ใครที่อยู่กันมาจนมีโซ่ทองคล้องคอ เอ้ย คล้องใจ อย่างที่ใจหวังแล้ว แต่พอหันมาดูความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยากลับรู้สึกทะแม่งๆ เพราะเคยว้าน หวาน เริ่มมีรสจืดๆ แปร่งๆ มาแจมแล้วล่ะก็
ต้องสำรวจกันหน่อยว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยของชีวิตคู่หรือเปล่า
. หลังจากแต่งงานกับสามีมาก็หลายปีดีดักแล้ว คุณภรรยาทั้งหลายเคยสังเกตความรู้สึกอารมณ์รักๆ ใคร่ๆ ระหว่างคุณเองกับสามีหรือไม่ครับ ว่ายังสดชื่นหวานแหววเหมือนตอนช่วงหลังแต่งงานใหม่ๆ หรือปัจจุบันมันชักจะจืดจางลง ไม่เหมือนเก่า หรือบางคนอาจถึงขั้นเบื่อหน่าย อยากเลิกไปให้พ้นๆ ซะแล้ว บางคนแต่งงานแล้ว นึกว่าจะได้เจอสรวงสวรรค์ ดันเป็นแค่นรกเปลี่ยนขุม บ้างก็หวานอมขมกลืน ในขณะที่มีคู่สามีภรรยาอีกเยอะแยะที่แม้ผ่านไปนานปียังจี๋จ๋า จนเป็นที่อิจฉาของเหล่าบรรดาคนโสด ภรรยาบางคนอาจพูดคุยกับเพื่อนๆ เรื่องสามีของแต่ละคน แล้วเปรียบเทียบเห็นความแตกต่าง ระหว่างเครื่องใช้ไฮเทคของเพื่อนพ้องกับเครื่องรางของขลังที่ตัวเองมีอยู่ เป็นเวลาเดียวกันกับที่คู่กรณีก็เห็นเราเหมือนคอมพิวเตอร์ตกรุ่น เริ่มสนใจโน้ตบุ๊กหุ่นเพรียวรุ่นใหม่ๆ มาประดับบารมี ทำไมความรักที่เราเคยให้ในวันเวลาแห่งวัยหนุ่มสาว ตอนจีบกันใหม่ๆ จึงแปรเปลี่ยนไปในวันนี้ เอ๊ะ! เราผิดปกติหรือแตกต่างจากคู่ครองอื่นๆ หรือเปล่า ในทางจิตวิทยาครอบครัวมีการพบว่าสัมพันธ์รักของชายหญิงมีทั้งหมด 4 ระยะครับ ว่ากันทีละขั้นๆ ให้เห็นจะแจ้งไปเลย ระยะที่ 1 คลั่งไคล้ใหลหลง (Chemical Madness) ก็ตอนยังไม่ได้แต่งงานกันแหละครับ เป็นแค่แฟนกันจิตใจของหนุ่มสาวจะอุดม เปี่ยมไปด้วยความเคลิบเคลิ้มเสน่หา ตื่นเต้น สดชื่น ฝันหวาน วาดหวัง มีพลังแม้บางครั้งอาจมีหงุดหงิด กังวล เหงาและว้าเหว่บ้าง ก็ยังถือว่าดัชนีอารมณ์เสน่หาผันผวนในแดนบวกแรงซื้อมากกว่าเทขาย ช่วงระยะ In love นี้ อะไรๆ ก็งดงามไปหมด เพราะแต่ละฝ่ายจะหันด้านแห่งความดีงามเข้าหากัน ฝ่ายชายวางมาดให้สุดเท่ ฝ่ายหญิงบริหารเสน่ห์กันสุดๆ พบกันทีไรก็ดูดีร่ำไปทุกครั้ง ซุกซ่อนความชั่วร้ายไว้มิให้แพร่งพราย เมื่อไม่กี่ปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ศึกษาพบว่าหนุ่มสาวที่อยู่ในห้วงเหวเสน่หา "ภาวะหน้ามืดตามัว" นั้นเกิดขึ้นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีบางอย่างในสมอง เช่น - โดปามีน (dopamine) สูงขึ้น เหมือนคนกินยาอี ยาเลิฟยังไงยังงั้น คือ อารมณ์เคลิบเคลิ้ม สดชื่นแจ่มใส มีความสุข เบิกบานใจ
- นออีพิเนฟริน (norepinephrine) สูงขึ้น เหมือนคนมีกำลังมากเวลาไฟไหม้ จะเกิดเรี่ยวแรงมหาศาลจนสามารถยกตู้เย็นหนีออกจากบ้านคนอื่นมาเข้าบ้านตัวเองได้ คนมีความรักก็มีพลังใจในการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตเพื่อเธอผู้เป็นสุดที่รัก และเพื่อเราจะได้เป็นของกันและกัน
- ซีโรโตนิน (serotonin) ต่ำลง ไม่แตกต่างจากคนไข้โรคย้ำคิดย้ำทำ เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรจะมีใบหน้าของคนรักมาหลอกหลอนเหมือนมีเขาเคียงคู่อยู่ใกล้ๆ แทบจะสิงเข้าร่างเราไปแล้ว คนไทยนิยมใช้คำว่า "หลงรัก" เพราะมันคือความรักที่นำหน้าด้วยคำว่าหลง แต่ในที่สุดอารมณ์หลงใหลในห้วงรักเหวลึกจะเริ่มผ่อนคลายลง เมื่อเราเข้าสู่พิธีวิวาห์ และใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้วจะเข้าสู่ช่วงที่สองของรายการ
ระยะที่ 2 ข้าวใหม่ปลามัน (Honeymoon Period)
เปลี่ยนแปลงจากแฟนที่เจอกันเฉพาะตอนนัดมากินมื้อเย็น ดูหนังแล้วส่งกลับบ้าน พออยู่กินกันแล้ว เราก็เริ่มเห็นทุกด้านทุกสิ่งที่เขาและเธอเป็น เห็นทั้งตอนเข้านอน และตอนเช้าที่ยังไม่ได้ล้างหน้า ล่วงรู้แม้แต่ท่านอนที่ไม่เคยเจอเคยเห็นมาก่อน อย่างไรก็ตาม เราก็ได้อยู่ใกล้ชิดกัน เป็นของกันและกัน มีเซ็กซ์บ่อยครั้ง เพราะถือว่าอยู่ในช่วงโปรโมชั่น สุขด้วยกันมันส์ทั้งคู่ แทนที่จะอยู่คนเดียวเสียวส่วนตัวเหมือนตอนเป็นโสด อะไรนิดอะไรหน่อยก็ยอมกันได้ เพื่อแลกกับรสชาติแปลกใหม่ของชีวิตและอนาคตที่น่าจะรุ่งโรจน์ ถือเป็นช่วงคืนกำไร ที่เราทั้งสองลงทุนก่อนแต่งงาน นักจิตวิทยาฝรั่งเขาให้เวลาช่วงนี้ไม่เกิน 1 ปีแรกของชีวิตคู่
. ระยะที่ 3 สิ้นสุดเชื้อไฟแห่งเสน่หา (Chemical Crash) หลังอยู่กินกันประมาณ 30 เดือน (สองปีครึ่ง) สารเคมีแห่งความพิศวาสทั้งหลายแหล่ ที่โหมกระพืออารมณ์รักก็จางคลายจนแทบจะหมดสิ้นในสมอง เหลือเพียงการรับรู้ความเป็นจริงของชีวิตทุกแง่ทุกมุม ความหวานชื่นหลังวิวาห์อาจเหลือเพียงซากแห่งความทรงจำ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็อยากให้หวนคืนกลับมา เพราะโลกแห่งความจริงที่ชีวิตต้องเผชิญคือ ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เงินผ่อนรถผ่อนบ้าน การทำงานหามรุ่งหามค่ำ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ การจราจรที่แสนสาหัส ความเครียดทั้งจากงานและเพื่อนร่วมงาน ภาวะตั้งครรภ์ ลูกที่เพิ่งคลอดใหม่ มือที่สามที่เริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ฯลฯ ระยะที่ 4 เจ็ดปีแตกหัก (Seven Year Itch) คุณแม่บ้านบางท่านอาจกำลังขะมักเขม้นกับการดูแลลูกๆ ตัวน้อยๆ จนไม่อยากใส่ใจกับสามีเข้าขั้น "เลี้ยงลูกจนลืมผัว" ในขณะที่สามีเองก็กำลังทะเยอทะยานทำงานหนักเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ จนละเลยสมาชิกในครอบครัวก็เป็นพวก "บ้างานจนลืมลูกลืมเมีย" บางคู่ถึงกับประกาศ "ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต" เหลือเพียงอุปทูต และมีแนวโน้มอาจเหลือแค่ยุวทูต (แฟนต้า) ในอนาคต ถ้าไม่รีบฟื้นฟูสัมพันธภาพให้กลับมาหวานมันส์ฉันกับเธอเหมือนดังก่อนเก่า วันชื่นคืนสุขอาจเป็นแค่ฝันกลางวันของคู่ส่วนใหญ่ ในขณะที่บางคู่ก็ไหวตัวกัน และเริ่มหันหน้ามาพูดคุยเพื่อรื้อฟื้นเถ้าถ่านให้คุกรุ่นโชติช่วงอีกครั้ง หากคุณอยากเริ่มแก้ไข ผมมีวิธีง่ายๆ ที่อยากเสนอ 1. พูดจาภาษารัก สื่อสารทางบวกต่อกัน คือเมื่อไรก็ตามที่เราเกิดความรู้สึกดีๆ ต่อกัน อย่าละเลยที่จะเอื้อนเอ่ยให้เขาหรือเธอรู้ การพูดจาให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกชื่นใจ สบายใจ หรือเกิดความภาคภูมิใจ เป็นเสมือนน้ำและปุ๋ยสำหรับต้นรักที่เราร่วมปลูก 2. หลีกเลี่ยงการสื่อสารทางลบ คำพูดประเภท "วจีพิฆาต น้ำเสียงกระชากวิญญาณ" ต้องลด ละ เลิกในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำเหน็บแหนม ถากถาง หรือท่าทีดูหมิ่น เหยียดหยาม ถือเป็นที่สุดของผู้มีวาจาเป็นอาวุธ รังสีอำมหิตแผ่ซ่านท่ามกลางบรรยากาศของครอบครัว 3. จัดกิจกรรมฟื้นฟูรักเป็นระยะๆ สถานที่ใดที่เคยไปเที่ยวกันสมัยเป็นแฟนกันก็แวะเวียนไปบ้าง ความรู้สึกดีๆ ที่มีอยู่เดิมก็กลับมาเยี่ยมเยียนในใจของเราทั้งสองอีกครั้ง ตอนยังไม่ได้แต่งงาน เราไปเที่ยวกันบ่อย แต่ตอนนี้เรามีรายได้มากขึ้น ทำไมเรามีเวลาเที่ยวด้วยกันน้องลงครับ อาจเป็นเพราะเรามีรายจ่ายสำหรับวัตถุมากเกินไป 4. ไม่มีใครกำหนดกฎเกณฑ์ว่าฮันนีมูนมีได้ครั้งเดียวในชีวิต จะมีซะปีละครั้งใครจะไปว่าอะไร ฝากลูกให้ญาติๆ ดูแลบ้าง สำหรับช่วงเวลาที่สามีภรรยาจะไปอยู่กันสองต่อสอง จัดช่วง promotion อีกครั้ง midnight sale ลดแลกแจกแถมความรู้สึกหวานชื่นอีกครั้ง พร้อมล้างสต็อกอารมณ์ทางลบให้หมดสิ้นจากคลังใจ "เปลี่ยนที่ก็ยังพอทน แต่ถ้าเปลี่ยนคนก็พอกันที" มีผู้กล่าวว่า "รักแท้เกิดขึ้นหลังจากสารเคมีแห่งความเสน่หาทั้งหลายจางคลายลง" รักแท้คือความเมตตาต่อกัน ซึ่งควรพัฒนาให้มากขึ้นในช่วงเวลาที่ความเสน่หาค่อยๆ ลดน้อยลง โดยมีการสื่อสารทางบวกเป็นเครื่องมือ รวมถึงการปรับตัวเพื่อให้สองความต่างอยู่กันได้ในที่เดียวกัน ตรงข้ามกับคู่สามีภรรยาที่ใช้การสื่อสารทางลบเป็นปัจจัยให้ความรักที่มีต่อกัน เมื่อวันแห่งชีวิตคู่ค่อยๆ เริ่มจืดจางและเพิ่มพูนความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ขุ่นเคือง โกรธ จนกลายเป็นความเคียดแค้น ชิงชัง
|