การตรวจสุขภาพเป็นประจำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเฝ้าระวังสุขภาพของเราจากโรคร้ายที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นภัยเงียบที่แอบคร่าชีวิตผู้คนแบบไม่ทันให้ตั้งตัวมาแล้วหลายราย เพื่อความไม่ประมาทเราจึงควรหมั่นสำรวจตรวจตรา รวมถึงสังเกตสุขภาพร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มองข้ามแม้ความผิดปกติเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ เป็นมะเร็งได้อย่างไร จึงถึงทุกวันนี้แพทย์ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้แน่นอนว่ามะเร็งเกิดขึ้นจากสาเหตุใดกันแน่ แต่ที่แน่ๆมะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อและเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลายประการซึ่งได้แก่ 1. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ละคนมีระบบภูมิคุ้มกันมากน้อยแตกต่างกัน แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันมะเร็ง มะเร็งก็จะเกิดขึ้นได้ 2. กรรมพันธุ์ เครือญาติที่มีสายเลือดเดียวกันมีโอกาสที่จะป่วยเป็นมะเร็งเหมือนๆกัน 3. เชื้อชาติ มะเร็งบางชนิดพบมากในคนบางเชื้อชาติ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหารพบมากในคนญี่ปุ่น มะเร็งโพรงจมูกพบมากในชาวจีน และสำหรับคนไทยนั้น มะเร็งตับมาเป็นอันดับหนึ่ง 4. เพศ มะเร็งบางชนิดพบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด ขณะที่เพศหญิงจะพบมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเป็นส่วนใหญ่ 5. อายุ มะเร็งหลายชนิดมักพบในคนที่อายุมากแล้ว แต่ก็มีมะเร็งบางชนิดพบได้แม้ในเด็กเล็ก เช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ฯลฯ 6. สารเคมี องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีสารเคมีจำนวนมากถึง 450 ชนิด ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยสารเหล่านี้อาจแฝงตัวมากับธรรมชาติและมาในรูปของเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆไม่ว่าจะเป็นสีผสมอาหาร สารปรุงแต่งกลิ่นรส สารถนอมอาหาร อาหารหมักดอง อาหารที่ขึ้นรา อาหารที่รมควันหรือย่างจนไหม้เกรียม ยารักษาโรคที่มีสารอันตรายเป็นส่วนผสม ยาฆ่าแมลงต่างๆรวมไปถึงมลภาวะที่แวดล้อมตัวเราอยู่ 7. ฮอร์โมน มะเร็งบางชนิดสัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนเพศชาย และโดยมากฮอร์โมนเหล่านี้มักจะมาในรูปของยารักษาโรค 8. เชื้อโรค ปัจจุบันมีหลักฐานบ่งชี้ที่แน่ชัดว่าเชื้อไวรัส "พาพิลโลมา" เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับเซลล์ที่นังปากมดลูก นอกจากนี้เชื้อราซึ่งชอบขึ้นในอาหารประเภทถั่ว ข้าวและมันสำปะหลังก็สร้างสาร "อะฟลาท๊อกซิน" ที่ก่อให้เกิดมะเร็งตับได้ รวมถึงพยาธิใบไม้ซึ่งพบในเนื้อสัตว์ที่ปรุงแบบสุกๆดิบๆก็มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งตับได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามสารต่างๆที่ทำให้เกิดมะเร็งซึ่งได้กล่าวถึงเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้โอกาสเกิดมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น โดยร่างกายจะต้องได้รับมาสะสมไว้ในปริมาณค่อนข้างมากเป็นเวลานาน ที่สำคัญใครจะป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับภูมิานทานของร่างกายและสภาพแวดล้อมที่ประจวบเหมาะ ดังนั้นเราไม่ควรวิตกกังวลจนเกินกว่าเหตุ ในกรณีที่ชีวิตประจำวันของเราอาจจะบังเอิญได้รับสารต่างๆเหล่านั้นบ้างเป็นครั้งคราว สัญญาณเตือนของมะเร็ง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการไม่ชอบมาพากลดังนี้ 1. น้ำหนักลดฮวบฮาบหลายกิโลกรัมโดยไม่ทราบสาเหตุ 2. เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับเต้านมของคุณ เช่นคลำพบก้อนแข็งๆขึ้นในเต้านม มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลซึมออกจากหัวนม 3. มีอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ ตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ เจ็บปวดท้องน้อยหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ หรือเลือดออกมามากผิดปกติในช่วงที่มีรอบเดือนหรือหลังจากหมดรอบเดือนไปแล้ว 4. รู้สึกกระหายน้ำบ่อยโดยไม่มีเหตุผล 5. หน้ามืดและเวียนศรีษะบ่อย 6. เกิดการเปลี่ยนแปลงกับไฝ หูดหรือปานบนผิวหนัง เช่น สีเปลี่ยนไป ขนาดโตขึ้น คัน หรือมีเลือดไหลซึมออกมา นอกจากนี้เนื้องอกผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนังก็อาจพัฒนากลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งได้ 7. เสียงแหบแห้งนานเกิน 3 สัปดาห์ ไอเรื้อรังและเสมหะมีเลือดปน 8. เจ็บแน่นหน้าอกและหอบเหนื่อยง่าย 9. ใบหน้า คอ หรือท้องบวม 10. ต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ โตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 11. รู้สึกอ่อนเพลีย ผิวพรรณซีดเซียว หรือผิวเป็นจ้ำช้ำเลือดง่าย 12. เวลามีบาดแผล เลือดจะหยุดไหลยากและแผลหายช้าอย่างผิดสังเกต 13. ท้องผูกหลายวัน หรือท้องผูกสลับกับท้องเสียบ่อยๆ และถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด 14. มีอาการอึดอัดแน่นท้อง เพราะอาหารไม่ย่อยบ่อยๆ 15. กลืนอาหารลำบาก เพราะเจ็บเหมือนมีก้างติดคอตลอดเวลา 16. ปวดศรีษะรุนแรง หรือปวดมากจนผิดปกติเป็นครั้งแรก 17. ปวดขาหรือปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุและปวดบ่อยมาก 18. รู้สึกหนาวๆร้อนๆ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และใจสั่น วิธีป้องกันมะเร็งแบบง่ายๆ - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่อยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ - ไม่กินอาหารปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงอาหารปิ้งๆย่างๆ - กินผักผลไม้สดเสมอ - ตรวจร่างกายเป็นประจำ |