คนเราก็ต้องมีความกลัวอะไรกันบ้าง ในบางสิ่งบางอย่าง บ้างก็กลัวการขึ้นเครื่องบิน บ้างกลัวการพูดในที่สาธารณะ ในขณะที่ความกลัวเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ แต่ความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า โฟเบีย นั้น เป็นปฏิกิริยาต่อสถานการณ์หนึ่งๆ อย่างที่มากเกินยิ่งขึ้นไปอีก และค่อนข้างจะเอาชนะได้ยากยิ่ง เมื่อเกิดความกลัว คนส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้า แต่เดนนิส กรีนเบอร์เกอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ กล่าวว่า ความคิดเรื่องความหายนะที่นำไปสู่ความกลัว ซึ่งความกลัวนำไปสู่การหลีกเลี่ยง แล้วก็นำไปสู่ความหายนะมากขึ้นไปอีก ดังนั้น มันจึงเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยิ่งรบกวนตลอดเวลา ในทางจิตวิทยาอาวุธหนึ่งที่จะเอาชนะความกลัวได้ก็คือการใช้ พฤติกรรมบำบัดกับการปรับเปลี่ยนความคิด (ซีบีที) จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดที่จะเอาชนะความเครียด ความเกลียดชังตัวเองและความกลัว วิธีพฤติกรรมบำบัดแบบซีบีที เชื่อว่าความรู้สึกที่ไม่ดีนั้นเริ่มจากความคิดที่ไม่ดี ถ้าเอาชนะความคิดที่อยู่ในหัวลงได้ ก็เท่ากับเกือบจะปราบความกลัวลงได้แล้ว ข้อดีของวิธีนี้คือไม่ต้องมีการใช้ยาลดความเครียด และก่อนที่จะไปถึงมือนักจิตวิทยา เราเองก็อาจจะลองถามตัวเอง ตรวจสอบตัวเองเสียก่อน เพื่อจะลองเอาชนะความกลัวด้วยตัวเองให้ได้ โดยขั้นแรกต้องเข้าใจว่าเราจะไม่สามารถเอาชนะความกลัวได้ถ้าหากไม่เข้าใจว่ากลัวอะไร ขั้นต้นจึงต้องถามตัวเองด้วยคำถามขั้นพื้นฐานว่า อะไรที่เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น จะเกิดหายนะอะไรตามมา และเราจะเอาชนะมันได้อย่างไร ขั้นต่อมาให้ลองไล่เรียงความกลัวจัดอันดับจากขั้นที่รุนแรงที่สุด แล้วลองดูว่าจะค่อยๆ แก้ สถานการณ์นั้นอย่างไรได้บ้าง อาจจะสมมติสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ คราวนี้ก็มาถึงจุดที่น่ากลัวที่สุดคือเข้าสู่สถานการณ์จริง เริ่มจากสถานการณ์ ที่ง่ายที่สุดก่อน ลองเริ่มต้นสูดหายใจลึกๆ เผชิญ หน้ากับมัน ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ สักวันละ 10-30 นาที แล้วค่อยดูพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นอย่างที่คิดก็คงต้องพึ่งบริการ จากนักจิตวิทยาอาชีพให้ช่วยแก้ไขพฤติกรรมความกลัวให้ที.
|