เพราะยาไม่ใช่ขนมหรืออาหารรสอร่อยที่น่าลิ้มลอง ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากป่วย โดยเฉพาะกับเจ้าตัวเล็ก แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ ความปลอดภัยในการใช้ยา จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม ยาสำหรับลูก ยาสำหรับเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ เพราะมีขนาด น้ำหนักและปริมาตรร่างกาย รวมถึงความสามารถในการดูดซึมและขับยาออกมาจากร่างกายที่แตกต่างจากคนตัวโตๆ
เพื่อให้เด็กกินยาได้ง่าย ส่วนมากยาสำหรับเด็กเล็กจะเป็นชนิดน้ำเชื่อม ซึ่งจะใช้อุปกรณ์ตวงยาคือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร และ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร
เมื่อพาลูกไปพบแพทย์ และรับยาจากโรงพยาบาลแล้ว ตรวจสอบว่ายาที่ได้รับถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
อ่านรายละเอียดการใช้ยา ข้อควรระวัง ข้อห้ามและการเก็บยาแต่ละชนิดตามคำแนะนำบนฉลาก หากมีข้อข้องใจควรปรึกษาเภสัชกรผู้จ่ายยา
การใช้ยา เด็กบางคนกินยายาก แม้จะเป็นชนิดน้ำเชื่อมรสหวานก็ตาม ถ้าลูกไม่ยอมกินยา ก็ไม่ควรใช้วิธีบังคับจับกรอกยาใส่ปาก เพราะหากลูกดิ้น อาจสำลักยาได้ และยังทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับการกินยา ควรใช้วิธีพูดคุยโน้มน้าวถึงข้อเสียของการไม่กินยา ป่วยเป็นโรคแล้วไม่ดีอย่างไรให้ลูกเข้าใจจะดีกว่า
หากจะผสมยาลงในนม หรือน้ำหวาน ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนว่าจะมีผลต่อประสิทธิภาพของยาหรือไม่ และไม่ควรผสมยาลงไปในน้ำที่มีปริมาตรมากเกินไป เพราะหากลูกกินไม่หมด อาจได้รับยาไม่ครบตามที่ต้องการได้
กินยาได้ให้ต่อเนื่องตามเวลาที่แพทย์สั่ง ปริมาณยาไม่มากไปหรือน้อยไป ยาบางชนิดต้องรอเวลาให้ยาออกฤทธิ์ก่อน อย่าให้ยาลูกเพิ่มถ้าคิดว่าไม่ได้ผล เพราะแพทย์ได้กะปริมาณยาไว้ให้พอดีกับร่างกายลูกแล้ว ถ้ากินยาเกินขนาด อาจเป็นอันตรายได้
หากเกิดความผิดปกติหลังการกินยา เช่น อาการแพ้ผื่นคัน บวม ฯลฯ ควรหยุดยา แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ข้อควรระวัง การใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เป็นเรื่องต้องระวัง ไม่ควรซื้อยามากินเอง
สังเกตลักษณะยาด้วยว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง ดูได้จาก สี กลิ่น รส ที่เปลี่ยนไป โดยมีสาเหตุมาจากการหมดอายุของยาแล้ว หรือการเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งยาที่เสื่อมสภาพแล้วนอกจากจะไม่ให้ผลในการรักษา ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ด้วย
|