ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังแข่งเดือด ขณะที่ราคาน้ำมัน-ค่าครองชีพที่แพงขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเสี่ยงในการให้สินเชื่อลูกค้าเพิ่มขึ้น แบงก์พาณิชย์ปรับแผนจับมือหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน ปล่อยกู้ภายใต้โครงการสวัสดิการซื้อบ้าน "ขรรค์ ประจวบเหมาะ" มั่นใจ ธอส.ลอยลำ เผยมีลูกค้ากลุ่มนี้ในมือ 55% เพราะทำตลาดมาก่อน นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากที่ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มแข่งขันในระดับที่รุนแรงต่อเนื่อง ขณะที่ค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้สถาบันการเงินมีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ามากขึ้น สถาบันการเงินหลายแห่งโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์จึงหันมาทำตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประเภทสินเชื่อสวัสดิการ โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนมากขึ้น เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการสวัสดิการจะมีหลักประกันความเสี่ยงกันมากกว่า เพราะหน่วยงานต้นสังกัดของผู้กู้จะเป็นผู้หักเงินเดือนผ่อนชำระค่างวดบ้านให้กับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ธอส.ก็ให้ความสำคัญกับลูกค้าในกลุ่มนี้ และที่ผ่านมาก็มีลูกค้าที่ยื่นขอกู้ซื้อบ้านภายในโครงการสินเชื่อสวัสดิการสูงถึง 55% ของยอดปล่อยสินเชื่อทั้งหมด "แนวโน้มการทำตลาดตอนนี้ ธนาคารหลายๆ แห่งหันมาเล่นตลาดนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีความเสี่ยงน้อยมาก และนอกจากจะแข่งขันกันด้านการให้บริการแล้ว แต่ละแบงก์ยังจะเสนอเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ ดึงดูดใจลูกค้าด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ, ยื่นกู้ได้ 100% เป็นต้น" นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธนาคารกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการให้บริการสินเชื่อสวัสดิการที่อยู่อาศัยแก่พนักงานบริษัทเอกชนหลายแห่ง โดยจะมีการปรับเงื่อนไขการขอสินเชื่อให้ความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เบื้องต้นมองว่าตลาดนี้ยังมีแนวโน้มไปได้ดี และสามารถสร้างรายได้ให้กับธนาคารได้อีกมาก "ตอนนี้เราเน้นไปที่สินเชื่อสวัสดิการซื้อบ้านของรัฐวิสาหกิจมากกว่า สำหรับพนักงานบริษัทเอกชนก็มีอยู่บ้าง ที่เน้นพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นเพราะมองว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจมีความมั่นคงด้านการทำงานมากกว่า สำหรับพนักงานในบริษัทเอกชนอาจมีโอกาสเปลี่ยนที่ทำงาน เมื่อมีการเปลี่ยนงานก็ต้องมีการปรับค่างวดผ่อนชำระหนี้ใหม่ ทำให้ยุ่งยากมากขึ้น" นางชาลอตกล่าว ด้านนายธาดา จารุกิจไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนที่จะรุกตลาดสินเชื่อสวัสดิการพนักงานบริษัทเอกชนในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากมองว่าลูกค้าในกลุ่มนี้มีรายได้ที่มั่นคง และมีสถานที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหนี้สูญมีน้อย เนื่องจากการชำระหนี้ของลูกค้านั้นจะหักจากเงินเดือนประจำ "ถ้าเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ธนาคารจะมีรายได้จากตรงนี้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินที่ดี และมีความต้องการที่จะใช้บริการทางการเงินกับแบงก์อยู่แล้ว การที่แบงก์ขยายไปให้บริการกับลูกค้า แทนที่จะให้ลูกค้าเข้ามาหา จะทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวก และจะตอบรับบริการเป็นอย่างดี" นายธาดากล่าวต่อว่า ตนมองว่าธนาคารในฐานะเป็นผู้ให้บริการจะต้องนำเสนอบริการแก่ลูกค้าให้ครบทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่สินเชื่ออย่างเดียว เพราะลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการที่จะใช้บริการทางการเงินไม่เหมือนกัน เช่น บางคนต้อง การสินเชื่อซื้อบ้าน บางคนต้องการมีบัตรเครดิต เป็นต้น คิดว่าในจุดนี้แต่ละธนาคารมองเหมือนๆ กัน ซึ่งจะทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดมากขึ้น
|