คอนโด, บ้านจัดสรร, บ้านโครงการ,คอนโดมิเนียม,บ้านเดี่ยว, บ้านมือสอง,บ้านเช่า,ขายบ้าน, ที่ดิน, ตกแต่งบ้าน
อัพเดตล่าสุดวันที่ 19/3/2567
หน้าแรก | บ้าน คอนโด บ้านมือสอง | ประกาศ ซื้อขายบ้าน คอนโด ที่ดิน | สินเชื่อ | ตกแต่งบ้าน | เรื่องน่ารู้ | ไลฟ์สไตล์ | ลงประกาศซื้อขายฟรี
 
User Name
Password
เมนูหลัก
สมัครสมาชิก ลงประกาศ
ลืมรหัสผ่าน
ลงประกาศซื้อขาย
ค้นหาประกาศซื้อขาย
คู่มือซื้อขายบ้าน
ติดต่อสอบถาม


 
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางกับนิติบุคคลบ้านจัดสรร
      นับตั้งแต่พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มีผลบังคับใช้ ในปี 2543 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมผู้ประกอบการจัดสรรให้ดำเนินการอย่างเป็นธรรมและมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันข้อพิพาท หรือข้อฟ้องร้องจากผู้ซื้อบ้านกรณีที่ได้รับการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการจัดสรร
      หนึ่งในข้อปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เรื่องการละเลยต่อการบริหารจัดการสาธารณูปโภคภายในโครงการจัดสรร ผู้บริโภคไม่ได้รับการดูแลหรือได้รับบริการจากสาธารณูปโภคตามที่ได้ทำการโฆษณาไว้
     นอกจากนี้ ยังพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอีกส่วนหนึ่ง มาจากการที่ผู้ประกอบการจัดสรรที่ดินบางส่วนทำการดูแลสาธารณูปโภคโครงการเองเพื่อสิทธิและประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ยินยอมยกให้เป็นสาธารณะ เป็นผลให้หนึ่งในข้อกำหนดที่ออกมาภายใต้ พรบ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 กำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน ได้แก่ เงื่อนไขเกี่ยวกับขนาดที่ดินแปลงย่อย ระบบ และมาตรฐานของถนน ทางเดินเท่า ระบบการระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ประปา และบริการสาธารณะที่จำเป็น อาทิ โรงเรียนอนุบาล สนามเด็กเล่น เป็นต้น
      แม้ว่ากฎหมายได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจัดการบริหารและดูแลรักษาสาธารณูปโภคภายในโครงการ หรือยกให้หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นนั้นรับหน้าที่ทำแทน แต่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายบังคับใช้ผู้ประกอบการยังคงสิทธิในสาธารณูปโภคแต่ผลักภาระค่าบริหารจัดการดูแลรักษาสาธารณูปโภคในโครงการเป็นของคณะกรรมการหมู่บ้าน เมื่อชุมชนบางแห่งไม่เข้มแข็งพอ หรือไม่มีเงินทุนเพียงพอรองรับการดูแลรักษา ส่งผลถึงสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านเสื่อมโทรมลง
     ทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหา คือ การจัดให้มีนิติบุคคลบ้านจัดสรร ที่กฎหมายกำหนดให้มีขึ้นจากการลงมติของที่ประชุมของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงย่อยทั้งโครงการซึ่งตามกฎหมายเรียกว่า "สมาชิก" โดยใช้มติครึ่งหนึ่ง และดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรต่อเจ้าพนักงานที่ดินเข้ามารับโอนกรรมสิทธิ์สาธารณูปโภคจากผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายการจัดสรรที่ดิน เปิดทางให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลจัดสรรได้ มีลักษณะคล้ายกับนิติบุคคลอาคารชุดตาม กฎหมายอาคารชุด
นิติบุคคลนี้จะมีอำนาจดำเนินการ กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค การอยู่อาศัย และการจราจรในที่ดินจัดสรร การ เก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา การจัดการสาธารณูปโภคในส่วนที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีหน้าที่ บำรุงรักษา จากสมาชิกและดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด(มาตรา 48)
     หากเป็นกรณีที่ไม่อาจจัดตั้งนิติบุคคลได้ กฎหมายให้ทางเลือกว่าผู้จัดสรรที่ดินต้องไปขอนุมัติจากคณะกรรมการการจัดสรรเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณะประโยชน์
ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกแปลงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัด สาธารณูปโภค โดยชำระเป็นรายเดือน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บตามที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดิน กลางกำหนด เรื่องนี้เป็นปัญหามากในหลายโครงการที่ผู้อยู่อาศัยหรือเจ้าของที่ดินจัดสรรไม่จ่ายค่าใช้จ่ายของส่วนรวม
      สำหรับการบริหารหมู่บ้านจัดสรรตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดสรรที่ดินฉบับใหม่ ซึ่งผู้อยู่อาศัยในโครงการบ้านจัดสรรจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพราะตามกฎหมายในส่วนเรื่องการจัดตั้งผู้บริหารหมู่บ้านนั้นได้กำหนดให้สามารถจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้ทั้งโครงการจัดสรรที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรก่อนวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 และโครงการจัดสรรที่ดินที่ได้รับใบอนุญาตภายหลังจากวันที่ดังกล่าว
รูปแบบบริหารงาน กำหนดไว้ ดังนี้
1. ผู้ซื้อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินไปบริหารเอง ต้องมีการลงมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ซื้อแปลงย่อย
2. เจ้าของโครงการได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการ เช่น บริหารเอง หรือจ้างบุคคลอื่นเข้ามาบริหาร หรือ เจ้าของโครงการโอนสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์
     ภายหลังการจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงย่อยทุกรายจะต้องเข้าเป็นสมาชิกของหมู่บ้านและต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของหมู่บ้านหรือจากที่ประชุมของสมาชิก และต้องร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการสาธารณูปโภคตามสิทธิที่ใช้ร่วมกันภายหลังการจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
     โดยกฎหมายได้เปิดโอกาสให้กรณีที่การบริหารงานโดยนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม สมาชิกสามารถลงโทษได้โดยการลงมติถอดถอนคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรชุดที่เลือกตั้งดังกล่าวได้ หรือแจ้งให้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเลิกจ้างผู้บริหารที่คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรว่าจ้างก็ได้
และหากนิติบุคคลอื่น เป็นผู้บริหาร สมาชิกสามารถลงโทษโดยการลงมติปลดหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารนิติบุคคลดังกล่าวได้ หรือแจ้งให้หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือคณะกรรมการเลิกจ้างผู้บริหารที่หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือคณะกรรมการว่าจ้างก็ได้เช่นกัน
     ทั้งนี้มีการตรวจพบว่าปัญหาด้านการบริหารดูแลภายในโครงการจัดสรรส่วนใหญ่ คือการจัดเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางไม่ได้ ทำให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีที่สมาชิกไม่ชำระค่าใช้จ่ายเพื่อสาธารณูปโภค ด้วยวิธีชำระค่าปรับตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดกำหนด กรณีที่มีการค้างชำระติดต่อกันสามเดือนขึ้นไป อาจถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค หรือหากค้างชำระติดต่อกันหกเดือนขึ้นไป เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินจนกว่าจะชำระครบถ้วนได้
      สำหรับข้อดีของการร่วมกันมีส่วนในการบริหารดูแลจัดการทรัพย์สินและสาธารณูปโภคภายในหมู่บ้าน คือ การบริหารงานที่มีกฎหมายรองรับการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน และเป็นไปตามมาตรฐานที่ดี ภายใต้พื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วม
อย่างไรก็ดีผลที่ตามมาของการบริหารจัดการ และดูแลสาธารณูปโภคที่ดี คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคม สภาพแวดล้อม และเพื่อนบ้านที่อบอุ่น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้คงสภาพที่ดีในระยะยาว
      ขณะที่ผู้อยู่อาศัยร่วมภายในหมู่บ้าน จะต้องมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดผลดีดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นในการรักษาสิทธิด้วยการตรวจสอบการบริหารงานของนิติบุคคลบ้านจัดสรรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตรวจสอบและจัดเก็บใบเสร็จรับเงินเพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมกับผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการจัดการของธุรกิจบ้านจัดสรร และสิทธิของผู้ซื้อบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดสัญญามาตรฐาน การคุ้มครองเรื่องการชำระราคาทรัพย์สิน การคุ้มครองเรื่องการจัดการสาธารณูปโภค การผ่อนคลายในเรื่องการปลอดจำนองส่วนที่เป็นแปลงขาย หรือการกำหนดผู้บริหารจัดการสาธารณูปโภคที่ชัดเจน ซึ่งประโยชน์จะตกแก่ผู้ซื้อบ้านเป็นส่วนใหญ่


บรรณานุกรม
นิตยสารบ้านพร้อมอยู่
เอกสารวิชาการ เรื่องแนวทางการบริหารดูแลหมู่บ้านจัดสรร
ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543
 

ติดต่อลงโฆษณา : ududee@msn.com
โทรศัพท์: 08-9180-5710
Copyright ©2005-2012 Hometophit All rights reserved