|
ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัว |
สาวโสด ไม่โสดพึงระวัง อย่าให้ความอาย มาทำลายชีวิต ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัว เพียง 5 นาที ในการตรวจแปปสเมียร์ อาจช่วยชีวิตคุณได้
ปัจจุบัน โรคมะเร็งปากมดลูก ถือเป็นภัยร้ายสำหรับผู้หญิงเป็นอย่างมาก เพราะสลับกันครองแชมป์อันดับ 1 กับ มะเร็งเต้านม มีข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าตกใจไม่น้อยว่า แต่ละวันจะมีผู้หญิงไทย 7 คน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และที่น่าห่วงคือปัจจุบันมีผู้หญิงไทยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นจำนวน 6,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 45 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็น วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักถึงภัยของมะเร็งปากมดลูก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคให้ความรู้และรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการป้องกัน ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่าที่สุด สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น เกิดจากการติดเชื้อ HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ถึง 90% และยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย, ทานยาคุมติดต่อกันหลายปี, หญิงที่สูบบุหรี่ เพราะสารในบุหรี่สามารถกระตุ้นให้เซลล์ที่ปากมดลูกมีการแบ่งตัวผิดปกติ, หญิงที่ไม่เคยตรวจ แปปสเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งเป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติของปากมดลูกในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาได้หายขาด หรือตรวจไม่สม่ำเสมอ (สม่ำเสมอหมายถึงตรวจอย่างน้อยทุก 2-5 ปี หากผลการตรวจครั้งสุดท้ายปกติ) และในทางสถิติพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเยื่อบุผิวปากมดลูก จะเริ่มพบที่อายุ 35 ปีขึ้นไป พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช (Gynecologist) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกในเมืองไทยว่ามีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ปีล่าสุดมีจำนวนผู้ป่วยถึง 6 พันกว่าราย และเสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งของสตรีที่เป็นโรคทั้งหมด ถ้าคนไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ เช่น อิงกับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน หรือหญิงวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ตอนอายุน้อยยิ่งขึ้น จำนวนผู้ป่วยก็จะมีอัตราสูงขึ้น ปัจจุบันเรามีการนำเข้าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และมีการรณรงค์ในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน รวมทั้งในกลุ่มของโรงเรียนแพทย์ แต่ผู้ใช้บริการฉีดวัคซีนยังคงอยู่ในกลุ่มสตรีที่มีรายได้ค่อนข้างดีอยู่ เพราะมีราคาค่อนข้างแพงราคา 3 เข็มจะอยู่ประมาณ 14,000-16,000 บาท การฉีดวัคซีนนั้นควรได้รับตั้งแต่อายุ 9 ถึง 26 ปี ควรฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง เมื่อฉีดเข็มแรกแล้วเว้นระยะห่าง 2 เดือนจึงค่อยฉีดเข็มที่ 2 แล้วเว้นไปอีก 4 เดือนค่อยฉีดเข็มที่ 3 ซึ่งจะเห็นว่าคำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนนี้จะแนะนำสำหรับผู้หญิงที่อายุยังน้อยซึ่งจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งเรายังผลิตเองไม่ได้ ถ้าเราสามารถกระจายการฉีดวัคซีนไปยังสตรีทั่วไปได้ โดยที่ราคาถูกลง สตรีไทยที่เป็นโรคนี้คงจะลดลง แต่ขณะนี้ แนวโน้มของสตรีที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกยังคงมีมากขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา เนื่องด้วยการตรวจคัดกรองของเขายังไม่ค่อยดี การรักษายังทำได้ไม่ทั่วถึง แต่ในแถบประเทศยุโรปหรืออเมริกาที่มีการรณรงค์ให้คนไข้มีความรู้ที่ถูกต้อง รัฐบาลมีการฉีดวัคซีนให้ทุกคน แนวโน้มอัตราการเป็นโรคก็ลดลงอยู่แล้ว ส่วนในประเทศไทยนี่น่าเป็นห่วงค่อนข้างเยอะ เพราะเมื่อเทียบกับกลุ่มของผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกในแต่ละปี โซนของประเทศไทยถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก คุณหมอสุขุมาลย์ ยังกล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้หญิงไทยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว ว่า ส่วนใหญ่มีความอายที่จะไปตรวจภายใน หรือเช็คร่างกายประจำปี ซึ่งต่างจากผู้หญิงของประเทศอื่นๆ ที่ไปตรวจทุกปี หากตรวจเจอตั้งแต่เซลล์เริ่มเปลี่ยนแปลง ยังไม่เป็นมะเร็ง ก็รักษาป้องกันได้ แต่สำหรับคนไทยบางคนตลอดชีวิตยังไม่เคยตรวจเลย พอไปตรวจก็เป็นระยะลุกลามแล้ว ยิ่งผู้หญิงที่อยู่ในชนบทห่างไกล ไม่ได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น คนไข้ที่มีอาการแล้วมาหาหมอ ส่วนใหญ่จะมีช่วงอายุ 35-40 ปีและอีกกลุ่มคือช่วงอายุ 50-60 ปี ส่วนคนที่มาตรวจประจำปีมักจะเป็นคนวัยทำงาน หรือมีครอบครัวแล้วมากกว่า ในการรักษาต้องประเมินตามอาการของโรค ส่วนคนที่อาการลุกลามแล้ว หลักๆ ก็จะรักษาด้วยการฉายแสง โอกาสหายก็อยู่ที่ระยะของโรคเช่นกัน บางคนที่มาตรวจเพิ่งมีอาการ ยังไม่ลุกลามไปที่อื่น ก็มีโอกาสหาย 90% สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติและควรรีบมาหาหมอโดยด่วน สังเกตได้จากอาการเหล่านี้คือ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดกระปริบกระปรอยระหว่างมีรอบเดือน แต่บางทีถ้ารอจนมีอาการมันก็สายเกินไปแล้ว นั่นหมายถึงมีก้อนเนื้องอกออกมาแล้ว การตรวจมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจได้ตั้งแต่เซลล์เริ่มเปลี่ยนยังไม่เป็นมะเร็ง และรักษาไม่ให้เป็นมะเร็งได้ จะไม่มีอาการเลย ส่วนสาวโสดหรือผู้ที่ยังไม่มีครอบครัว ก็อย่าคิดว่าตนเองจะปลอดโรคมะเร็งปากมดลูกซะทีเดียวคุณหมอสุขุมาลย์ เตือนว่ามีสตรีกลุ่มนี้โอกาสเป็นโรคเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือทานยาฮอร์โมนนานๆ ติดต่อกัน จึงควรตรวจเพื่อความแน่ใจ อย่างเมืองนอกได้มีการรณรงค์ให้ผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ มาตรวจภายในตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป จึงอยากแนะนำให้หญิงไทยมีการตรวจทุกปี แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ เช่น ไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน ไม่เคยมีการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกผิดปกติมาก่อน และได้รับการตรวจติดต่อกัน 3 ปีแล้วปกติ ก็สามารถเว้นได้อีก 3 ปี ปัจจุบันแพทย์มีวิธีการตรวจหาเชื้อก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีตรวจเพิ่มจากการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ถ้าตรวจพร้อมกันแล้วมีผลปกติทั้งคู่ ก็เว้นได้ 3 ปีเหมือนกัน การป้องกันเบื้องต้น คือ ซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส, มีคู่นอนน้อยคน, ลดการเที่ยวสัมผัสทางเพศ, งดการสูบบุหรี่ก็ช่วยได้ และในกรณีที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว อาจเลือกวิธีอื่นแทนการทานยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน อยากฝากถึงผู้หญิงไทยทุกคนว่า การดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูกนั้น นอกจากลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างที่กล่าวไปแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ก็ได้ผลจริงๆ จากการวิจัย และที่สำคัญคือ ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือ แปบสเมียร์ ไม่ต้องอายเพราะเราสามารถเลือกตรวจกับหมอผู้หญิงได้ ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จแล้วค่ะ ไม่น่ากลัวอะไร ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนารีเวช กล่าวถึงปัญหาสำคัญของสตรีไทย สำหรับผู้ที่ควรตรวจ แปปสเมียร์ ซึ่งเป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติของปากมดลูกในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาได้หายขาดนั้น มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ สตรีในกลุ่มอายุ 35, 40, 45, 50, 55, 60 หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว 1-3 ปี (ถึงแม้อายุจะน้อยกว่า 35 ปี), ผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีตกขาวผิดปกติ, หญิงที่ตัดมดลูก หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือหญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ และกลุ่มเลสเบี้ยน (หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน) กรณีที่มีเซลล์ผิดปกติ และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา เซลล์เหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นการใช้เวลาเพียง 5 นาทีในการตรวจแปปสเมียร์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกอาจช่วยชีวิตคุณได้ ซึ่งสามารถไปรับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน, ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานีอนามัย หากพบความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก แพทย์จะแจ้งให้ทราบแนะนำการค้นหาความผิดปกติ และการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้การพบความผิดปกติไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นมะเร็งแล้ว เซลล์ที่ผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ จึงขอให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมและรักษาต่อไป |
|
บ้านมือสอง คอนโด condo บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านเช่า ที่ดิน
วันที่ : 24 มกราคม 2555
จำนวนผู้อ่าน : 1443 ครั้ง
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ
|
|
|
ขายบ้าน, คอนโด มือสอง, บริษัทนายหน้า, โบรกเกอร์, รับฝากขายบ้าน, ขายบ้าน, realtor, agency, บริษัท ขายบ้าน, ตัวแทน นายหน้า, รับฝากขาย, ซื้อขายบ้าน, ฝากขายบ้าน
นายหน้า ขายบ้าน, บ.นายหน้า ขายบ้าน, โบรกเกอร์, ซื้อขายบ้าน, รับฝากขายบ้าน, ตัวแทนนายหน้า, โบรกเกอร์บ้าน, นายหน้าบ้าน, ตัวแทนบ้าน ขายบ้าน ตกแต่งบ้าน ฟอร์นิเจอร์ ออกแบบ บ้าน ซื้อขาย บ้าน, รับออกแบบ บ้าน, รวมแบบบ้านแบบ บ้าน, ตกแต่งภายใน บ้าน, interior design ออกแบบ บ้าน, interior รับออกแบบ บ้าน,
Architecture รับออกแบบ บ้าน, ตกแต่งบ้าน, ตกแต่งภายใน, Mudahouse, ตกแต่งภายใน, รับเหมา ก่อสร้างบ้าน, บริษัท ก่อสร้าง
|