|
|
|
|
|
เรื่อง ยา ที่ทุกคนควรรู้ |
เมื่อป่วยไข้ไม่สบาย ยาที่แพทย์จ่ายให้ อาจมี ข้อแนะนำพิเศษในการใช้ยา ซึ่งควรรู้อย่างยิ่งว่ามันหมายความว่าอย่างไร เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา
1.รับประทานติดต่อกันทุกวันจนหมด เพื่อให้การรักษาได้ผลดี ยาบางประเภทต้องรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหรือตามแพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะทุเลาลงหรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม เช่น ยาฆ่าเชื้อ อะม็อกซี่ซิลีน เตตราซัยคลิน หากรับประทานไม่ครบกำหนดเวลา จะทำให้การรักษาไม่ได้ผล และอาจเกิดการดื้อยาได้ ยารักษาโรคเรื้อรังบางอย่างต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน หยุดยาเองไม่ได้ เช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์ (เพรดนิโซโลน) ยารักษาความบกพร่องของร่างกาย เช่น ยาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคกระดูกบางชนิด
2.เฉพาะเวลามีอาการ... ยาที่ใช้บรรเทาอาการต่างๆ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยาแก้ท้องเสีย แพทย์อาจสั่งให้รับประทานเป็นช่วงๆ เช่น ทุก 4 ชั่วโมง เวลามีอาการ เมื่ออาการทุเลาลง ก็สามารถหยุดยาได้ ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่อง
3.ก่อนอาหาร ควรรับประทานก่อนอาหาร ? ถึง 1 ชั่วโมง อาหารอาจลดการดูดซึม หรือยับยั้งทำให้ยาบางชนิดออกฤทธิ์น้อยลง เช่น ยาปฏิชีวนะต่างๆ ยาบางอย่างต้องการให้ออกฤทธิ์ก่อนอาหาร เพื่อผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ยาแก้อาเจียน หรือในกรณียาเบาหวานบางชนิดที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร เพื่อให้การดูดซึมและการออกฤทธิ์มีความสัมพันธ์กับการลดระดับน้ำตาลในเลือด
4.หลังอาหาร โดยทั่วไปควรรับประทานหลังอาหาร 15-30 นาที ยกเว้น ยาที่ระบุให้รับประทานหลังอาหารทันที
5.หลังอาหารทันที หรือ พร้อมอาหาร ยาบางชนิดทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ การรับประทานหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหาร ก็เพื่อลดปัญหาดังกล่าว เช่น เพรดนิโซโลน แอสไพริน หรือในกรณียาเบาหวานบางชนิด ให้รับประทานพร้อมอาหารเพื่อช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล
6.ควรดื่มน้ำตามมากๆ ยาพวกซัลฟา ละลายน้ำได้น้อยมาก อาจตกตะกอนในไต การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยเพิ่มการละลายได้ หรือยาถ่ายที่ทำให้เพิ่มกากอุจจาระหรือที่ทำให้อุจจาระนิ่ม ควรดื่มน้ำตามมากๆ
7.เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน ยาลดกรดชนิดเม็ด หรือยาบางชนิด ต้องเคี้ยวก่อน เพื่อให้ยากระจายตัวในกระเพาะอาหาร และออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
8.ห้ามรับประทานร่วมกับเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาลดน้ำตาลในเลือด ยาระงับประสาท ยานอนหลับ ยาแก้ปวด หรือยากดประสาทต่างๆ ตลอดจนยาแก้แพ้ จะเสริมฤทธิ์กับแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดอันตรายได้
9.ไม่ควรรับประทานยานี้ร่วมกับนมหรือยาลดกรด เพราะนมและยาลดกรด ทำให้การดูดซึมยาบางชนิดลดลง จึงทำให้ผลการรักษาลดลงด้วย เช่น เตตราซัยคลิน ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก
10.รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงซึม ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาแก้ปวดบางชนิด อาจมีผลข้างเคียง ทำให้ง่วงนอนหรือมึนงง ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังในการขับรถหรือการใช้เครื่องจักรกล
11.รับประทานยานี้แล้วปัสสาวะจะมีสีส้มแดง ยาพวก Phenazopyridine ทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดง อาจเข้าใจผิดว่าเป็นเลือด แต่ที่จริงเป็นสีจากยา หรือยา Rifampicin ทำให้น้ำลาย น้ำตา ปัสสาวะ เป็นสีแดงส้ม
12.เก็บไว้ในตู้เย็น โดยทั่วไปหมายถึงการเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยแช่ในช่องธรรมดา ไม่ต้องใส่ในช่องทำน้ำแข็ง หรือเก็บในกระติกน้ำแข็งตลอดเวลา เช่น ยาอินซูลิน วัคซีน หรือยาหยอดตาบางชนิด
เราควรทราบวิธีสังเกตยาที่มีอยู่ว่ายังสามารถใช้ได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา เพราะหากยาที่ใช้หมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพแล้ว นอกจากจะไม่มีผลในการรักษา ยังอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งมีวิธีการสังเกตง่ายๆ ดังนี้
วันหมดอายุ เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้หลายแบบ เช่น Exp.date, Expiring, Use by หรือ Use before ตัวอย่างเช่น Exp.date 20/02/05 หมายความว่ายาจะหมดอายุในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2005
แต่หากบนฉลากไม่ได้กำหนดวันที่วันหมดอายุ ก็ให้หมายถึงวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ เช่น Exp.date 03/05 หมายความว่ายาจะหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2005
ในกรณีที่ยาไม่ได้กำหนดวันหมดอายุ อาจสังเกตได้จากวันที่ผลิต (Manufacturing date หรือ Mfg.date) ซึ่งโดยทั่วไป หากยานั้นผลิตมาเกิน 5 ปี ก็ไม่ควรนำมาใช้
ทั้งนี้ยาแต่ละชนิดจะมีอายุไม่เท่ากัน และการเก็บรักษาก็มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบ เช่น แสง ความร้อน ในบริเวณที่เก็บ ทำให้บางครั้งยาที่ยังไม่ถึงวันหมดอายุ แต่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปแล้ว ก็ไม่ควรนำยานั้นมาใช้
การสังเกตลักษณะทางกายภาพของยา สามารถทำได้ง่ายๆ ยาที่เสื่อมคุณภาพแล้ว จะมีลักษณะดังนี้
-ยาเม็ด มีลักษณะแตกกร่อน กะเทาะ เปลี่ยนสี หรือสีซีด
-ยาเม็ดเคลือบ มีลักษณะเยิ้มเหนียว
-ยาแคปซูล มีลักษณะบวม โป่งพอง ผงยาภายในจะจับกันเป็นก้อน เปลี่ยนสี หรืออาจมีเชื้อราขึ้นบนเปลือกแคปซูล
-ยาน้ำเชื่อม มีลักษณะขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูดหรือเหม็นเปรี้ยว
-ยาน้ำแขวนตะกอน มีลักษณะตะกอนจับตัวเป็นก้อนแข็ง เขย่าแรงๆ ก็ไม่กระจาย
-ยาน้ำอีมัลชั่น มีลักษณะเขย่าแล้วไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน
-ยาครีม มีลักษณะแยกชั้น ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อครีมเปลี่ยนสี
-ยาหยอดตา เปลี่ยนจากน้ำใสๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดตาแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติ โดยทั่วไปยาหยอดตาจะมีอายุเพียง 1 เดือน นับจากวันที่เปิดใช้ครั้งแรก
|
|
ที่มา http://www.manager.co.th |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|