|
ออฟฟิศใหม่ไร้พรมแดน 'KTC'วัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์ |
- หลักไมล์ความคิดอินเทรนด์ KTC แกะกล่องไอเดียการทำงานหรูเริ่ด - ทะลายกำแพงอาณาเขต พนักงานผู้บริหารทุกคนเท่าเทียม มีคุณค่าเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ต้องการความสุขและความสมดุลในชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว - เป้าหมายสร้างองค์กรแห่งความคิดสร้างสรรค์ ตียาวถึงปี 2050 - กรณีศึกษา บ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรสมัยใหม่ เลิกยึดติด ไม่มีเธอไม่มีฉัน มีแต่พวกเรากับองค์กรไดนามิก KTC ความแปลกและแตกต่างของ KTC หรือ "บัตรกรุงไทย" เดินทางมาถึงอีกหลักไมล์ความคิด ในการทลายเขตแดนความเป็นเจ้าของ การสร้างอาณาจักร การยึดติดให้พังครืนลง เพื่อสะท้อนถึงวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาค การให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ ความคิดอ่านอิสระไร้ขอบเขต อันนำไปสู่จินตนาการแห่งความสร้างสรรค์ การปรับปรุงออฟฟิศใหม่ ชั้น 11 และชั้น 14 ของสำนักงานใหญ่ อาคาร United Business Centre II ไม่ได้บ่งบอกเพียงแค่ภาพลักษณ์ใหม่ที่ดูสดใสกว่าเดิม หรือเป็นเพียงการเอาเงินมาถมเพื่อสร้างกระแส แต่เป็นบริบทหนึ่งของการบริหารจัดการคนและองค์กรสมัยใหม่ ที่เพียรพยายามทำทุกอย่างให้ make it happen ทั้งจากภายในสู่ภายนอก และจากภายนอกสู่ภายใน มานะ บุญคุณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า แนวคิดของการปรับปรุงออฟฟิศ เริ่มต้นจากการมองว่า KTC ต้องการให้องค์กรเป็นอย่างไร? ในคอนเซ็ปต์ต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานใหม่ ให้เป็นองค์กรแห่งการสร้างสรรค์ (creativity organization) "เราวางตำแหน่งว่าเป็นองค์กรการตลาด (marketing company) เราเลยอยากจะสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ในการทำงานเพื่อเป็นการสนับสนุนให้กับพนักงานมีแนวคิดแปลกใหม่ คิดอะไรที่ไม่มีกรอบ กลยุทธ์ที่ KTC ใช้ในตลาดคือ แปลกใหม่แตกต่าง และทำอย่างไร? ถึงต่างจากคนอื่น ซึ่งการที่จะคิดให้ต่างจากคนอื่นได้ เราก็ต้องสนับสนุนทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมการทำงาน เรื่องของทรัพยากรต่างๆ เราไม่อยากให้เป็นภาพเก่าๆ ของออฟฟิศ ที่มีหน้าตาแบบแบงค์" วิธีคิดของ KTC ในการบริหารจัดการที่ทำงาน คือยกเลิกที่นั่งเฉพาะของตัวเอง เพราะมองว่าเหมือนกับการสร้างกรอบ คอนเซ็ปต์ใหม่ที่ดึงมาใช้คือ KTC จะไม่มีอาณาเขตอีกต่อไปแล้ว (no boundary) โดยใช้พื้นที่บนชั้น 11 และชั้น 14 เป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลางที่พนักงานแผนกใดก็สามารถมานั่งทำงานได้ "แผนกการตลาดมานั่งทำงานชั้นนี้ได้ HR ก็มาทำงานที่นี่ได้ เพื่อนที่นั่งโต๊ะข้างๆ เป็นแผนกไหนก็ได้ เพราะเราไม่มีที่ทำงานตายตัว ไม่ว่าจะเป็น VP, manager,senior ทุกอย่างเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ ไม่มีกรอบ ไม่มีขอบเขต ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง ใครมาทำงานก็ลงทะเบียนเอาบัตรพนักงาน key เข้าไป ไม่มีขอบเขตว่าจะเป็นแผนกใคร การทำงานเราไม่แบ่งกลุ่มแบ่งแผนก ทุกคนคือพนักงาน KTC เพื่อนนั่งโต๊ะข้างๆ จะมาจากหลายแผนกนั่งรวมกัน เราต้องการให้ไม่มีขอบเขตระหว่างพนักงานด้วยกันเอง อยากให้มีความคิดที่กว้างขึ้น มีมุมมองที่กว้างขึ้น" แนวคิดใหม่ของการทำงานใน KTC เป็นการตัดขอบเขตแดนออกไป พนักงานทุกคนจะได้โน้ตบุ๊คคนละตัว สามารถเสียบทำงานที่ไหนก็ได้ มีโทรศัพท์เบอร์ต่อโชว์เบอร์ระบุตำแหน่งที่นั่งติดตามตัวไปตลอด รูปแบบการทำงานจะดูที่ผลงานมากกว่าการเข้างานตรงเวลา ไม่มองว่าถ้าผิดเวลาทำงานแล้วต้องโดนลงโทษ แต่มองที่ผลงานที่จะให้กับบริษัทมากกว่า มานะเล่าว่า ไอเดียนี้มีทิศทางมาจากซีอีโอที่มองว่า อยากให้ยกเลิกการทำงานแบบโบราณ ยกเลิกการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ถือเป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิก เปรียบเทียบกับที่หลายบริษัทเอาที่นั่งมาปักหลักสร้างอาณาเขต แต่ที่ KTC ผู้บริหารอยากเห็นการทำงานใหม่ๆ มองว่าเพื่อนร่วมงานทุกคนเป็น KTC อยากให้พนักงานทุกคนสนุกสนาน มีความสุข มีมุมพักผ่อน มุมดื่มกาแฟ มุมห้องนั่งเล่น มีโต๊ะทำงานโปร่งๆ เรียบๆ มีล็อกเกอร์ให้พนักงาน อนาคตก็จะทำให้มีเอกสารน้อยที่สุด ทุกอย่างอยู่ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ โดยชั้น 11 ชั้น 14 และชั้น G จะเป็นโมเดลเดียวกันในเฟสแรก และจะทำอย่างต่อเนื่องยาวไปจนถึงปี 2050 ว่า ในอนาคตหน้าตาของออฟฟิศ KTC จะเป็นอย่างไร? "ความทันสมัย ตื่นตัว เรียบง่าย เป็นสิ่งที่เราผลักดัน คำว่าทันสมัย ไม่ใช่แค่ทันสมัยแล้วจบ แต่ต้องทันสมัยทั้งออฟฟิศ แนวคิดการทำงาน รอบตัวต้องผลักดันไปอย่างนั้น ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แตะนิดๆ หน่อยๆ ค่าใช้จ่ายในการตกแต่งไม่สูงมาก แนวคิดการตกแต่งสมัยใหม่ไม่แพง แต่เอาดีไซน์เรียบง่ายมากกว่า สไตล์ออฟฟิศแบบใหม่เป็นตัวสะท้อนองค์กรของเราว่าเรียบง่าย โปร่ง สบาย สนุก มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก มีเก้าอี้นวด เกมเพลย์สเตชั่น สนุ๊คเกอร์ ผู้บริหารและพนักงานต่างก็ลงมาทำงานที่ชั้น 11 และชั้น 14 นี้เหมือนกันหมด ทุกคนต่างมีความเสมอภาค มีเตียงนอนเล่นให้ประชุมกัน เราอยากให้สบายๆ ทุกคนมีความสุขกับการทำงาน เหมือนบ้านอีกหลัง" การปรับปรุงออฟฟิศใหม่หมด เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมความแข็งแกร่งให้กับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งหลายบริษัทพยายามเขียนเอาไว้ให้ดูสวยหรู แต่แง่การปฏิบัติอาจจะไม่ทำอะไรจริงจัง บางเรื่องก็ทำ บางเรื่องก็เว้นที่จะทำ สำหรับ KTC ถ้าวางวัฒนธรรมไว้แบบนี้ว่าจะต้อง 1. ทันสมัย 2. พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง 3. เรียบง่าย 4. เป็นมืออาชีพ และ 5. สนุกสนาน บริษัทก็จะผลักดันทุกอย่างหมดเลยให้ไปในทิศทางที่อยากจะเป็นและทำอย่างต่อเนื่อง "เราอยากเห็นอะไรที่ล้ำหน้า ก้าวไปข้างหน้าแล้ว ไม่อยากเห็นอะไรแบบเดิมๆ การทำงานแบบเดิมๆ ออฟฟิศหน้าตาเดิมๆ พื้นที่ส่วนตัวเหลือเฉพาะผู้บริหารระดับสูงจริงๆ เท่านั้น นอกนั้นสลายพื้นที่มาเป็นส่วนกลางหมดแล้ว ความเป็น KTC มีการเปลี่ยนแปลง ตื่นตัวตลอดเวลา พอคนคุ้นกับเรื่องพวกนี้ ก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ไม่มีปัญหาเวลาสลายความเป็นส่วนตัว วัฒนธรรมเราไม่ยึดติดกับอะไร การต่อต้านไม่มีเลย" เขายืนยันว่า การปฏิวัติของ KTC จะเรียกว่าคิดนอกกรอบไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีกรอบอีกต่อไป เดิมอาจจะมีกรอบแล้วบอกว่า think out of the box แต่ตอนนี้ไม่มีกรอบใดๆ หลงเหลืออีก ไม่มี frame ใดๆ ให้ต้อง out side เป้าหมายการสร้างคนของ KTC คือ อยากเห็นพนักงานมีความคิดใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับแนวคิดเก่าๆ ให้ผลักดันงานออกมาจากแนวคิดใหม่แกะกล่อง เมื่อสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ แล้วสิ่งที่มุ่งหวังคืออยากเห็นพนักงานมีความสุขในการทำงาน สร้างทัศนคติดีๆ จากภายในให้พนักงาน เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด (mind set) จริงๆ ไม่ใช่แค่ชั่วครู่ชั่วยาม "หลายคนถามว่า KTC ใช้เครื่องมือชี้วัด BSC : Balanced Scorecard อะไรหรือเปล่า? เราไม่ได้ใช้เครื่องมือ BSC ซึ่งเกิดจากโรงงาน ทำให้องค์กรเหมือนเครื่องจักร ทุกอย่างที่ทำใช้ดัชนีชี้วัดหมดเลย เราไม่ใช่อย่างนั้น องค์กรของเราต้องการให้เกิดความสมดุลในเรื่องของความเป็นชุมชนที่ดี มีทั้งคนเก่งและคนไม่เก่ง หรือคนหนุ่มคนสาวกับคนสูงวัยมาอยู่ร่วมกัน เราอยากเห็นองค์กรที่มีความสมดุลทางด้านชีวิตจิตใจ ไม่เฉพาะแต่เรื่องงาน ผลักดันแข่งขันกันรุนแรง ต้องมีเครื่องมือต่างๆ มาคอยจับผิด มาคอยชี้วัด เราอยากให้สมดุลทั้งคุณภาพชีวิต และคุณภาพการทำงาน ถึงจะอยู่กันนาน ถ้ามัวแต่ผลักดันกันเรื่องงาน เรื่องงาน เรื่องงาน คงต้องบ้ากันไปข้างหนึ่ง เครียดกันไปหมด ชีวิตทำงานแย่ไปเลย เราไม่อยากเห็นการแข่งขันสูง แทงกันข้างหลัง กลายเป็นการเมืองแบ่งก๊กแบ่งเหล่า อยู่กันได้ไม่นาน" ในแง่บทบาทการบริหารคนของ HR จะเปลี่ยนไปอย่างไร? KTC มองว่าโดยหลักการยังคงอยู่ แต่วิธีการเปลี่ยนไป ทุกแผนกแม้แต่ฝ่ายกฎหมายก็สามารถสร้างแนวคิดใหม่ให้สนับสนุนธุรกิจได้ มีการตั้งโจทย์ว่า ถ้า KTC คิดแบบนี้แล้วแต่ละแผนกมองอย่างไร? ไม่ใช่ใครคนหนึ่งบอกว่าไม่ได้แล้วจบไม่ทำต่อ แต่เป็นการหาช่องทางใหม่ๆ สนับสนุนธุรกิจให้สามารถเดินต่อไปได้ เขามองว่า ทฤษฎีการบริหารองค์กรมีเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ที่จะเลือกเอามาใช้ทำจริงๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ค่อยมีคนทำ บางองค์กรรู้เยอะไปหมด แต่ทำแค่บางส่วน ถ้ารู้เยอะ รู้จริง หยิบมาเท่านั้นเท่านี้แล้วทำให้จริงจัง ก็จะไปต่อได้เยอะมากกว่า "เวลานี้ KTC เรายึดหลักอยู่ตรงวัฒนธรรมองค์กร แค่ 5 ตัว แต่ก็เอามาต่อยอดผลักดันจริงจัง พยายามคิดโน่นคิดนี่ไปเรื่อย การทำงานของเรา หลักการ HR ยังมีอยู่ แนวคิดเปลี่ยนไป ไม่ไปมองจู้จี้ผิดระเบียบ เรามองการฝึกคนไปในแนวให้มีความคิดสร้างสรรค์ งาน HR ต้องไปคิดอะไรให้ต่อยอด อย่าไปคิดแค่มุมเดียว มองว่าทำแบบนั้นดีไหม? ทำแบบนี้แล้วจะดีกว่าไหม? อย่าไปยึดติดทำอะไรต้องกระฉับกระเฉงตลอดเวลา ผิดถูกไม่เป็นไร ปรับปรุงแก้ไขได้ เพราะถ้าเราไม่สนับสนุนสิ่งใหม่ๆ ก็จะไม่เกิด" สิ่งที่ HR KTC ทำคือ ผลักดันเรื่องการสร้างทัศนคติให้เป็นแนวทางที่อยากจะเห็น ซึ่งจะทำให้ competency หรือความสามารถหลักเกิดตามมา จากการมีพื้นฐานที่ดี เขาย้ำว่า มนุษย์เราสลับซับซ้อนทำอะไรได้ทุกอย่าง คิดอะไรได้เต็มไปหมด อยู่ที่ว่าจะชี้แนะ ให้โอกาสอย่างไร? แล้วเรื่องดีๆ ถึงจะติดตามมาไม่รู้จบ เหมือนกับวิธีคิดของออฟฟิศใหม่ไร้พรมแดนแห่งนี้... *************************** เปิดใจคนรุ่นใหม่กับออฟฟิศใหม่ ธนวรรณ สงวนบุญ Manager-Card Acquisition บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) "มานั่งทำงานออฟฟิศใหม่ตั้งแต่แรก เก้าอี้นั่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันไหนอยากนั่งตรงไหนก็ย้ายไป เราไปเจอกลุ่มใหม่ทุกวัน เปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้คุยกับแผนกนี้ อีกวันไปคุยกับอีกแผนก อย่างที่ทำเป็นงานออกบัตรเครดิตใหม่ บางทีต้องไปคุยงานกับฝ่ายกฎหมายก็ไปนั่งคุยกับเขา บางวันก็ไปนั่งใกล้กับฝ่ายสื่อสารการตลาด เดี๋ยวนี้รู้จักเพื่อนเยอะขึ้นข้ามแผนก ผู้บริหารก็มีลงมานั่ง บางทีเราเคยไปผิดแผนก เขานั่งเป็นกลุ่มกัน เวลาหลุดเข้าไปก็เกิดคำถามว่ามาทำไม? ตอนหลังทุกแผนกนั่งกระจายก็ทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยกมากขึ้น รู้สึกว่าออฟฟิศใหม่ตรงกับคอนเซ็ปต์ KTC เลย ปล่อยทุกอย่างเป็นอิสระ อยากจะคิดอะไร อยากจะนั่งตรงไหนก็ไป เพียงแต่ว่าต้องทำงานให้สำเร็จในสิ่งที่บริษัทต้องการเท่านั้นเอง การทำงานก็ง่ายขึ้นตามงานง่ายขึ้น ไม่เคยรู้สึกว่าวันนี้ไม่อยากมาทำงาน เบื่อจังไม่เคยรู้สึก รู้สึก KTC เหมือนไม่ใช่ออฟฟิศ แต่เป็นเหมือนกับสถานที่ที่มาทำงานแล้วทำให้สำเร็จในสิ่งที่ทำ เราต้องมีหลักการของตัวเราเองว่า อะไรต้องทำให้เสร็จตอนไหน? รู้ว่าต้องมีประชุมตอนไหน? เพราะไม่มีใครมานั่งตามเรา คอยตรวจสอบเรา เราต้องรู้จักเวลา รู้ว่างานต้องเสร็จกี่โมง ทุกอย่างสนุก มีชีวิตเหมือนมหาวิทยาลัย เจอเพื่อนใหม่ บรรยากาศแบบใหม่นี้ทำให้เราสามารถคิดอะไรที่แตกต่าง ไปคุยกับคนอื่นๆ ว่าคิดยังไง? กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำให้ได้มุมมองของหลายคน งานสนุกและแอ็กทีฟดี ชอบในความเป็น KTC ทุกอย่างสบาย ชอบในความยืดหยุ่นของ KTC ไม่ยึดติด อิสระที่จะคิด ที่จะแต่งตัว ที่จะเลือกที่นั่งทำงาน เพียงแค่ต้องมีผลงาน กลายเป็นความเคยชินของเรา บางทีมานั่งคิดว่าจะไปอยู่ที่อื่นได้ไหม? เพราะว่าเราอยู่แบบนี้มาตั้งนานแล้ว รู้สึก KTC ตามใจเราในสิ่งที่เป็นอิสระ และความยืดหยุ่นขององค์กร อาจจะลำบากถ้าต้องเปลี่ยนงานไปทำที่อื่น มองเพื่อนที่อยู่ออฟฟิศอื่น ต้องมานั่งแต่งตัว ทำงานแบบยึดติด 8 โมง 9 โมงต้องรีบมาตอกบัตร ไม่แน่ใจตัวเองว่าจะไปหล่อหลอมตัวเองให้เข้ากับสิ่งที่คนอื่นออฟฟิศอื่นทำได้หรือเปล่า? อยู่ KTC แล้วแฮปปี้มาก ชอบมากที่สุดคือไม่ยึดติด อิสระ ยืดหยุ่น เข้ากับสไตล์เรา ไม่มีใครมานั่งจ้องจับผิด เพื่อนร่วมงานดี เป็นเพื่อนกันทั้งในและนอกเวลางาน" ชยากร ชัยผาติกานต์ Officer-MarComm Marketing Communication บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) "ออฟฟิศใหม่จัดเป็นโซน A โซน B โซน C วันไหนต้องติดต่องานกับฝ่ายไหน? เราก็ไปนั่งใกล้ๆ ตรงนั้นจะได้ทำงานได้ง่ายขึ้น ตอนหลังก็รู้จักคนมากขึ้น กับคนที่เราไม่เคยทำงานด้วย พอย้ายไปย้ายมานั่งใกล้กันก็ได้รู้จักกัน ประโยชน์โดยตรงที่ได้รับเลยคือทำงานง่ายขึ้น เราเป็นเด็กบางทีก็ไม่กล้าคุยกับผู้ใหญ่ แต่พอเปลี่ยนมานั่งรวมกันก็กล้าคุยมากขึ้น ตอนนี้แต่ละแผนกไม่ได้นั่งด้วยกันแล้ว เพราะเราเข้าไปนั่งด้วยใกล้ๆ ก็จะไม่เกร็ง รู้สึกเหมือนว่า KTC รวมกันเป็นก้อนเดียวไม่ได้แยกๆ เหมือนเมื่อก่อน ทำให้เข้าใจการทำงานมากขึ้น แต่ละวันมาเจอเพื่อนต่างแผนกก็ได้คุยแลกเปลี่ยนกัน สนุกมากขึ้น เดิมนั่งกันเป็นคอกๆ เวลาคุยก็คุยกันแต่แผนกเดียวกัน ตอนนี้รู้จักคนเยอะขึ้น ทำงานง่ายขึ้น สังคมก็กว้างขึ้น มุมมองก็มากขึ้น เราเพิ่งจบเพิ่งทำงาน ได้รู้จักคนเยอะ ได้เรียนรู้นอกเหนือจากงานที่เราทำ รู้ว่าฝ่ายการตลาดคิดแบบนี้ ฝ่ายสื่อสารการตลาดคิดแบบนั้น เอามาประยุกต์ใช้กับงานง่ายขึ้น ดีกว่าแบบเดิม ตอนนี้ไม่ได้มองว่า KTC เป็นออฟฟิศอีกแล้ว แต่เป็นที่ที่ทำให้เรามาทำงานเหมือนกับโรงเรียน เหมือนกับมหาวิทยาลัย เหมือนย้ายห้องเรียนแล้วเจอเพื่อนต่างคณะ ไม่ใช่คุยกันแค่เรื่องงาน แต่ได้คุยกันจิปาถะ ผ่อนคลายการทำงาน พอกลับมาทำงานก็ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บางทีทำงานเหนื่อยล้าก็หันไปคุยกับเพื่อนก็ช่วยได้เยอะ เวลาทำงานถ้าเราไม่เครียด ไม่เหนื่อย เราก็ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น คิดอะไรได้เยอะขึ้น กับการที่เราคิดแบบเดิม เจอคนเดิมๆ ก็น่าเบื่อ อยู่แล้วมีความสุข ทำงานจนลืมเวลา ได้คุยกับเพื่อน ได้เคลียร์งานที่คั่งค้าง ภูมิใจกับ KTC ที่สุดตรงที่ความเป็น KTC ที่ทำให้เราไม่เหมือนกับคนอื่นเขา อย่างชุดทำงานก็แต่งสบายๆ ไม่ต้องคิดว่าตื่นขึ้นมาแล้วจะใส่ชุดไหนดี? เอาเวลาไปคิดเรื่องงานมากขึ้น ไม่ต้องมาจุกจิกกับเรื่องระเบียบบริษัท KTC ให้กับเราเป็นชีวิตการทำงานแบบใหม่ มีชีวิตที่ปรับตัวง่าย ถ้าเทียบกับเพื่อนที่อยู่บางบริษัท มีแต่กฎระเบียบต้องปรับตัวเยอะมาก ขยับนิดหน่อยก็ไม่ได้ กฎระเบียบไม่เคร่งครัดมากนักทำให้ทุกคนทำงานไม่ต้องแข่งกัน สบายๆ ความเป็น KTC ทำให้พนักงานมีความเป็นอิสระ ทำงานก็ไม่ต้องมาเข่นฆ่ากัน" |
|
บ้านมือสอง คอนโด condo บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านเช่า ที่ดิน
วันที่ : 13 พฤษภาคม 2549
จำนวนผู้อ่าน : 7607 ครั้ง
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ
|
|
|
ขายบ้าน, คอนโด มือสอง, บริษัทนายหน้า, โบรกเกอร์, รับฝากขายบ้าน, ขายบ้าน, realtor, agency, บริษัท ขายบ้าน, ตัวแทน นายหน้า, รับฝากขาย, ซื้อขายบ้าน, ฝากขายบ้าน
นายหน้า ขายบ้าน, บ.นายหน้า ขายบ้าน, โบรกเกอร์, ซื้อขายบ้าน, รับฝากขายบ้าน, ตัวแทนนายหน้า, โบรกเกอร์บ้าน, นายหน้าบ้าน, ตัวแทนบ้าน ขายบ้าน ตกแต่งบ้าน ฟอร์นิเจอร์ ออกแบบ บ้าน ซื้อขาย บ้าน, รับออกแบบ บ้าน, รวมแบบบ้านแบบ บ้าน, ตกแต่งภายใน บ้าน, interior design ออกแบบ บ้าน, interior รับออกแบบ บ้าน,
Architecture รับออกแบบ บ้าน, ตกแต่งบ้าน, ตกแต่งภายใน, Mudahouse, ตกแต่งภายใน, รับเหมา ก่อสร้างบ้าน, บริษัท ก่อสร้าง
|