|
คนอดนอนต้องระวัง |
หลายคนอาจจะคิดว่าการอดนอนเป็นเรื่องชิลชิล ไว้ไปนอนชดเชยเอาแล้วกัน แต่จริงๆ การอดนอนเป็นเรื่องควรใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคุณสาวๆ (และไม่สาวทั้งหลาย) เรื่อง: รศ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล ที่เป็นห่วงสุขภาพใบหน้าและความงาม เพราะการอดนอน จะทำให้รอบดวงตามีสีคล้ำ ใบหน้าอิดโรย ผิวหนังเหี่ยวเฉา อารมณ์ไม่แจ่มใส สมองมึนตื้อ คิดอะไรไม่ค่อยออก ซึ่งหากปล่อยให้ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยๆ ตอนดูกระจกอาจจะตกใจ ว่านี่คือ ใบหน้าของตูเองหรือนี่ อายุ ....เท่านี้เอง!!!
แต่ผลของการอดนอนไม่เพียงทำให้ความงามลดลงเท่านั้นนะครับ มีข้อควรคำนึงอีกหลายๆ อย่างสำหรับการอดนอนกับสุขภาพของคุณเอง เช่น การอดนอนมักจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นโรคความดันสูงอยู่พึงระวัง ให้มีการพักผ่อนนอนหลับที่เหมาะสมเพียงพอกับตัวเอง สารอาหารบางอย่างหรือยาบางชนิดจะมีผลกระทบต่อการนอนได้ เช่น สารคาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม ซึ่งหากดื่มมากๆ ก็จะกระตุ้นประสาททำให้นอนหลับยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กๆ จะมีผลมากกว่าผู้ใหญ่ คุณอาจจะไม่เคยสังเกตุเลยว่าลูกหรือเด็กๆ ในบ้าน บางคืนดึกแล้วยังไม่ยอมนอนสักที ปกติจะหลับปุ๋ยไปตั้งนานแล้ว ลองย้อนกลับไปว่าเด็กอาจจะดื่มน้ำอัดลมมากไปหน่อยช่วงตอนเย็นหรือก่อนนอนก็เป็นได้ครับ
นอกจากนี้ยาบางตัวก็ทำให้นอนไม่หลับได้ เช่น ยารักษาไข้หวัดบางชนิด จะมีตัวยาที่สามารถกระตุ้นประสาทและกระตุ้นหัวใจ บางคนที่ไวต่อยามากๆ อาจทำให้เกิดอาการใจเต้นใจสั่น นอนไม่หลับเลย ก็เป็นได้เช่นกัน
การอดนอนนอกจากจะทำให้ไม่สดชื่นแล้ว ยังมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคนเราด้วยอย่างชัดเจน หากเรานอนหลับไม่เพียงพอจะมีผลต่อการทำงานของสมอง จะเชื่องช้า ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ไม่ดีเท่าที่ควร การตัดสินใจผิดพลาด ได้มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำในแพทย์ประจำบ้าน (แพทย์ที่จบแล้ว มาศึกษาต่อสาขาเฉพาะทาง) ที่จะต้องทำงานอยู่เวรตอนกลางคืน อดหลับอดนอนเป็นประจำ โดยศึกษาจากการใช้เครื่องทดสอบการขับขี่ยานพาหนะ (simulator driving test)ในช่วงที่ทำงานไม่หนัก (ทำงาน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เปรียบเทียบกับช่วงที่ทำงานหนัก ต้องมีการอยู่เวรถี่ และต้องอดนอนบ่อย (ทำงาน 80-90 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ในขณะที่อาจจะได้หรือไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ผลการทดสอบพบว่าช่วงที่ทำงานหนักอดนอนจะมีการตอบสนองที่ช้าลงกว่าช่วงที่ทำงานเบาๆ ถึงประมาณ 7% และมีความผิดพลาดของการตัดสินใจมากกว่าถึง 40% มีการขับที่ไม่อยู่ในช่องทางที่ถูกต้องมากกว่าช่วงไม่อดนอน 27% มีการขับที่ความเร็วไม่คงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลามากกว่า 71% เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงที่พักผ่อนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบช่วงที่ไม่อดนอนแต่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้ได้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ความเข้มข้น 0.4-0.5 เทียบกับช่วงที่ทำงานหนักอดนอน (แต่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์) พบว่าช่วงที่อดนอนมีการขับขี่ที่ความเร็วไม่สม่ำเสมอ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สูงมากกว่าถึง 29% แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเกิดอุบัติเหตุใกล้เคียงกัน
อันนี้อุปมาอุปมัยหากเปรียบเทียบการขับขี่ยานพาหนะของคนที่อดนอน มาเป็นการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ก็คงพอจะนึกภาพออกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะต้องบ่อยกว่าช่วงที่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่อย่างแน่นอน หากมาดูเรื่องการปฏิบัติงานของบุคลากรสายแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปต้องมีการอยู่เวรยามกันโดยตลอดอยู่แล้ว ผู้ใช้บริการทั้งหลาย ก็ต้องพึงระวัง หากมีอันต้องไปใช้บริการในยามวิกาล ต้องตระหนักว่าแม้ผู้ปฏิบัติงานและโรงพยาบาลเองจะพยายามจะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดหรือไม่เกิดเลยได้ยิ่งดี แต่บางครั้งเราก็ไม่อาจจะเอาชนะธรรมชาติไปได้ สภาพร่างกายที่อ่อนล้าจากการทำงานในช่วงกลางวัน แล้วต้องมาอยู่เวรยามต่อในช่วงกลางคืน หากต้องทำติดต่อกันหลายๆ วัน ความแข็งแกร่งของร่างกายก็ต้องถูกบั่นทอนไปเป็นลำดับ
ยกตัวอย่างง่ายๆ... มีสถิติความผิดพลาดของการได้รับเลือดนั้นพบว่ามักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ลองมาดูขบวนการว่าก่อนที่คนไข้หนึ่งคนจะได้รับเลือดนั้นมีขั้นตนอย่างไรบ้าง.... จะต้องโดนเจาะเลือดไปตรวจ เลือดจะต้องถูกส่งไปที่ธนาคารเลือด เจ้าหน้าที่ที่ธนาคารเลือดจะเป็นคนตรวจสอบกลุ่มเลือด และการเข้ากันได้ของเลือด เมื่อตรวจเสร็จแล้วก็จะส่งเลือดที่หาได้ไปที่หอผู้ป่วย พยาบาลก็จะนำเลือดนั้นไปให้คนไข้ หลายคนอาจมองภาพไม่ออกว่า ไม่เห็นจะมีอะไรที่เป็นเหตุให้ผิดพลาดมากมาย แต่อย่ามองข้ามนะครับ จากรายงานที่ผ่านมา สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วคือ การเจาะเลือดผิดคน การตรวจกลุ่มเลือดผิดพลาด การนำส่งถุงเลือดผิดพลาด การติดสลากเลือดผิดพลาด การนำเลือดไปให้คนไข้ผิดคน ...ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้นนะครับ ดังนั้นหากเป็นไปการรับเลือดในช่วงกลางวันโอกาสจะเกิดปัญหาก็จะน้อยลงครับ
ดังนั้นข้อควรปฏิบัติของคนป่วยและญาติที่จะไปใช้บริการของโรงพยาบาลยามค่ำคืนมีหลายประการที่ต้องคำนึงครับ เช่น หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการยามวิกาล เพราะข้อผิดพลาดมีโอกาสเกิดได้บ่อยครั้งกว่า ยิ่งดึกยิ่งความเสี่ยงสูง คนไข้บางคนทำงานเป็นกะ เลิกงานตอนเที่ยงคืน ตีหนึ่ง แล้วไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินด้วยปัญหาที่ไม่ฉุกเฉิน เช่น เจ็บคอ หรือเป็นหวัด นอกจากตัวเองจะมีความเสี่ยงแล้ว ยังจะไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนไข้คนอื่นๆที่มาด้วยปัญหาฉุกเฉินจริงๆ เนื่องจากบุคคลากรก็อ่อนล้ามากจากการที่ต้องดูแลคนไข้ที่ไม่ได้มีปัญหาฉุกเฉินก่อนหน้า ข้อควรปฏิบัติอีกอย่างคือ หากต้องมีการเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือรับเลือด ต้องยืนยันความเป็นตัวเองด้วย จะได้ไม่ผิดตัว ดูเอกสารเท่าที่ดูได้ว่าเป็นชื่อของเราแน่นอน หากมีการรับยา ดูที่ฉลากยาให้ดีว่าเป็นชื่อเรา ต่างๆ เหล่านี้หากช่วยกัน ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นก็จะน้อยลง
เห็นแล้วหรือยังครับ ถึงความสำคัญของการอดนอน มีผลเสียทั้งต่อตนเองและอาจเลยไปถึงผู้อื่นที่เราเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม ดังคำกล่าวของพระพุทธเจ้าว่า มัชฌิมา ปฏิปทา ทางเดินสายกลาง ดีที่สุดครับ มากเกินไป หรือน้อยเกินไป มีปัญหาทั้งนั้น การนอนน้อยไม่ดีฉันใด การนอนที่มากเกินไปก็ไม่ดีเช่นเดียวกัน โอกาสหน้าจะมาคุยเรื่องนี้ให้ฟังนะครับ.....
|
|
บ้านมือสอง คอนโด condo บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านเช่า ที่ดิน
วันที่ : 24 มกราคม 2555
จำนวนผู้อ่าน : 1441 ครั้ง
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ
|
|
|
ขายบ้าน, คอนโด มือสอง, บริษัทนายหน้า, โบรกเกอร์, รับฝากขายบ้าน, ขายบ้าน, realtor, agency, บริษัท ขายบ้าน, ตัวแทน นายหน้า, รับฝากขาย, ซื้อขายบ้าน, ฝากขายบ้าน
นายหน้า ขายบ้าน, บ.นายหน้า ขายบ้าน, โบรกเกอร์, ซื้อขายบ้าน, รับฝากขายบ้าน, ตัวแทนนายหน้า, โบรกเกอร์บ้าน, นายหน้าบ้าน, ตัวแทนบ้าน ขายบ้าน ตกแต่งบ้าน ฟอร์นิเจอร์ ออกแบบ บ้าน ซื้อขาย บ้าน, รับออกแบบ บ้าน, รวมแบบบ้านแบบ บ้าน, ตกแต่งภายใน บ้าน, interior design ออกแบบ บ้าน, interior รับออกแบบ บ้าน,
Architecture รับออกแบบ บ้าน, ตกแต่งบ้าน, ตกแต่งภายใน, Mudahouse, ตกแต่งภายใน, รับเหมา ก่อสร้างบ้าน, บริษัท ก่อสร้าง
|