"ตุง" ของล้านนา ก็คือ "ธง" ของไทยภาคกลางนั่นเอง มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำ ตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา โดยมีขนาด รูปร่าง และ รายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย ส่วนจุดประสงค์ของการทำตุงล้านนาก็คือ ทำถวายเป็นพุทธบูชาโดยทั้งชาวไทยยวน ไทลื้อ ไทเขิน และไทใหญ่ จะถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์ ความงามของตุงจะวัดกันที่ลวดลาย และ สีสรรที่แต่งแต้มประดิษฐ์ลงไปที่ผืนตุง โดยจำแนกตามวัสดุที่ใช้ทำตุงดังนี้ 1.ตุงผ้าทอ โดยทั่วไปมีขนาดกว้าง 15-50 ซม. ยาว 1-6 เมตร โครงสร้างประกอบด้วย ส่วนหัว-ตัว-หาง นิยมทอด้วยฝ้ายสีขาว มีลวดลายขิตสีดำและแดงเป็นเส้นพุ่ง อาจสอดสีอื่น ๆ เพื่อความสวยงาม 2.ตุงใย ใช้เส้นฝ้ายสีขาวมัดหรือถกคล้ายแมงมุมชักใย มีไม้ไผ่สอดเป็นโครงยึดเป็นช่วงๆ ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เป็นดอกไม้ หรือพู่ห้อย 3.ตุงกระดาษ เช่น ตุงไส้หมู ไส้ช้าง ตุงพญายอ โดยการนำกระดาษแก้วสีต่าง ๆ อย่างน้อยแผ่นละสีมารวมกัน พับไปมาแล้วตัดสลับไม่ให้ขาดจากกันเมื่อคลี่ออก และจับหงายขึ้นจะเป็นช่อพวงยาว ผูกติดกับไม้ยาวประมาณ 1 เมตร ปักตกแต่งหรือใช้ร่วมขบวนแห่ครัวทานเข้าวัดหรือปักเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์ ตุง กับงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานปีใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนา ประชาชนจะทำเครื่องสักการะ คือ ธูป น้ำส้มป่อย ตุง และ ช่อตุงหรือธุง อันเป็นเครื่องสักการะ มี 4 ประเภท คือ 1. ตุงเดี่ยว หรือตุงค่าคิง สำหรับบูชาแทนตนเอง 2. ตุงไส้หมู บูชาพระเจดีย์ พระธาตุทั้งหลาย 3. ตุงไจยหรือธุงไชย ถวายบูชาพระพุทธรูป เพื่อสร้างความสวัสดีมีชัย 4. ช่อหรือธงชัย สำหรับปักเครื่องบูชาต่าง ๆ ตุงจัดเป็นเครี่องสักการะของล้านนาไทย มีตุงหลายชนิดที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น งานฉลอง หรืองานปอย งานสืบชาตา หรือขบวนแห่ต่าง ๆ เป็นต้น แม้จนกระทั่งปัจจุบัน ตุงก็ยังมีหน้าที่สำคัญผูกพันกับความศรัทธาของชาวล้านนา นอกจากนั้นก็ยังมีหน้าที่ใหม่เพิ่มเข้ามาได้แก่ การแห่แหนหรือการประดับประดาเพื่อเฉลิมฉลองงานการท่องเที่ยว ตลอดจนมีการพัฒนารูปแบบที่ยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้นไปอีก ดังเช่น การแห่ตุงพันวาในขบวนแห่สลุงหลวงที่ จ.ลำปาง และในขบวนแห่ต่างๆ ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เป็นต้น. |