ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ที่ "กิตติ พัฒนพงศ์พิบูล" ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยคาดหมายว่าน่าจะไต่ระดับถึง 300,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2548 ที่ผ่านมา 10% เท่ากับการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์แต่ละแห่งพากันปรับเพิ่มเป้าหมายยอดปล่อยสินเชื่อบ้าน เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดพร้อมๆ กับพยายามเร่งขยายฐานลูกค้าใหม่ สวนทางกับภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อบ้านที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของคู่แข่ง ทั้งแบงก์พาณิชย์เพื่อรายย่อยที่เกิดขึ้นใหม่ และแบงก์พาณิชย์ต่างชาติที่หันมาให้ความสำคัญกับสินเชื่อประเภทนี้มากขึ้น การประเดิมเปิดตัวแคมเปญสินเชื่อบ้านตั้งแต่หัววันของ 2 แบงก์ต่างชาติ คือ ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือแบงก์ยูโอบีจากสิงคโปร์ กับ ธนาคารจีอี มันนี่ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จากสหรัฐ เหมือนกับจะส่งสัญญาณให้รู้ล่วงหน้าว่า ปีนี้แบงก์ไทยจะเจอคู่แข่งที่น่ากลัว จึงต้องจับตาดูให้ดีว่าจากนี้ไปแต่ละแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐจะพลิกกลยุทธ์รับมืออย่างไร เพราะสมรภูมิสินเชื่อบ้านปีนี้ดูเหมือนมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาก เพราะนอกจากแบงก์ต่างชาติจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดแล้ว ยังมีแบงก์พาณิชย์รายใหม่ และแบงก์พาณิชย์เพื่อรายย่อยไทยเกิดใหม่อีกหลายแห่ง ซึ่งแต่ละรายล้วนหมายตาบุกตลาดสินเชื่อบ้านทั้งสิ้น บุกตลาดสวนทางแบงก์ไทยคุมเข้ม ที่สำคัญ การเปิดเกมรุกเข้ามาทำตลาดสินเชื่อของแบงก์ต่างชาติ อย่างยูโอบี และจีอี มันนี่ ที่ประเดิมอัดแคมเปญสินเชื่อบ้านตั้งแต่ต้นปี บังเอิญอยู่ในช่วงที่แบงก์ไทยหันมาเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อให้กับลูกค้าพอดี เห็นได้จากการสกรีนคุณสมบัติผู้กู้ละเอียดยิบ พร้อมๆ กับจำกัดวงเงินกู้ของลูกค้าแต่ละรายมากขึ้น เนื่องจากมองว่าภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น น้ำมันมีราคาแพง และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้ามีภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูงขึ้น สวนทางกับความสามารถในการผ่อนชำระค่างวดบ้านที่มีน้อยลง ประกอบกับลูกค้าบางส่วนถูกแบล็กลิสต์อยู่ในเครดิตบูโร ส่งผลให้จำนวนลูกค้าที่ยื่นขอกู้ซื้อบ้านแล้วไม่ผ่านการพิจารณามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 10-15% ในปี 2547 เป็น 20% ในปี 2548 ถึงขั้นทำให้ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่คงแก้ไขได้ลำบาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อเกรงจะมีความเสี่ยง ในการปล่อยกู้ "ยูโอบี" ปั๊มยอดแต่หัววัน
ขณะที่แบงก์สิงคโปร์อย่าง ยูโอบีฯ และจีอี มันนี่ เริ่มเปิดตลาดสินเชื่อประเภทนี้อย่างจริงจัง ในส่วนของยูโอบีฯนั้น ภายหลังจากที่เปิดตัวโปรโมชั่นสินเชื่อบ้านในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเสนอทางเลือกให้ลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อได้หลายทางเลือก โดยกำหนดวงเงินกู้สูงสุดถึง 10 ล้านบาทสำหรับซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดฯ อาทิ สินเชื่อบ้าน UOB Home Loan ที่ให้ผ่อนได้นานสูงสุด 30 ปี ให้วงเงินกู้สูงสุดถึง 95% อัตราดอกเบี้ยพิเศษตั้งแต่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2549 อัตราดอกเบี้ย เดือนที่ 1-6 ดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี เดือนที่ 7-12 ดอกเบี้ย 2.99% ต่อปี จากนั้น MLR-1.00% ต่อปีตลอดอายุสัญญา และสินเชื่อซื้อบ้านมือสอง ล่าสุดยังฉีกแนวออกแคมเปญใหม่ด้วยสโลแกน "แค่แสนเดียวก็พร้อมเป็นเจ้าของบ้านราคา 5 ล้าน" โดยให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านวางเงินดาวน์เพียงแค่ 1 แสนบาท ยื่นกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท และ 2 แสนบาทยื่นกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย เดือนที่ 1-6 ดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี เดือนที่ 7-12 ดอกเบี้ย 2.99% ต่อปี จากนั้น MLR-1.00% ต่อปี ตลอดอายุสัญญากู้ ฯลฯ โดยไม่เกรงกลัวศักดิ์ศรีแบงก์ไทยซึ่งเป็นเจ้าถิ่น อาศัยฐานการเงินแข็ง ต้นทุนเงินต่ำสร้างความได้เปรียบ สินเชื่อบ้าน "จีอี มันนี่" บริการถึงที่ ส่วนจีอี มันนี่ฯ ก็ไม่น้อยหน้า ชูสโลแกน "ใช่เลย...ทุกสินเชื่อเรื่องบ้าน ง่ายกว่าที่คิด" ยื่นข้อเสนอให้ลูกค้ากู้สินเชื่อบ้าน 3 รูปแบบ คือ สินเชื่อบ้าน home loan ทางเลือกใหม่ที่ให้คุณมีบ้านได้ง่ายขึ้น สินเชื่อบ้านเพิ่มสุข home re-loan รับดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อแบ่งเบาภาระ และสินเชื่อบ้านเติมฝัน home cash-out เพียงคุณมีบ้าน เงินสดก็เป็นของคุณ โดยเปิดให้บริการถึงบ้านลูกค้า สมัครง่าย โดยเน้นจุดขายอนุมัติง่าย ไม่ยุ่งยาก ทางเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่ เริ่มต้นที่ 3.75% ต่อปี อนุมัติสินเชื่อเบื้องต้นรวดเร็ว ทราบผลภายใน 3 วัน ผ่อนชำระสบายๆ ได้นานเท่าที่ต้องการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายพร้อมให้บริการทุกที่ทุกเวลา LH แบงก์มีลูกค้าในมือยังไม่เปิดเกมลุย ส่วนแบงก์เพื่อรายย่อยซึ่งเพิ่งได้รับใบอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) หรือ LH แบงก์ แม้จะมีเป้าหมายหลักในการปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านเช่นเดียวกัน แต่ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับลูกค้าที่ซื้อบ้านในโครงการของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ และบริษัทในกลุ่มแลนด์ฯ อาทิ ควอลิตี้ เฮ้าส์, เอเชี่ยน พร็อพ เพอร์ตี้ฯ เฉพาะลูกค้าที่ซื้อบ้านในกลุ่มแลนด์ฯ ที่มีตุนอยู่ในมือก็น่าจะทำให้มียอดปล่อยสินเชื่อบ้านในพอร์ตในปีนี้มากโขอยู่ เพราะปีแรกนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อบ้านไว้เพียง 6 พันล้านบาท จากสินเชื่อรวมที่จะปล่อยทั้งปี 1 หมื่นล้านบาท บมจ.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ มุ่งเน้นให้บริการลูกค้ารายย่อยเป็นลูกค้าสำคัญ ครอบคลุมทุกความต้องการทางการเงินแบบครบวงจร ทั้งด้านเงินฝากและด้านสินเชื่อรูปแบบต่างๆ อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ฯลฯ ก็จะเข้ามาแจมตลาดด้วย แบงก์ไทยยังใจเย็น สำหรับความเคลื่อนไหวของแบงก์พาณิชย์ไทย ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ที่เริ่มบุกตลาดสินเชื่อมากขึ้น นอกจากแบงก์กรุงเทพที่อัดแคมเปญดึงดูดใจลูกค้าที่ยื่นกู้ซื้อบ้าน โดยใช้กลยุทธ์แจกแถมแบบไม่อั้นแล้ว แบงก์กรุงศรีอยุธยามีสินเชื่อ "เคหะเพิ่มทรัพย์" ให้ลูกค้าใช้ที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ค้ำประกันเงินกู้สินเชื่ออเนกประสงค์แบบผ่อนชำระรายเดือน และสินเชื่อเคหะทวีสุข กู้ซื้อบ้าน อาคารพาณิชย์ หรือห้องชุด โดยตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อบ้านไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท แบงก์กสิกรไทย ก็เริ่มบุกตลาดสินเชื่อบ้านมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2548 ที่อยู่ในระดับ 2 หมื่นล้านบาท จากภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น ส่วน แบงก์ไทยพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อบ้านมาตลอด แม้ระยะหลังจะเพลาๆ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดลง แต่อาศัยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับดีเวลอปเปอร์ระดับแนวหน้าจำนวนมาก ทำให้มีลูกค้าสินเชื่อรายย่อยเข้ามาสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็เร่งขยายฐานลูกค้าสินเชื่อบ้านไปต่างจังหวัดด้วย เพื่อทดแทนลูกค้าบางส่วนที่หายไปหลังกลุ่มแลนด์ฯมีแบงก์อยู่ในมือ โดยปีนี้แบงก์ใบโพธิ์ตั้งเป้าสินเชื่อบ้านไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท จากปี 2548 อยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท ธอส.เปิดมิติใหม่ปล่อยกู้ 100% ด้านเจ้าตลาดสินเชื่อบ้าน ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) ปีนี้ยอดสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท คือเป้าหมายที่ตั้งไว้ ลดลงจากปี 2548 ที่ผ่านมา ที่มียอดปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้น 1.29 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกค้า 172,000 ราย เฉลี่ยปล่อยกู้รายละ 750,000 บาท โดยจะยังเน้นคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่กับลูกค้าเพื่อแบ่งเบาภาระตามนโยบายของรัฐบาล แม้อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้น จนทำให้ ธอส.ต้องประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อลดภาระจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น พร้อมๆ กับมีแผนจะระดมทุนจากแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ ทั้งออกพันธบัตร กู้จากต่างประเทศ และกู้จากแบงก์รัฐด้วยกัน อาทิ ธนาคารออมสิน เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนจะจับมือกับบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) จัดตั้งบริษัทประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย (mortgage insurance company) เพื่อขยายฐานสินเชื่อกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านแต่ไม่มีเงินออม โดยบริษัทประกันสินเชื่อฯจะรับ ประกันความเสี่ยงในยอดวงเงินที่ ธอส.ต้องปล่อยกู้เกินกว่าเพดานที่กำหนด และลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มในส่วนของยอดเงินดังกล่าว ทุนสิงคโปร์ผนึก "เจริญ" แชร์เค้ก แม้ตลาดสินเชื่อบ้านมีแนวโน้มจะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น แต่รายใหม่ๆ โดยเฉพาะทุนจากต่างประเทศยังมองเห็นช่องทางที่จะเข้ามาบุกตลาดนี้ เช่น กลุ่มแคปปิตอลแลนด์จากสิงคโปร์ มีแผนจะจับมือกับกลุ่ม "เจริญ สิริวัฒนภักดี" ทำธุรกิจสินเชื่อบ้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวดำเนินธุรกิจนี้ในสิงค์โปร์อยู่แล้ว แถมมีเงินทุนเหลือเฟือที่จะขนเข้ามาปล่อยกู้ และพร้อมจะแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นในตลาด ทั้งหมดนี้คือภาพความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้น ไม่รวมส่วนแบ่งตลาดเค้กสินเชื่อบ้านที่เป็นส่วนแบ่งตลาดของบริษัทประกันชีวิตและไฟแนนซ์ แค่นี้ก็พอทำให้มองเห็นรางๆ แล้วว่า ตลาดสินเชื่อบ้านปีนี้ฝุ่นตลบจริงๆ
|