"เวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน ไม่เพียงแต่เป็นระยะเวลาสำคัญในการบำรุงทะนุถนอม เพื่อให้ได้ลูกน้อยน่ารักสมบูรณ์ที่สุด แต่ยังเป็นเวลาสำคัญให้ว่าที่คุณพ่อกับคุณแม่เตรียมตัววางแผนการเงิน ลดความเสี่ยงปูทางอนาคตที่มั่นคงให้ลูกรัก" หญิงและชายไม่ว่าจะชาติใดหรือภาษาใด เมื่อต้นรักเติบโตเต็มที่จนฝังรากลึกกลายเป็นสัญญาใจ ที่จะผูกพันร่วมหัวจมท้ายจนกว่าชีวิตจะหาไม่ พอได้แต่งงานใช้ชีวิตคู่มีความสุขร่วมกันมานานพอสมควร จนคนทั้งคู่มาถึงจุดๆหนึ่ง หรือ ณ เวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างอนาคตร่วมกันอย่างแท้จริง นั่นคือ การมีลูกน้อยสืบสกุล และเป็นดั่งโซ่ทองคล้องใจ ทั้งหญิงและชายหรือสามีกับภรรยา ต้องผ่านจุดเริ่มต้นของความเป็นครอบครัวอย่างสมบูรณ์ ด้วยความพยายามที่จะให้ได้มาซึ่งเจ้าตัวน้อย แต่ระยะเวลาแห่งการรอคอยฟูมฟักทายาทตัวน้อยตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ ไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วหรือในระยะเวลาอันสั้น ช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน จึงไม่เพียงแต่เป็นระยะเวลาสำคัญในการบำรุงทะนุถนอม เพื่อให้ได้ลูกน้อยที่น่ารักและสมบูรณ์ที่สุด เมื่อลืมตาออกมาดูโลก แต่ยังเป็นระยะเวลาสำคัญให้ว่าที่คุณพ่อกับคุณแม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ วางแผนการเงินเพื่อลดความเสี่ยงสร้างความมั่นใจ เป็นการปูทางมั่นคงแห่งอนาคตให้แก่ลูกรัก เดวิด เอลลิส เป็นคอลัมนิสต์ของซีเอ็นเอ็น มันนี่ ซึ่งชื่ออาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นตาแฟนๆ คอลัมน์ Tricks and Tips แต่คราวนี้การนำเสนอข้อมูลของเขากลับน่าสนใจ เพราะสามารถเป็นทางเลือกให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่คนไทยทั้งในและต่างประเทศ ได้เก็บข้อมูลไว้นำไปปรับใช้กับตัวเองได้ "เคล็ดลับการเงินเพื่อว่าที่คุณพ่อกับคุณแม่" เป็นหัวเรื่องที่เอลลิสตั้งขึ้นมาดึงดูดความสนใจ ให้ผู้เขียนคอลัมน์ Tricks and Tips อยากเรียบเรียงให้คนไทยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ปกครองที่กำลังจะเป็นพ่อแม่คน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแผนการเงินเพื่ออนาคตมั่นคงของลูกรัก ที่กำลังจะลืมตาขึ้นมาดูโลกที่วุ่นวาย และมีแต่ความไม่แน่นอน หลังจากรวมคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวกับการวางแผนการเงิน เอลลิสได้เรียบเรียงออกมาเป็นเคล็ดลับ ซึ่งจะเน้นการทำประกันต่างๆ และการสร้างความสมดุลการเงินรองรับความจำเป็น ทั้งในระยะสั้นและยาว "ผมคิดว่าสามี และภรรยาโดยทั่วไปแล้ว ควรเริ่มต้นวางแผนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เมื่อพวกเขารู้ว่ากำลังมีเจ้าตัวน้อย" ลินดา เมอร์เรย์ บรรณาธิการบริหารของ BabyCenter.com เวบไซต์รวบรวมข้อมูลคำแนะนำให้กับว่าที่คุณพ่อกับคุณแม่ไว้มากมายกล่าวให้ฉุกคิด "ให้แน่ใจว่าได้ทำประกันเผื่ออนาคตลูกน้อย" เป็นเคล็ดลับแรกที่เอลลิส ได้มาจากไอเดียผู้เชี่ยวชาญ เพราะนอกเหนือจากข่าวดีที่ได้ลูก การดูแลรักษาสุขภาพสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้ดีอยู่เสมอแล้ว การทำประกันให้ครอบคลุม ทั้งประกันชีวิตและกรณีทุพพลภาพ ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในแผนการเงิน ยีน โรบินสัน นักวางแผนการเงินจาก Marshall Financial Group สำนักงานการเงินในเมืองดอยเลสทาวน์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย ให้ข้อคิดด้วยการอธิบายไว้ง่ายๆ ว่า ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมช่วงระหว่างภรรยาตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องสำคัญ โรบินสัน กล่าวว่าหลายต่อหลายครั้ง ที่เงื่อนไขการทำประกันไม่ได้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพไว้ชัดเจน ซึ่งปัญหาหรือช่องโหว่นี้ทำให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ อาจจะต้องควักกระเป๋าจ่ายหนักได้ตลอดเวลา จนเกิดปัญหาการเงินตึงตัว "สิ่งที่เลวร้ายที่สุด อยู่ที่ภาวะช็อตทางการเงินยังคงเกิดขึ้นและวิ่งเข้ามาหาอยู่เรื่อยๆ หลังจากคุณแม่ให้กำเนิดลูกน้อยแล้ว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่ผู้ปกครองต้องมีหรือผลประโยชน์ที่ควรได้" โรบินสันตั้งข้อสังเกต เอลลิสย้ำว่าการกำหนดเงื่อนไขในกรมธรรมประกันชีวิตและกรณีเกิดทุพพลภาพ หรือการเพิ่มประกันให้ครอบคลุมมากขึ้นจากเงื่อนไขเดิมเป็นสิ่งจำเป็น ในกรณีที่สามีหรือภรรยา หรือทั้งสองคนเจ็บป่วยอยู่ในสภาพพิการ หรือประสบอุบัติเหตุน่าเศร้า ทั้งสามีกับภรรยาจำเป็นต้องมีหลักประกันสร้างความมั่นใจได้ว่า สินทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย รวมทั้งค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนในการเลี้ยงดูลูกทุกอย่าง จะได้รับการดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยความรอบคอบ ดร.สตีเฟ่น ไวส์บาร์ท นักเศรษฐศาสตร์ของ Insurance Information Institute กล่าวว่าจากกฎแห่งการป้องกันความเสี่ยงที่ดี ให้ครอบคลุมกรณีผู้ทำประกันเกิดทุพพลภาพ อยู่ที่ต้องใช้จ่าย 60-65%ของเงินเดือนที่ได้รับโดยรวม ว่าที่คุณพ่อคุณแม่คนไทยบางคู่ อาจลังเลใจกับข้อมูลข้างต้น ว่าจะซื้อประกันชีวิตดีหรือไม่ด้วยค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ซึ่ง ดร.ไวส์บาร์ท ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ควรสร้างความมั่นใจเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต ด้วยการกำหนดเงื่อนไขทำประกันให้ครอบคลุม มีมูลค่าคิดเป็น 10 เท่าของเงินเดือนหรือรายได้ที่หามาได้ "หากเป็นพ่อแม่มือใหม่ เป้าหมายควรวางไว้ คือ ความสามารถที่จะชดเชยรายได้ ที่ทั้งคู่หรือคนใดคนหนึ่งสามารถหามาได้ จนกว่าลูกจะโตและแยกบ้านไปมีชีวิตอิสระหรือชีวิตคู่ได้" ดร.ไวส์บาร์ท ตั้งข้อสังเกต เอลลิสเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไทยทั้งใน และต่างประเทศเช่นกัน ที่จะแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ของครอบครัว เนื่องจากการกำหนดให้พ่อหรือแม่เป็นผู้ดูแลปกป้องผลประโยชน์ ย่อมดีกว่าเปิดช่องว่างให้ศาลเข้ามาแทรกแซง มีอำนาจตัดสินใจแทน "สร้างสมดุลเพื่อความจำเป็นทางการเงินระยะสั้นกับแผนการเงินระยะยาว" ชารอน ลูเคอร์ นักวางแผนการเงินหญิงจากมลรัฐเท็กซัส แนะนำว่าพ่อแม่มือใหม่มีลูกคนแรก ควรแน่ใจหรือมั่นใจแล้วว่า ได้ร่วมกันสร้างสมดุลให้กับความต้องการหรือความจำเป็น ซึ่งต้องมีไว้ให้ลูกในอนาคต โดยไม่กระทบต่อเป้าหมายการเงินส่วนตัวของแต่ละคน ลูเคอร์ตั้งข้อสังเกตว่า การวางแผนการเงินเพื่อลูก อาจกระทบหรือดึงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่ชาวสหรัฐเรียกว่า 401(k) ซึ่งทำให้ทั้งพ่อและแม่เสี่ยงกับความไม่สามารถเดินไปตามแผนยามเกษียณที่วางไว้ เอลลิสเตือนว่า ความกังวลและสับสนมากเกินไป ระหว่างแผนเพื่อวัยเกษียณของพ่อและแม่กับอนาคตของลูก อาจยิ่งกดดันให้ทั้งคู่จับเอาค่าใช้จ่ายทุกอย่างเกี่ยวกับลูกไปรวมไว้ในหนี้บัตรเครดิต จนในที่สุดไปเพิ่มมูลหนี้ ที่อาจวกกลับมาทำลายแผนการเงินของตัวเองและครอบครัวได้ โจทย์ข้างต้นจึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า สมดุลแห่งการวางแผนการเงินเพื่อตัวเอง และครอบครัวกับลูกควรอยู่ตรงไหนนั้น ลูเคอร์ให้คำตอบสั้นๆ ว่า ต้องอาศัยอายุเป็นปัจจัยใช้ตัดสินใจได้ดี พ่อแม่รายใดที่รอคอยจนอายุมากหน่อยกว่าจะมีลูก อาจเริ่มสร้างขุมเงินขุมทองไว้ใช้ในยามเกษียณไว้ได้มากก่อนหน้านี้ และทั้งคู่สามารถใช้ความพยายามไม่ต้องเหนื่อยมากนัก ในการเริ่มต้นอดออมเพื่อการศึกษาและสุขภาพที่ดีแข็งแรงของลูกรัก แต่ในกรณีของพ่อแม่อายุยังน้อย การเกาะติดยึดมั่นเป้าหมายเพื่อวัยเกษียณไม่ควรละทิ้งหรือยอมเสียไป เพียงเพื่อจะหันมาเริ่มต้นการสะสมเงินทุนเพื่อการศึกษาของลูก "คำแนะนำของดิฉัน คือ พ่อและแม่ต้องให้ความสำคัญกับแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ มากกว่าความยุ่งยากในการเตรียมแผนเพื่ออนาคตการศึกษาของลูก เพราะมีหลายหนทางที่พ่อกับแม่จะหาทางให้ได้มาเป็นทุนการศึกษาของลูกในอนาคต" ลูเคอร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเงิน และเป็นคุณแม่ลูกแฝดอายุ 3 ขวบกล่าวเตือน หากพ่อกับแม่มือใหม่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เอลลิสปลอบขวัญว่าอย่าได้กังวล และขอให้มั่นใจได้ว่าแผนวัยเกษียณของทั้งพ่อและแม่จะได้รับผลกระทบเสียหาย เพียงแต่ขอให้ทั้งคู่แน่ใจว่ามีการส่งเงินสมทบจำนวนเพียงพอ ตามเงื่อนไขเพื่อให้ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างครบ นอกจากนี้ หากว่าที่คุณพ่อและคุณแม่คนไทย โดยเฉพาะคนไทยในสหรัฐ ที่เตรียมพร้อมเริ่มมองหาเครื่องมือการลงทุนไว้สำหรับลูกน้อยที่จะเกิดมา ทั้งลูเคอร์ และโรบินสันแนะนำให้ลงเงินส่วนหนึ่งไว้ใน 529 plan ซึ่งคนสหรัฐใช้เรียกบัญชีเงินออมเพื่อการศึกษาบุตรปลอดภาษี การลงทุนใน 529 plan เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มคนอเมริกัน เพราะเป็นทางเลือกไม่มีข้อจำกัด ว่าผู้ปกครองจะลงทุนในเครื่องมือการเงินประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หลักทรัพย์ หรือตั๋วเงินฝาก เม็ดเงินลงทุนในรูปแบบ 529 plan จะงอกเงยออกดอกออกผลโดยไม่มีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกว่าบุตรมีอายุหรือความสามารถพร้อมจะเข้าศึกษาต่อระดับวิทยาลัยหรือระดับสูงแล้ว "เร่งปลดหนี้คงค้างภาระไม่ควรมองข้าม" ลินดา เมอร์เรย์ ผู้บริหาร BabyCenter.com และเจ้าของงานเขียน "The BabyCenter Essential Guide to Pregnancy and Birth" แนะนำเคล็ดลับสุดท้ายแก่พ่อกับแม่มือใหม่ ควรใช้เวลาช่วงที่ลูกยังอยู่ในครรภ์จัดการชำระคืนหนี้ให้เหลือน้อยที่สุดหรือให้หมดไป เพราะช่วงลูกคลอดออกมาพวกเขาจะไม่มีเวลาจัดการเงินมากนัก และต้องอยู่ติดบ้านตลอดไม่น้อยกว่า 3 เดือน เมอร์เรย์เห็นว่า หลายสัปดาห์หลังจากคุณแม่คลอดเจ้าตัวน้อย ทั้งพ่อและแม่จะไม่มีเวลาหรืออาจจะลืมเรื่องการบริหารหนี้ที่มีอยู่ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงที่จะเพิ่มหนี้ หรือเกิดดินพอกหางหมูเพราะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการชำระคืนล่าช้า จึงเป็นทางเลือกดีที่สุดที่ควรทำ
|