ทำการค้าการส่งออกในยุคนี้มี 2 ทางหลักๆ คือ 1.เป็นฝ่ายไปหาลูกค้า และ 2.รอให้ลูกค้ามาหา ! โดย 2 หลักๆ ความหมายก็คือ การนำสินค้า นำธุรกิจเข้าไปอยู่ในงานแฟร์ต่างๆ กรณีถ้าเป็นแฟร์ในประเทศ อาทิ งาน BIG&BIH ก็เป็นการรอให้ลูกค้าต่างชาติมาหาเรา มาดู มาเลือกซื้อสินค้าเรา แต่ถ้าเรามีแรงที่จะไปออกบูทในต่างประเทศก็จะเรียกว่า เราเป็นฝ่ายไปหาลูกค้า ไปนำเสนอสินค้าให้ลูกค้าได้เลือกถึงที่ แต่สถานการณ์ปัจจุบันทั้ง 2 ทางต่างก็ทำไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร ? เจษฎา จิรพรรณทวี เจ้าของเทียนหอมแฮนด์เมด "บ้านเบญจวรรณ" บอกว่า ภายหลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล สิ่งที่ทำได้เวลานี้ก็คือ การประคับประคองไม่ให้ธุรกิจมันแย่ไปกว่าเดิม โดยพยายามทำสารพัดวิธีเพื่อการลดค่าใช้จ่าย ประหยัดค่าน้ำค่าไฟ เรียกว่าทำทุกอย่างไม่ให้มันแย่ไปกว่าเดิม จากเดิมที่ปัญหามันก็แย่อยู่แล้ว ถามว่าปัญหามันคืออะไร ? พื้นฐานแรกต้องเข้าใจว่า เทียนหอมบ้านเบญจวรรณเป็นสินค้าที่มีการส่งออกประมาณ 80% อีก 20% ขายในประเทศ ซึ่งสภาพตลาดเวลานี้ต้องยอมรับว่า ทำตลาดยากขึ้น คู่แข่งมากขึ้น และยิ่งปัญหาใหม่ที่มันเกิดขึ้นก็คือ ลูกค้าต่างประเทศไม่ซื้อสินค้าเลย "หลังจากการปฏิวัติ 19 กันยายน มีผลมากต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าต่างประเทศที่ไม่กล้ามาเมืองไทย" ปกติในงานบิ๊กที่กำลังจะจัดในขณะนี้ เราจะแจ้งล่วงหน้าไปยังลูกค้าให้ทราบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตอบรับว่ามา มางานฮ่องกง ก็จะแวะมาเมืองไทย มาดูมาสั่งซื้อสินค้า เพราะสินค้าของเรามีสไตล์เฉพาะตัว คือเป็นเทียนหอมแฮนด์เมด แต่ปรากฏว่าปีนี้แจ้งไปกี่ประเทศๆ ต่างตอบกลับมาว่า ไม่มา "ไม่กล้ามาประเทศยู เพราะกลัว บ้านยูมีปฏิวัติ มีการใช้กฎอัยการศึก และก่อนหน้านี้ก็มีการระเบิดแบงก์หลายสิบแห่งที่มีการเผยแพร่ข่าวออกไป ต่างประเทศก็รับทราบ ก็ยิ่งกลัว" แม้สภาพความจริงที่คนไทยต่างรับรู้กันดีว่าไม่มีอะไรก็ตาม แต่ในความรับรู้ รู้สึกของคนต่างชาติ เขาคิดไปไกลแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีอิสราเอล รบกับปาเลสไตล์ ในความเป็นจริงมันรบกันในส่วนชายแดน แต่เราถามตัวเองว่า เราจะไปมั้ย คำตอบของเราก็คือ ไม่ไป ต่างประเทศก็เช่นกัน ฉะนั้น งานบิ๊กปีนี้ทั้งยุโรป อิตาลี รัสเซีย ฯลฯ ที่เป็นลูกค้าของเรา บอกเลยว่า ไม่มา เขาไปฮ่องกงแทน เพราะฮ่องกงสะดวกกว่า การเดินทางก็ใกล้ โรงแรมก็โอเค ฉะนั้นถ้าเราอยากเจอกันให้ไปเจอที่ฮ่องกง ถามว่าเราไปได้มั้ยที่ฮ่องกง คำตอบคือ ไม่ได้ ค่าบูทที่ฮ่องกง 2,500 เหรียญยูเอส หรือประมาณ 100,000 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าอาหาร ค่าที่พัก กับภาวะช่วงนี้ต้องบอกว่าเราไม่มีความสามารถ เพราะสถานการณ์เวลานี้ของเราก็คือ รายได้จากการส่งออกลดลงเรื่อยๆ "ผมอยู่ในธุรกิจนี้ 18 ปีมาแล้ว ประมาณปี 2545 เราขายได้ดีที่สุด รายได้ทั้งปี 12 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นปี 2546 เจอโรคซาร์ส ปี 2547 เจอไข้หวัดนก ปี 2548 ปัญหาภาคใต้ มาปีนี้เจอปฏิวัติ ซึ่งยอดขายครึ่งปีนี้เพิ่งจะได้ 2 ล้าน อันนี้แหละคือข้อเท็จจริงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี" ถามต่อว่า แล้วเราดิ้นแล้วหรือยัง ดิ้นมาตลอด สิ่งที่เราพัฒนามาตลอดก็คือ คุณภาพและดีไซน์สินค้า โดยมีจุดขายที่เป็นงานแฮนด์เมด ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ขายแพง สินค้าแบบไหน ดีไซน์แบบไหนที่ลูกค้าต้องการเราทำให้หมด วอลุ่มจะมากจะน้อยเราก็รับทำ...แต่ตลาดไม่มาจะทำอย่างไร การแก้ปัญหาของเราเวลานี้ก็คือ รู้อยู่งดไปต่างประเทศและใช้วิธีติดต่อกับลูกค้าทางอินเทอร์เน็ตแทน เพราะเป็นช่องทางที่ให้ต้นทุนต่ำที่สุด "เรามีสินค้าอะไรใหม่ๆ ดีไซน์ใหม่ เราแจ้งไปทาง อินเทอร์เน็ต ถ้าเขาสนใจก็จะส่งสินค้าตัวอย่างไปให้ดู" จริงๆ การทำตลาดส่งออกมี 2 ช่องหลักๆ คือ ไม่ไปหาเขาก็ต้องให้เขามาหา ซึ่งถ้าเป็นปกติเราก็ไปหาเขาได้ ขณะเดียวกันเขาก็มาหาเราได้ แต่ภาวะตอนนี้ไม่ปกติ เราไปหาเขาก็ไม่ได้เพราะต้องประหยัด เพราะเวลานี้หน่วยงานรัฐอึมครึมมาก ไม่มีงบฯที่จะพาเราไปต่างประเทศ ครั้นเราจะไปเองก็ ไม่ไหว ค่าบูทเป็นแสน ไม่มีทุนก็ต้องรออยู่ที่บ้าน ทีนี้จะรอเขามา เขาก็ไม่มา เพราะเหตุการณ์บ้านเราไม่ปกติ ฉะนั้นช่องทาง อินเทอร์เน็ตดีที่สุด ซึ่งเราก็หวังว่าสถานการณ์แบบนี้น่าจะคลี่คลายไปโดยเร็ว เพื่อให้เอสเอ็มอีอย่างเราๆ เติบโตได้บ้าง เพราะโดยข้อเท็จจริงที่เราบอกกับตัวเองตลอดเวลาก็คือ รัฐบาลจะไปหรือจะมาแต่ธุรกิจของเราต้องอยู่ให้ได้ แต่ถ้ารัฐบาลมั่นคง ชัดเจน เราก็จะได้ไม่ต้องพะวงและสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ !!!!
|