|
เศรษฐกิจไทยจะตั้งรับอย่างไร? ในอีก 9 เดือนที่เหลือ |
เป็นสัญญาณที่ต้องเร่งปรับตัวแล้ว ! สำหรับเศรษฐกิจไทยในอีก 9 เดือนที่เหลือของปี 2548 หลังการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ 2 เดือนแรกของปีนี้ (เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งเห็นแนวโน้มที่ไม่ค่อยสดใสนัก
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ จะเป็นที่คาดการณ์กันอยู่แล้วถึงภาวะขาดดุลการค้าที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสอดรับกับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตและมีการขยายการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลถึง 942 ล้านดอลลาร์ ในเดือนม.ค.48 และเกินดุลเพียง 106 ล้านดอลลาร์ในเดือน ก.พ.48 ทำให้ 2 เดือนแรกของปี เศรษฐกิจไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 836 ล้านดอลลาร์ และยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกของปีนี้
แต่ถึงกระนั้น ทั้งกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ต่างก็ออกมายืนยันอ้างอิงตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีว่ายังเกินดุลอยู่ (แบงก์ชาติประมาณการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี 2548 อยู่ที่ 1,000-3,000 ล้านดอลลาร์) โดยเชื่อมั่นว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี (ต.ค.-ธ.ค.48)จะมีปัจจัยบวกผลักดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เช่น รายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมามากในไตรมาสที่ 4 และปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากความพยายามของภาครัฐในการเร่งหามาตรการสนับสนุนการส่งออก รวมถึงการชะลอการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าในระยะแรกค่อนข้างสูงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ราคาน้ำมัน ซึ่งแบงก์ชาติประเมินผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบดูไบ(น้ำมันดิบที่ประเทศไทยนำเข้า)ที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ดอลลาร์ กระทบดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 300 ล้านดอลลาร์
สัญญาณทางเศรษฐกิจที่ต้องระวังข้างต้น ทำให้เมื่อเร็วๆนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องเร่งปรับกระบวนยุทธ ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปมากกว่านี้ โดยได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ ปรับเป้าหมายการส่งออกทั้งปีเพิ่มจาก 15 % เป็น 20 % หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่ระดับ 97,700 ล้านดอลลาร์ เป็นมูลค่าประมาณ 117,241 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยมูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนจะต้องสูงเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ จาก 2 เดือนแรกที่มูลค่าการส่งออกรวมกันแล้วอยู่ที่ 15,339 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มจากระยะ 2 เดือนแรกของปี 47 เพียง 8.7 %
การขยับมูลค่าการส่งออกให้โตถึง 20 % ในอีก 9 เดือนที่เหลือนี้ ถือเป็นภาระหนักสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีสำนักวิจัยค่ายไหนเลยที่ประเมินอัตราการขยายตัวของภาคส่งออกในปีนี้ไว้ถึง 20 % แม้แต่เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแบงก์ชาติแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนก.พ.48 นางสุชาดา กิระกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ยังประมาณการการขยายตัวของภาคส่งออกปีนี้ทั้งปี หากทำได้ถึงระดับ 7-8 % ก็ถือว่าดีแล้ว เพราะฐานการส่งออกในปีที่แล้วที่ขยายตัวสูงถึงกว่า 23 % ประกอบกับปริมาณสินค้าเกษตรส่งออกในปีนี้หดตัวจากภาวะภัยแล้ง
ประกอบกับแนวโน้มของค่าเงินบาทที่ยังผันผวนอยู่ในขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ท้ายที่สุดแล้วค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ จะเป็นตัวหนุนการเติบโตของภาคส่งออกของไทยได้หรือไม่
ขณะที่ ดร.พิศาล มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า
" ถึงแม้ภาคส่งออกใน 4 ปีข้างหน้าจะไม่ขยายตัวสูงได้เท่ากับ 4 ปีที่แล้ว แต่ต้องพยายามทำให้ภาคการส่งออกไม่ดับ ซึ่งวิธีทำคือ ต้องเจาะตลาดใหม่ๆ ที่เราอาจจะเจาะได้คือ ตลาดอาฟริกา ซึ่งปีที่แล้ว ประเทศไทยส่งออกสู่ตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น 74 % ถึงมูลค่าจะไม่มากแต่มีแนวโน้มโตต่อไปได้ และยังเป็นตลาดที่เราขายแล้วเกินดุลประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งปี 48 ประเทศไทย ส่งออกไปได้เพิ่มขึ้น 25 % แต่ต้องขาดทุนจากการค้ากับตะวันออกกลางประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์ เพราะประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันมามาก "
อีกความหวังหนึ่งของรัฐบาล คือ การฟื้นรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีการปรับยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวกันไปแล้วหลายรอบ แต่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวก็ยังดูเลือนรางอยู่ ถึงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนก.พ.48 จะกระเตื้องขึ้นบ้าง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามารวม 912,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.6 % สูงกว่า เดือนม.ค.48 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 890,000 คน (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.9 %) ขณะที่อัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยในเดือนก.พ.อยู่ที่ 66.1 % ลดจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 68.9 % (อัตราการเข้าพักโรงแรมในภาคใต้ต่ำลงยกเว้นจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่อัตราเข้าพักเพิ่มขึ้นจาก 56.1 % เป็น 68.5 % เพราะนักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทางจากฝั่งทะเลอันดามันไปยังเกาะสมุยมากขึ้น) แต่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ในเดือนก.พ.48 เกินดุล 702 ล้านดอลลาร์สูงกว่าเดือนม.ค.48 ที่อยู่ที่ 533 ดอลลาร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
9 เดือนที่เหลือจากนี้ไป ไม่เพียงแค่จะต้องเหนื่อยหนักกับมาตรการผลักดันภาคส่งออก และฟื้นรายได้จากภาคท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เศรษฐกิจไทยอาจเจอข่าวร้ายเพิ่มขึ้น เพราะจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.พ. เป็นที่น่าจับตาว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายตัวบอกอาการไม่ค่อยดี เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(สินค้า 76 รายการ)
ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีเศษ นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2544 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 1.6 %
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงดังกล่าว เป็นการลดลงในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลงถึง 13.7 % ในเดือนก.พ. 48 จากเดือนม.ค.ที่ลดลง 5 % เครื่องหนังตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง20.3 % จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 17 % การขาดแคลนวัตถุดิบในหมวดอาหาร ซึ่งเป็นผลจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้วัตถุดิบทางการเกษตรที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น น้ำตาล สับปะรดกระป๋อง ไม่เพียงพอ ซึ่งแม้ว่าภาวะดังกล่าวจะเป็นภาวะชั่วคราว แต่จะกินเวลาถึง 2-3 เดือน
ในขณะเดียวกันอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนก.พ.ก็ยังปรับลดลงต่ำกว่า 70 % โดยอยู่ที่ระดับ 65.2 %
ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี 4 เดือน (อัตราการใช้กำลังการผลิต เคยอยู่ที่ระดับ 65.2 % มาแล้วครั้งหนึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน 2546) ถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงจะเป็นการลดลงตามฤดูกาล แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตและมีการลงทุนใหม่ อัตราการใช้กำลังการผลิตน่าจะปรับตัวสูงสอดรับกับภาวะการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการโน้มต่ำลง
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเพิ่งผ่านโค้งแรก สำหรับปี 2548 แต่ต้องนับว่าเป็นโค้งอันตราย ที่ไม่ได้อยู่บนทางที่ราบเรียบเหมือนเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา และเชื่อแน่ว่าเศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงต่อปัจจัยลบที่รุมเร้าทั้งจากภายในและนอกประเทศไปได้ เพียงแต่การตั้งรับของภาครัฐจะบรรเทาผลกระทบได้มากหรือน้อยเท่านั้น !!!
|
|
บ้านมือสอง คอนโด condo บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านเช่า ที่ดิน
วันที่ : 27 เมษายน 2548
จำนวนผู้อ่าน : 5905 ครั้ง
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ
|
|
|
ขายบ้าน, คอนโด มือสอง, บริษัทนายหน้า, โบรกเกอร์, รับฝากขายบ้าน, ขายบ้าน, realtor, agency, บริษัท ขายบ้าน, ตัวแทน นายหน้า, รับฝากขาย, ซื้อขายบ้าน, ฝากขายบ้าน
นายหน้า ขายบ้าน, บ.นายหน้า ขายบ้าน, โบรกเกอร์, ซื้อขายบ้าน, รับฝากขายบ้าน, ตัวแทนนายหน้า, โบรกเกอร์บ้าน, นายหน้าบ้าน, ตัวแทนบ้าน ขายบ้าน ตกแต่งบ้าน ฟอร์นิเจอร์ ออกแบบ บ้าน ซื้อขาย บ้าน, รับออกแบบ บ้าน, รวมแบบบ้านแบบ บ้าน, ตกแต่งภายใน บ้าน, interior design ออกแบบ บ้าน, interior รับออกแบบ บ้าน,
Architecture รับออกแบบ บ้าน, ตกแต่งบ้าน, ตกแต่งภายใน, Mudahouse, ตกแต่งภายใน, รับเหมา ก่อสร้างบ้าน, บริษัท ก่อสร้าง
|