ณ ท้องสนามหลวง ภาพกลุ่มคนหนุ่มๆ สาวๆ เดินแจกเอกสารกันให้ควั่ก!ทั้งทำมือ ทั้ง พิมพ์สี-ขาวดำที่ปรากฏข้อความเปิดเผยเชิงลึกของกลุ่มขับไล่รัฐบาล ในขณะที่ผู้ชุมนุมหลายๆ คน พอจับจองได้พื้นที่เหมาะแล้ว ก็นั่งกางหนังสือพิมพ์ไล่เรียงความเป็นไปของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ในอีกมุมหนึ่งคุณป้าวัยหลังเกษียณก็กำลังนั่งอ่านคู่มือกู้ชาติอย่างขะมักเขม้น... ภาพเหล่านี้อาจกำลังเป็นภาพสะท้อนของ "ปรากฏการณ์กระหายข้อมูลข่าวสาร" ท่ามกลางกระแสที่ยังเต็มไปด้วยคำถามซึ่งไร้คำอธิบาย !?! ...และไม่ใช่เพียงแค่ชาวม็อบเท่านั้นที่ติดตามหาอ่านข่าวสารการเมืองเพราะในภาวการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าใครก็ต้องคิดว่า...การติดอาวุธทางปัญญา ... คงจะเป็นหนึ่งวิธีในการป้องกันตัวเองไม่ให้ต้องตกเป็นเครื่องมือของใคร ! สังคมแห่งการอยากรู้ จะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์กระหายข้อมูลข่าวสารก็คงไม่ผิดนัก เพราะมองไปทางไหน ใครต่อใครต่างก็ขวนขวายเพื่อให้ได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังการเมืองอันเป็นเรื่องราวร้อนๆ ของทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในตอนนี้... และแน่นอน ก่อนจะมีเรื่องมาเมาท์ถ้าจะให้เมามันก็ย่อมต้องมีแหล่งข้อมูลอัพเดต ตั้งแต่การฟังรายงานตามรายการเล่าข่าวทุกๆ เช้า สารพัดวงเวทีเสวนา หรือกระทั่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งในบางครั้งคนธรรมดาเดินดินก็อาจจะแยกแยะได้ยากว่าอะไรเปนข้อเท็จจริงหรืออะไรที่เป็นข้อคิดเห็น ดังนั้น แหล่งที่จะให้ความรู้น่าเชื่อถือสุดๆ ก็คงหนีไม่พ้น...หนังสือ ! "ผมคิดว่าอย่างน้อยในรอบ 14-15 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนสนใจติดตามเรื่อง ข่าวการบ้านการเมืองมากที่สุดแล้ว เราจะพบการพูดคุยเรื่องการเมืองในทุกวงการ นักศึกษาที่ไม่ค่อยสนใจการ เมืองก็หันมาตามข่าวกัน ปรากฏการณ์นี้เริ่มต้นตั้งแต่ปรากฏการณ์ม็อบสวนลุมฯ ของคุณสนธิแล้ว ที่ทำให้คนเริ่มสนใจเรื่องการเมือง ผมทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ในองค์การนักศึกษา เห็นภาพว่ากระแสความตื่นตัวของนักศึกษามีมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังสือที่ให้ความรู้ยังไม่มาก ส่วนมากที่มีอยู่จะเป็นบทความเสนอความเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะหนังสือก็น่าจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้" ดร.ปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการสมาคมนิสิตนักศึกษาสมัยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ให้ความเห็น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเห็นหนังสือใหม่หลายต่อหลายเล่มใน "มุมการเมือง" ผุดมาเรียกความสนใจในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 34 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 4 ในปีนี้กันอย่างคึกคัก โดยจะเริ่มงานวันที่ 29 มีนาคม-9 เมษายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อย่างค่ายมติชน ขนหนังสือมาเอาใจฮาร์ดคอร์การเมืองกันเป็นเซต อาทิ ผลงานร้อนๆ จากแท่นพิมพ์ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน "วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ", "ทักษิณอัศวินผู้ฆ่าตัวเอง" และ "อัครดีล ชินคอร์ป 7 หมื่นล้าน" ซุกหุ้น "โคตรานุวัตร" นอกจากนี้ยังมี "25 คำถาม SHIN เบื้องหลังดีลเทก โอเวอร์ชินคอร์ป" จากสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ หรือแม้แต่แพรวสำนักพิมพ์ ก็ขออินอารมณ์การเมือง มาร่วมเปิดปูมประวัติศาสตร์สมัย 14 ตุลา ใน "อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต" ผลงานของกวีซีไรต์อย่างจิระนันท์ พิตรปรีชา อยากรู้ทำให้อยากอ่าน เมื่อสังคมต้องการรู้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น จะเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อประดับความรู้ หรือเพื่อรู้เท่าทันก็ตามที ในห้วงแห่งสถานการณ์อันวุ่นวายทางการเมืองนี้ จึงยากที่จะปฏิเสธความแรงแบบฉุดไม่อยู่ของหนังสือแนวการเมือง แม้วาหนังสือแนวนี้จะดูหนักหน่วง แต่ในท่วงทำนองที่ต้องติดตามข่าวแบบวินาทีต่อวินาที หนังสือแนวนี้จึงมี เรตติ้งสูงอย่างยิ่ง ธนะชัย สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และรองประธานคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 34 และนานาชาติ ครั้งที่ 4 กล่าวว่า สำหรับงานในปีนี้ ผมคาดว่าจะมีผู้เข้าชมราว 1 ล้านคนอย่างแน่นอน จะเห็นว่าจำนวนของผู้ร่วมงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ขณะที่พฤติกรรมการอ่านของคนโดยรวมแล้วดีขึ้น เห็นทิศทางที่ดีชัดเจน "สังเกตได้จากตอนนี้มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเกือบ 100 แหง และมีการแข่งขันการทำตลาดกันมากขึ้น ยิ่งมาก ก็ยิ่งส่งผลดี ต่อผู้บริโภค ซึ่งผมคาดว่าหนังสือที่ได้รับความนิยมในปีนี้ น่าจะยังเป็นหนังสือแนวธรรมะ เยาวชน และแนวการเมือง ก็เป็นอะไรที่มาแรง" จากข้อมูลที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ นำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อยื่นต่อยูเนสโกในการผลักดันให้ไทย เป็นเมืองหนังสือโลก ซึ่งเป็นผลสำรวจเมื่อเดือน สิงหาคม 2548 โดยกระทรวงไอซีทีพบว่า การอ่านหนังสือทุกประเภทรวมถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จาก 59.2 ล้านคน มีผู้อ่านหนังสือ 40.9 ล้านคน หรือ 69.1% เป็นชาย 51.1% และหญิง 48.5% ใช้เวลาเฉลี่ยการอ่านต่อวันต่อคนที่ 1 ชั่วโมง 59 นาที ผลสำรวจยังพบอีกว่า อัตราการอ่านหนังสือของเพศชายสูงกว่าเพศหญิง คือ 71.6% ของจำนวนประชากรชาย และ 66.7% ของประชากรหญิง กลุ่มเด็กวัย 10-14 ปี มีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุดที่ 95.2% เนื่องจากเป็นช่วงการศึกษาภาคบังคับ รองลงมาคือกลุ่มเยาวชน ส่วนประเภทหนังสือที่อ่าน อันดับ 1 ได้แก่หนังสือพิมพ์ 72.9% รองลงมาคือ นวนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น คิดเป็น 45.4% และนิตยสาร 36.9% ! เมืองนักอ่าน : เมืองหนังสือโลก แม้พฤติกรรมการอ่านของคนในบ้านเราจะไม่ได้หวือหวาแต่ทว่าแนวโน้มในการอ่านของคนไทยก็เป็นอะไรที่ดีขึ้น มิเช่นนั้น บ้านเราคงไม่มีการจัดงานหนังสือตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดมาเป็นครั้งที่ 34 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติที่จัดมาเป็นครั้งที่ 4 ในช่วงนี้ งานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ในช่วงวันที่ 6-11 กรกฎาคม, งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม นอกจากนี้ยังมีงานแฟร์ของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่จัดเป็นประจำทุกปี แถมท้ายยังมีการสัญจรไปต่างจังหวัดอีกเพียบ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีหลายนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เกิดสังคมแห่งการอ่านหนังสือขึ้นทุกหัวระแหง อาทิ โครงการเพิ่มพื้นที่ดีลดพื้นที่เสีย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, โครงการของกรุงเทพมหานคร ที่มีกำหนดสร้างห้องสมุดกรุงเทพฯ ขึ้นที่ซอยพระนาง อนุสาวรีย์ชัยฯมีหองทำการบานดวย แล้วเสร็จปลายเดือนมีนาคม-เมษายน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อภิรักษ์ โกษะโยธิน กล่าวว่า "ตั้งใจว่าจะเปิดห้องสมุดกรุงเทพฯ อย่างน้อย 10 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านหนังสือ ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ติดแอร์ แล้วไปตั้งตามชุมชนต่างๆ ให้อีก ซึ่งเราคิดว่าจะตั้งได้ 50 แห่งในปีนี้อีก ตลอดจนเรายังส่งเสริมเรื่องการรักการอ่าน อย่างที่ทำแล้วประสบความสำเร็จก็คือ การอ่านนิทานในสวน ปีนี้คิดว่าจะขยายไปที่สวนอื่นๆ และจะขยายผลไปยังพ่อแม่รุ่นใหม่ใหมีความรักผูกพันกับลูกมากขึ้น ด้วยโครงการอ่านนิทานในบ้านหนังสือ" แนวโน้มการอ่านหนังสือของไทยจึงมีทิศทางที่สดใสมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนส่งเสริมให้มีการเสนอชื่อกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือโลก (Bangkok for World Book Capital 2008) "เป้าหมายสุดท้ายที่อยากจะเห็นก็คือ การสร้างวัฒนธรรมรักการอ่าน การที่หลายองค์กรมาร่วมกันผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2008 ถือเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งถ้าได้รับเลือก ประโยชน์ที่ได้รับเกิดขึ้นกับประชาชนทุกคน ขยายต่อไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย" ว่ากันว่า เมืองหนังสือโลกนี้เป็นรางวัลที่มีความหมายยิ่ง เพราะเมืองที่ได้รางวัลนี้ไปครอง จะต้องมีคุณสมบัติเป็นเมืองที่มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังคมในทุกภาคส่วนไปจนถึงความเกี่ยวข้องในระดับนานาชาติ รวมทั้งผลที่น่าจะได้รับจากแผนการส่งเสริมการอ่านทั่วทั้งสังคมของประเทศนั้นๆ ,เป็นเมืองที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานวิชาชีพทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ, เป็นเมืองที่มีโครงการสนับสนุนการพัฒนาหนังสือและการอ่าน ที่สำคัญต้องเป็นเมืองที่ส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องเสรีภาพการแสดงออกทางความคิด โดยผู้คนในสังคมสามารถจัดพิมพ์และแจกจ่ายข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระ !!! สำหรับบ้านเรา ธนะชัย ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มองโอกาสเอาไว้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ "ประเด็น คือ บ้านเรามีการเติบโตและพัฒนาด้านหนังสืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ถ้าได้รางวัล ความสนใจของคนในประเทศกับการอ่านหนังสือน่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก ผมมั่นใจ 70 เปอร์เซ็นต์ !" ................................. เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งสังคมข้อมูลข่าวสาร การพลาดการรับรู้แม้เสี้ยววินาทีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังที่วีรกร ตรีเทศ ยกคำกล่าวของ Alvin Toffler มาเป็นน้ำจิ้มอาหารสมอง ในมติชนสุดสัปดาห์ ว่า ....คนอ่านออกเขียนไม่ได้ในศตวรรษที่ 21 จะไม่ใช่คนอ่านและเขียนไม่ได้ แต่จะเป็นคนที่ไม่สามารถเรียนรู้ ถอดรื้อความรู้เดิมและเรียนรู้ใหม่ได้... ถ้าพลาดการอ่าน พลาดการรู้ มีหวังโดนหลอกให้ชอกช้ำ ซ้ำร้ายส่งผลไกลทำให้บ้านเมืองสับสนวุ่นวายอีกต่างหาก !!!
|