ประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญาภาพศิลปะจากเศษวัสดุธรรมชาติ ได้เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของ นายก้าน เสวกผล โดยได้เผลิตภัณฑ์ที่ประดิษฐ์จากเศษดอกไม้ เปลือกไม้ ขี้เลื่อย ในลักษณะของภาพสามมิติเป็นสินค้า OTOP ระดับภาค ของจังหวัดฉะเชิงเทราจากการนำเอาเศษดอกไม้ที่หล่นตามข้างทางที่คนไม่เห็นคุณค่า เช่น ดอกไม้,เศษวัสดุ เหล่านั้น มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นวัสดุภาพศิลป์ได้ ในขั้นตอนการผลิต อันดับแรกต้องรักในงานศิลปะอย่างแท้จริง ใจเย็น มีความละเอียดอ่อนทุกขั้นตอน โดย เริ่มต้นการร่างแบบภาพและมองหาวัสดุตามลักษณะของภาพที่กำหนด เช่น หากเป็นภาพต้นไม้ ก็จะต้องใช้เปลือกไม้มาประดิษฐ์ เมื่อได้วัสดุที่ต้องการแล้ว นำมาผ่านกระบวนการต้ม ล้าง ย้อมสี อบ จึงนำมาบรรจงเรียงและติดตามลงบนแผ่นเฟรมตามภาพที่ร่างไว้ แล้วนำไม่ที่ไม่ใช้แล้วเช่นกัน มาผ่านขบวนการเช่นเดียวกับวัสดุธรรมชาติทำเป็นกรอบรูปที่สวยแปลกเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิถีไทยที่ประดิษฐ์ด้วยเศษดอกไม้,วัสดุแห้ง ที่สวยงามไม่เหมือนใคร นอกจากนั้นยังนำผ้าลายไทยโบราณ มารังสรรค์แต่งเติมให้มีคุณค่า โดยสนับสนุนฝึกอาชีพพัฒนาฝีมือของกลุ่มสมาชิก นำมาซึ่งรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย สถานที่ตั้ง กลุ่มภาพศิลปะจากเศษวัสดุธรรมชาติ ในปี 2546 ให้ชื่อว่า คุ้มบุญส่ง ตั้งอยู่ หมู่ 2 ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ผลิตภาพฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ทราบจากการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และการบอกต่อ ขั้นตอนในการผลิตมีดังนี้ 1. การกำหนดแบบของภาพ ร่างภาพด้วยดินสอ 2. เลือกวัสดุธรรมชาติให้เหมาะสมกับภาพ 3. นำวัสดุธรรมชาติที่ได้ผ่านกระบวนการ ต้ม ย้อม อบ ตาก 4. นำวัสดุธรรมชาติมาบรรจงเรียง เติมแต่งภาพ ซึ่งเป็นภาพลักษณะนูน หรือ 3 มิติ นำภาพที่ตกแต่งแล้วอัดด้วยกาวให้แห้ง เพื่อให้การใช้งานคงทนถาวรยิ่งขึ้น 5. นำภาพมาใส่ด้วยกรอบไม้ ไม้ที่นำมาใส่ จะเป็นไม้เก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว นำมาทำความสะอาดตกแต่งด้วยสี หรือกรอบที่ทำด้วยผ้าลายไทย,ผ้าไหม ที่แสดงความหมายของความเป็นไทยอยู่ในตัว ความรู้งานด้านศิลปะ เป็นกระบวนการที่ถ่ายทอดโดยภูมิปัญญา จะส่งผลสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า บางเรื่องถูกถ่ายทอดจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัย ภาพศิลปะ ให้ความรู้สึกในความเป็นธรรมชาติ อันบริสุทธิ์น่าชื่นชม เสริมสร้างสุนทรีภาพขึ้นในจิตใจของมนุษย์ โดยเฉพาะ งานศิลปะไทยแบบประเพณี (Thai Traditional Art) ที่แสดงออกถึงความประณีตสวยงาม แสดงความรู้สึกชีวิตจิตใจและความเป็นไทยที่ความอ่อนโยนละมุนละไม สร้างสรรค์สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต จนได้ลักษณะประจำชาติ นอกจากการผสมผสานองค์ความรู้ และความรู้สึกใต้จิตสำนึกของภูมิปัญญาดังได้กล่าว ภูมิปัญญายังมองเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น นำมาประยุกต์ใช้กับภาพ เพื่อการถ่ายทอด ภาพนั้นให้ออกมาเป็นลักษณะเฉพาะ แต่ความหมายและคุณค่าของภาพ ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นรูปแบบอุดมคติที่แสดงออกทางความคิดให้ความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องและความสำคัญของภาพ ซึ่งภูมิปัญญา พยายามศึกษา ถ่ายทอดอารมณ์สอดแทรกความรู้สึกในรูปแบบได้อย่างลึกซึ้ง เหมาะสม สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจ และควรอนุรักษ์สืบทอดอย่างยิ่ง
ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาภูมิปัญญาภาพศิลปะจากเศษวัสดุธรรมชาติ 1. ปัจจัยจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ในชุมชนตำบลบางขนากเป็นทุ่งนาโล่ง ติดลำคลองตลอดสาย มีบ้านห่างเป็นระยะ ๆ ตลอดลำคลอง เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดที่ประชาชนปลูกไว้เพื่อกิน และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาพศิลปะ จากบรรยากาศสภาพแวดล้อมดังกล่าว เป็นสิ่งเอื้อให้ ภูมิปัญญา ซึ่งมีโลกทัศน์ของตนเองสูงอยู่แล้ว เกิดแรงบันดาลให้เขาจิตนาการขึ้นมาเป็นภาพศิลปะวิถีชีวิตสังคมชน 2. ปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ชุมชนตำบลบางขนาก เป็นชุมชนที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เมื่อพ้นจากฤดูเก็บเกี่ยว ประชาชนส่วนใหญ่จะว่างจากงาน จึงไม่มีรายได้ ความยากจนจึงมีอยู่ทั่วไป รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ต่อตนเอง,ครอบครัว จึงทำให้ต้องดิ้นรนหารายได้เสริม เพื่อความอยู่รอดของตนเอง,ครอบครัว กลุ่มภาพศิลปะจากเศษวัสดุธรรมชาติ จึงทำให้รายได้เกิดขึ้นในชุมชน การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น 3. ปัจจัยที่เกิดจากภูมิปัญญาผสมผสาน จากสิ่งที่ได้รับจาก ความเป็นสังคมชนบท การดำเนินวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมตามบรรพบุรุษสืบสานต่อกันมา ซึ่งกลุ่มภาพศิลปะจากเศษวัสดุธรรมชาติ เป็นการนำความรู้ด้านศิลปะจากการเรียนรู้ในสถาบัน กับความรู้ในการดำเนินชีวิตที่มีความผูกพันกับท้องถิ่นและได้สืบต่อกันเรื่อยมา ความเป็นชนบท การแสดงออกถึงรากฐานชีวิตชนบทไทย เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมชนบทไทย ซึ่งกำลังจะถูกแทนที่ด้วยโลกของโลกาภิวัต ภาพชีวิตท้องทุ่งนาของวันวาน บางคนอาจหลงลืมถ้าปล่อยให้มันผ่านไปแล้ว แต่ศิลปิน(ภูมิปัญญา) จะเป็นผู้ เก็บ บางสิ่งบางอย่างของวันวาน นั้นไว้ได้ ถึงแม้จะไม่มีวันหยุดเอากาลเวลากลับคืนมาก็ตาม ที่หลายสิ่งหลายอย่างของวันวาน เป็นความผูกพัน เป็นรากฐานชีวิตของปัจจุบันทั้งสิ้น 4. ปัจจัยที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ คือ การได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ทำให้ภูมิปัญญาได้รับการเผยแพร่ จนได้รับรางวัล เป็นผลิตภัณฑ์สี่ดาว และ ผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้สามารถพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง
คุณค่าภูมิปัญญา ภูมิปัญญาที่นำเสนอเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ในงานด้านศิลปะ ภาพประดิษฐ์ ซึ่งไม่ใช่เพียงรูปทรงแต่มี เรื่องราว ,จิตวิญญาณของศิลปินแฝงอยู่ในผลงานนั้น ๆ ด้วย และสามารถอธิบายที่มาทางวัฒนธรรม ซึ่งกันและกันอีกด้วย คุณค่างานด้านศิลปะ แยกได้ดังนี้ 1.ศิลปะ เป็นสื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทางวัฒนธรรม ,ศิลปกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี 2.ศิลปะ เป็นสื่อสะท้อนสภาพทางสังคม และยกระดับ ค่านิยมของสังคม ให้เจริญสูงขึ้น 3.ศิลปะ จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดอารมณ์สุนทรียภาพ ทำให้มีความเพลิดเพลิน เกิดความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนดีงาม ทำให้จิตใจและอารมณ์เจริญงอกงามในทางที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คุณค่าที่แฝงอยู่ในภูมิปัญญาจากภาพศิลปะ คือ เป็นแหล่งข้อมูล ความรู้ในการศึกษาค้นคว้า และถ่ายทอดปัญญาที่เด็ก ,เยาวชน คนไทยควรเรียนรู้ พัฒนาและเลือกประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและโลกที่แปรเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีแล้ว ข้อมูลที่ค้นคว้ามาอย่างละเอียดจากหลายแหล่ง ภาพประกอบรายละเอียดของคนและสิ่งของในภาพส่วนใหญ่ถ่ายทอดตามสภาพความเป็นจริง จึงนำเสนอคุณค่าภูมิปัญญาไทยโดยผสมผสานวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ภาพที่นำเสนอได้เผยให้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตคนไทย โดยเฉพาะ ภูมิปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นภูมิความรู้ที่ถูกค้นพบ สร้างสรรค์ ทดลองใช้ ดัดแปลง ถ่ายทอดเป็นมรดกที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางปัญญาของคนไทย ภูมิปัญญาสะท้อนวิถีชีวิต จากความพยายามของภูมิปัญญาภาพศิลปะจากเศษวัสดุธรรมชาติที่ได้พัฒนาหรือจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ท้องถิ่น ผสมผสานกับความดั้งเดิม สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน เป็นการฟื้นฟูคุณค่าของศิลปะแขนงใหม่ ให้มีบทบาทในรูปแบบที่แตกต่างไปจากงานศิลปะที่มีอยู่เดิมจะสะท้อนวิถีชีวิตดังนี้ 1.สะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่ถ่ายทอดเป็นภาพศิลปะออกมาดังนี้ - ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจถึงรกฐานทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี - สื่อถึงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมรากเหง้าของวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติไทย - สื่อให้เห็นถึงภาพแห่งความหลัง วิถีชีวิตของสังคมชนบท 2.สะท้อนวิถีชีวิตปัจจุบัน - ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอาชีพ มีรายได้ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น - เด็ก,เยาวชนในท้องถิ่น ได้รับความรู้ จากงานศิลปะ - ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความรักสามัคคี และภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนที่สามารถสร้างชื่อเสียง จากรางวัลที่ได้รับจากสถาบัน,หน่วยงานต่าง ๆ - เป็นแหล่งเรียนรู้ ในงานศิลปะและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ในตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในที่นี้จะให้ข้อสังเกตว่า การประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านตามแนวคิดเรื่องคุณค่าและมูลค่านี้น่าจะมีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น งานภาพศิลปะจากเศษวัสดุธรรมชาติ ที่มีคุณค่าความหมายของภาพ ทางประวัติศาสตร์ ฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าและพร้อมที่แปรเป็นมูลค่ามีการจัดการที่เหมาะสม เห็นได้ว่างานภาพศิลปะจากเศษวัสดุธรรมชาติ สะท้อนคุณค่าให้เป็นมูลค่า เป็นเครื่องตกแต่งบ้านที่มีคุณค่า ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ผลิตและสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนอย่างกว้างขวาง ชุมชน มีความรักสามัคคีในท้องถิ่นของตนมากยิ่งขึ้น และเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาที่คนในชุมชนสร้างสรรค์ขึ้นมา |