน อาทิ อาคาร บ้านเรือน วัด โบสถ์ วิหาร สนามกีฬา และ อนุสาวรีย์ เป็นต้น วรรณกรรม (Literature) หมายถึง บทประพันธ์อันประกอบด้วย ศิลปะแห่งการนิพนธ์อันประณีต และเนื้อเรื่องมีอำนาจดลใจ ให้เกิดความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ต่าง ๆ มีใช่เป็นหนังสือ ที่ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น หนังสืออันเป็นตำราทางวิชาการ เช่น ตำราวิทยาศาสตร์ ตำราคณิตศาสตร์ เหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นวรรณกรรม เพราะแต่งขึ้นจากวัตถุประสงค์ เพื่อค้นคว้า รวบรวมความรู้เป็นหมวดหมู่ ไม่ได้แต่งขึ้น โดยมุ่งเน้นถ้อยคำสละสลวย ๒. ศิลปะประยุกต์ หรือ ประยุกต์ศิลป์ หมายถึง ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อมุ่งประโยชน์ใช้สอย เป็นสำคัญ โดยการใช้หลักการทาง สุนทรียภาพ ประกอบด้วย มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) อุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Art) พาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) หัตถศิลป์ (Crafts) และการออกแบบต่างๆ (Design) เป็นต้น
มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) เป็นศิลปะการตกแต่ง เช่น การออกแบบเครื่องเรือน ตกแต่งอาคาร สถานที่ โดยใช้วัสดุ สี รูปแบบ ให้เหมาะสมกับสถานที่ ประโยขน์ใช้สอย และจุดประสงค์ที่ใช้ อุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Art) เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งของเครื่องใช้โดยทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องตกแต่งบ้าน ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องปั้นดินเผา งานโลหะ งานไม้ การจักสาน เป็นต้น งานชนิดนี้ต้องการนำหลักศิลปะ มาใช้ตั้งแต่การวางรูปแบบ ออกแบบสร้างประกอบขึ้น ตกแต่งให้สวยงาม เหมาะกับประโยชน์ใช้สอย ซึ่งอาจจะผลิดด้วยเครื่องจักร เป็นต้น พาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) ศิลปะการค้า เช่น ป้ายโฆษณา การจัดตู้โชว์ จัดตกแต่งอาคารร้านค้า เป็นต้น หัตถศิลป์ (Craft) คือ งานศิลปะที่นำไปใช้ในงานหัตถกรรม โดยใช้มือทำเป็นส่วนใหญ่ มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องปั้นดินเผา งานแกะสลักไม้ งานถักทอ งานหวาย รวมถึงงานช่าง ๑๐ หมู่ของไทย งานออกแบบ (Design) เป็นการจัดส่วนประกอบต่างๆ ให้ลงตัว เป็นความกลมกลืน เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะเจาะจง เช่น การออกแบบลายผ้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ งานออกแบบ ถูกนำมาไปใช้มากในงานประยุกต์ศิลป์ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และให้เกิดประโยชน์ใช้สอยในขีวิตประจำวัน และเป็นที่มาของงาน ประเภทกราฟฟิก (Graphic Art) |