|
|
|
|
|
ดื่มชาทั้งที ต้องให้มีประโยชน์ |
ในยุคที่ชาเขียวเฟื่องฟู เราพูดถึงข้อดีของชากันมาก เช่น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ช่วยยับยั้งการแข็งตัวของหลอดเลือด ช่วยละลายไขมันและลดคอเลสเตอรอล มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง จนทำให้ข้อเสียของชา โดยเฉพาะชาดำ อาจถูกละเลย
|
สารกาเฟอีน ในชา กาแฟ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและมีผลเสพติดอ่อนๆ เวลาไม่ได้ดื่มแล้วจะหงุดหงิด ร่างกายไม่ควรได้รับเกินวันละ 200 มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับกาแฟประมาณ 2 ถ้วย หรือชาประมาณ 4-5 ถ้วย
เมื่อกาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วในกระเพาะและลำไส้ แล้วกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ไต ตับ ปอด กล้ามเนื้อและระบบประสาทส่วนกลาง ผลของกาเฟอีนอยู่ได้ 8-14 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลากว่า 48 ชั่วโมงในการสลายคาเฟอีน ถ้าร่างกายได้รับคาเฟอีนปริมาณสูงประมาณ 3,000-10,000 มิลลิกรัม จะทำให้ตายในเวลาอันสั้นได้
กคาเฟอีนจะกระตุ้นประสาท ทำให้ไม่ง่วง ลดความสามารถและระยะเวลาในการนอนหลับ คนที่มีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ จึงไม่ควรดื่มชา นอกจากนี้น้ำชาใส่น้ำแข็งหรือน้ำชาแช่เย็น จะไปกระตุ้นลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ต้องตื่นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำ ทำให้เป็นปัญหาต่อการนอนยิ่งขึ้น และไม่ควรใช้วิธีแก้ง่วงด้วยการดื่มชา เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมากขึ้นทันทีที่สารกระตุ้นหมดฤทธิ์ หากทำบ่อยๆ ร่างกายจะทรุดโทรมเร็ว
กาเฟอีนทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจไม่สม่ำเสมอ ความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ จึงไม่ควรดื่มชา
ฤทธิ์ของกาเฟอีนยังไปเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคกระเพาะ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการอย่างที่แพทย์จีนเรียกว่า "กระเพาะเย็น" ซึ่งมักจะมีอาการอึดอัด และอาเจียนออกมาเป็นน้ำใสๆ ไม่ควรดื่มน้ำชาเวลาท้องว่างตอนเช้า เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารผิดปกติ หากอยากดื่มชาตอนเช้า ควรหาอะไรรองท้องก่อน
นอกจากนี้ชายังไม่เหมาะกับผู้ป่วยไทรอยด์ เพราะอาการกระสับกระส่ายจะยิ่งถูกคาเฟอีนกระตุ้นให้รุนแรงขึ้น กาเฟอีนยังทำให้น้ำตาลในเลือดสูง จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานด้วย
|
ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ก็ไม่ควรดื่มชามาก เพราะร่างกายไม่สามารถขับน้ำออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ การดื่มชามากจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
ในใบชามีสารแทนนิน ซึ่งเป็นสารที่ให้รสฝาด ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ดังนั้นน้ำชาที่เข้มข้นมากจึงทำให้ท้องผูกได้ ถ้าต้มหรือแช่ชานานๆ ก็จะยิ่งได้แทนนิน และยิ่งทำให้ชามีรสฝาด บางคนจึงดื่มชาใส่นมเพื่อให้รสดีขึ้น แต่ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากชาอย่างเต็มที่
แทนนินมีผลต่อแร่ธาตุในกระเพาะและลำไส้ เช่น เหล็ก ไอโอดีน ทองแดง แมงกานีส สังกะสี ซีลีเนียม โครเมียม เมื่อรวมตัวกับสารโปรตีนแล้วจะย่อยได้ยาก เด็กเล็กจึงไม่ควรดื่มชา เพราะร่างกายจะย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต แทนนินเมื่อรวมตัวกับธาตุเหล็กจะจับตัวกลายเป็นก้อนแข็งเม็ดเล็กๆ ได้ง่าย และย่อยสลายได้น้อย หากดื่มชาติดต่อกันนานๆ อาจนำไปสู่การขาดธาตุเหล็กในเลือดได้
การดื่มชาเข้มข้นหลังอาหารทันทีหรือใกล้เวลาอาหาร จึงทำให้กระเพาะลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง เวลาที่เหมาะสำหรับการดื่มชา คือหลังอาหาร 2-3 ชั่วโมง ตอนนี้คนนิยมดื่มชาเขียวกันมาก หากดื่มในปริมาณสูง ต้องระวังว่าจะลดการดูดซึมวิตามินบี 1 และธาตุเหล็ก
ไม่ควรดื่มชาที่ชงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง เพราะน้ำชาอาจบูดได้ และสารต่างๆ ในน้ำชาจะทำปฏิกิริยากัน ทำให้เสื่อมคุณภาพลง และไม่ควรดื่มชาที่ร้อนจัด เพราะจะระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดเซลล์มะเร็งได้
สตรีที่กินยาคุมกำเนิด ไม่ควรดื่มชาเข้มข้น โดยเฉพาะก่อนและหลังกินยาคุม 4 ชั่วโมง เพราะแทนนินจะทำให้สารต่างๆ ในยาคุมละลายตัวยากและถูกดูดซึมน้อยลง
ระหว่างที่กินยาบำรุงโลหิต ก็ไม่ควรดื่มชา เพราะแทนนินจะทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารสำคัญในยาบำรุงโลหิต ทำให้ดูดซึมตัวยาได้น้อย ผู้ที่กินยาบำรุง เช่น โสม เขากวาง ก็ไม่ควรดื่มชา เพราะมันจะไปหักฤทธิ์กัน
ไม่ควรดื่มชาขณะกินยา ทั้งยาฝรั่ง ยาจีน ยาไทย เพราะสารต่างๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยากับยาที่กินเข้าไป เช่น ทำให้คุณสมบัติของยาเจือจางลง หรืออาจกลายเป็นพิษได้ หากอยากดื่มชาในยามป่วยไข้ ควรดื่มก่อนหรือหลังกินยา 2 ชั่วโมง และชงให้บางๆ เข้าไว้
สตรีตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มชา เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ แม่ลูกอ่อนที่ให้ลูกดื่มนมแม่ ก็ไม่ควรดื่มชา เพราะสารต่างๆ ในน้ำชาจะผ่านไปทางน้ำนมแม่ ทำให้ทารกขาดแร่ธาตุที่สำคัญได้ นอกจากนี้น้ำชายังทำให้ความสามารถในการขับน้ำนมของแม่ลดลงด้วย
ผู้ที่มีไข้สูงก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น จึงยิ่งทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นด้วย แทนนินยังทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาน้อยกว่าปกติ แทนที่ชาร้อนๆ จะช่วยลดอุณหภูมิ กลับยิ่งทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นไปอีก |
|
ที่มา http://www.manager.co.th |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|