|
|
|
|
|
รูปทรงหลังคาบ้านนั้นสำคัญไฉน |
ในตอนที่ผ่านๆ มานั้น เราได้พูดคุยกันถึงลักษณะการวางผังบ้านให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิศาสตร์และภูมิอากาศกันไปแล้ว มาในตอนนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งของบ้าน นั่นก็คือ หลังคาบ้าน ที่กล่าวว่าสำคัญมากนั้นก็เพราะว่าหลังคาบ้านทำหน้าที่ป้องกันแดดและฝน ลมพายุ ปกป้องพื้นที่ภายในบ้านให้พ้นจากภัยธรรมชาติและสภาพแวดล้อมภายนอกนั่นเอง หลังคาที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีจะช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิภายในห้องหรือพื้นที่ที่อยู่ใต้หลังคามีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศภายนอกบ้านได้
จากการค้นคว้า เราพบว่า 50% ของความร้อนที่เข้ามาภายในบ้านนั้น มาจากส่วนหลังคา นอกจากนี้ การออกแบบหลังคาที่ดียังสามารถรักษาอุณหภูมิที่ผิวของฝ้าเพดานให้อยู่ในระดับเดียวกับอุณหภูมิที่ผิววัสดุอื่นๆภายในห้อง นั่นก็หมายถึง หลังคาที่มีประสิทธิภาพจะสามารถป้องกันความร้อนให้ถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านได้ดีอยู่ในระดับเดียวกับองค์ประกอบอื่นๆของบ้าน เช่น ผนังแม้ว่าผนังจะได้รับความร้อนน้อยกว่าหลังคาก็ตาม
รูปทรง ความงาม และความพึงพอใจ
รูปลักษณ์ของหลังคาบ้าน นับเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างสรรค์รูปทรงของบ้านให้งดงาม และสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยภายในบ้าน บ้านในปัจจุบันมักมีรูปทรงหลังคาที่โดดเด่น โดยเฉพาะแบบบ้านจากต่างประเทศ ซึ่งมีสไตล์ของหลังคาที่งดงามเป็นลักษณะเด่น ที่สอดคล้องกับภูมิอากาศแบบอบอุ่น เช่น
บ้านสไตล์วิคตอเรี่ยน มีหลังคากรวยผสมกับหลังคาทรงอื่นประกอบกัน
บ้านสไตล์ทิวดอร์ที่เป็นหลังคาจั่วทรงสูงชันและโชว์ลวดลายของโครงสร้างไม้
บ้านอินเตอร์แนชชั่นแนลสไตล์เป็นหลังคาแบน
บ้านทรงฝรั่งเศสเป็นหลังคาทรงสูงที่มีหน้าต่างดอร์เมอร์อยู่ที่ห้องใต้หลังคา เป็นต้น
เราลองมาดูรายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องหลังคากันดีกว่าค่ะ |
|
หลังคาที่มีประสิทธิภาพดี เป็นอย่างไร? |
|
เริ่มจาก วัสดุมุงหลังคา วัสดุมุงที่มีสีอ่อนสว่าง จะช่วยสะท้อนความร้อนได้ดีกว่าสีเข้ม การติดแผ่นสะท้อนความร้อนใต้กระเบื้องมุงหลังคาจะช่วยสะท้อนความร้อนออกไปได้อีกระดับหนึ่ง ทำให้พื้นที่ภายใต้หลังคาเย็นลง พื้นที่ส่วนใต้หลังคาหมายถึงส่วนที่อยู่ระหว่างโครงสร้างและฝ้า ถ้าในต่างประเทศจะทำเป็นห้องใต้หลังคา แต่สำหรับประเทศไทยพื้นที่บริเวณนี้จะมีความร้อนเก็บสะสมไว้สูงทำให้ร้อนอบอ้าว การทำฝ้าเพดานปิดบริเวณห้องใต้หลังคาไว้จึงเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนให้กับหลังคาด้วย
ความลาดชันของหลังคาเป็นปัจจัยสำคัญของการป้องกันฝนไม่ให้รั่วผ่านวัสดุมุงเข้ามาภายในบ้านได้ วัสดุมุง แต่ละชนิดมีคุณสมบัติการมุง ที่ความชันแตกต่างกัน เช่น กระเบื้องดินเผา จำเป็นต้องให้หลังคามีความลาดชันมากเพราะเป็นกระเบื้องแผ่นเล็กมีรอยต่อมาก กระเบื้องคอนกรีตซีแพค มุงได้ที่ความชันตั้งแต่ 17 องศาครึ่งขึ้นไป กระเบื้องลอนใยหิน มุงได้ตั้งแต่ที่ความลาดชันน้อยๆ เช่นที่ 8 องศา เป็นต้น ดังนั้น เมื่อจะเลือกวัสดุมุงประเภทใดก็จะเป็นเครื่องกำหนดความลาดชันและรูปทรงของหลังคาอีกด้วย
ส่วนพื้นที่ใต้หลังคา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทางระบายลมเพื่อระบายความร้อนออกไปในเวลากลางวันและควรจะเสริมส่วนฝ้าเพดานด้วยฉนวนกันความร้อนซึ่งควรมีความหนาอย่างน้อย 75 มิลลิเมตร ฉนวนนี้ควรติดกับแผ่นสะท้อนความร้อน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนอีกชั้นหนึ่ง วิธีการติดฉนวนนี้จะช่วยลดค่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นให้เหลือไม่ถึง 20% การติดฉนวนป้องกันความร้อนจึงเป็นวิธีการป้องกันความร้อนโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติ
จากการศึกษาเรายังพบว่า ส่วนห้องใต้หลังคาที่ปิดทึบโดยไม่มีทางระบายอากาศจะก่อให้เกิดความร้อนสะสม และทำให้อุณหภูมิภายในบริเวณนี้มีค่าสูงกว่าภายนอกอย่างมาก การออกแบบหลังคาที่ดีนั้น เราควรควบคุมให้อุณหภูมิที่ฝ้าเพดาน สูงกว่าภายนอกไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส
องค์ประกอบอื่นๆทีเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น
- ร่มเงาของต้นไม้ที่ทอดบังหลังคาไว้ และร่มเงาจากอาคารใกล้เคียงก็มีส่วนช่วยให้หลังคาร่มเย็นและลดอุณหภูมิของอากาศภายนอกลงส่วนหนึ่ง
- การระบายอากาศที่หลังคาโดยใช้พัดลมดูดอากาศ ปัจจุบัน หลายๆ บ้านหันมาใช้พัดลมดูดอากาศแบบธรรมชาติที่ไม่ใช้ไฟฟ้าติดไว้ ที่บริเวณใกล้สันหลังคา เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากส่วนใต้หลังคา วิธีนี้นับเป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่บางครั้งเมื่ออากาศอ้าวและไม่มีลมพัด พัดลมในระบบนี้ก็ไม่ทำงานไปด้วย การติดพัดลมไว้ที่จุดใกล้สันหลังคาจะช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวของอากาศได้บ้าง เนื่องจากบริเวณสันหลังคาอากาศจะมีความร้อนมากกว่าส่วนอื่นๆ และจะลอยตัวสูงขึ้นก็จะช่วยพาให้พัดลมดูดอากาศตามธรรมชาตินี้ทำงานบ้าง
สรุปง่ายๆก็คือ รูปทรงหลังคาที่ดี ควรให้อากาศบริเวณใต้โครงสร้างหลังคามีการระบายความร้อนออกไปให้มากที่สุดและเร็วที่สุดด้วย
|
หลังคาบ้านเรือนในประเทศไทยที่เราเห็นคุ้นตาอยู่โดยทั่วไป ได้แก่ หลังคาจั่ว(gable roof) เป็นรูปทรงที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เนื่องจากหลังคาจั่วมีรูปทรงที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเขตศูนย์สูตรอย่างบ้านเรา เนื่องจากมีฝนตกชุกหลังคาจั่วสามารถระบายน้ำฝนออกไปได้เร็ว และป้องกันแดดได้ดีเนื่องจากชายคายื่นยาวสองด้านส่วนด้านสกัดหรือด้านแคบ แม้ยื่นชายคาไม่ได้มากก็ไม่นิยมทำหน้าต่างด้านนี้
ตราบจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป หลังคาทรงปั้นหยา (hip roof) ได้แพร่เข้ามาและได้กลายเป็นหลังคารูปทรงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะหลังคาทรงนี้สามารถยื่นชายคาเพื่อบังแดดและฝนได้ทั้งสี่ด้าน แต่ความชันของหลังคาปั้นหยาก็มีน้อยกว่าหลังคาจั่ว การระบายน้ำฝนและการป้องกันการรั่วซึมจึงค่อนข้างจะเสียเปรียบหลังคาจั่ว เนื่องจากมีรอยต่อมากกว่า
หลังคาแบน (flat roof) ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นหลังคาที่แพร่เข้ามาในยุคของอินเตอร์เนชั่นแนลสไตล์ โดยสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยบนหลังคา เช่น ใช้เป็นที่พักผ่อน ตากผ้า ฯลฯ หลังคาแบนซึ่งทำด้วยคอนกรีตจะสะสมความร้อนไว้มากกว่าหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาและกระเบื้องคอนกรีต ทำให้เกิดการคายความร้อนออกมาในช่วงที่อากาศเย็นลง คือ เวลากลางคืน ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกร้อนอบอ้าวเมื่อกลับมาบ้านในเวลาเย็น การที่หลังคาแบนมีความลาดเอียงน้อย น้ำฝนจึงมักขังอยู่บนหลังคาได้ง่าย ทำให้เกิดการรั่วซึมอยู่บ่อยๆ หลังคาทรงนี้จึงไม่เป็นที่นิยมสำหรับบ้านเรือนที่พักอาศัย มักใช้คลุมพื้นที่เล็กๆภายในบ้าน เช่น ส่วนทางเดินเชื่อมต่อระหว่างบ้านและเรือนบริการ
|
รูปทรงของหลังคาที่เรานิยมกันแต่โบราณ คือ จั่วและมีเกร็ดระบายอากาศด้านสกัด นับเป็นรูปทรงหนึ่งที่ยังคงสามารถใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้หลังคาทรงปั้นหยาซึ่งมีชายคายื่นโดยรอบทั้งสี่ด้าน หากเราหาวิธีระบายอากาศในห้องใต้หลังคาได้ดีก็จะเป็นอีกรูปทรงหนึ่งที่ดีไม่แพ้แบบหลังคาจั่ว โดยนัยนี้จึงมีผู้คิดค้นการระบายอากาศขึ้นที่ฝ้าใต้หลังคาโดยลักษณะการตีเกล็ดไม้ใต้ชายคา ซึ่งให้ทั้งความสวยงามและการระบายความร้อนที่ดี แต่ก็ยังไม่เป็นที่จุใจเนื่องจากการระบายความร้อนเป็นไปอย่างช้าๆ
หลังคาอีกรูปทรงหนึ่ง ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาคือ "หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว" คือมีชายคายื่นโดยรอบทั้งสี่ด้านเป็นทรงปั้นหยา แต่ตอนบนมีลักษณะของหลังคาจั่วซ้อนอยู่และทำเป็นเกล็ดระบายอากาศทางด้านสกัด วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาของการระบาย อากาศสำหรับหลังคาทรงปั้นหยาไปได้มาก และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรูปทรงที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศบ้านเราเป็นอย่างมาก
บ้านเรือนในเขตร้อนแถบศูนย์สูตรอย่างบ้านเราก็เช่นกัน สไตล์ของหลังคาที่โดดเด่นและเป็นที่แพร่หลายในดินแดนแถบอุษาคเนย์ ได้แก่ "หลังคาทรงจั่ว" เพราะเป็นรูปทรงที่มีการป้องกันแดดและฝนได้ดี "หลังคาจั่ว" เปรียบเสมือนหลังคาดั้งเดิมของภูมิภาคในแถบที่มีอากาศร้อนศูนย์สูตร
ดูอย่างหลังคาบ้านทรงไทยของเรา ซึ่งมีความอ่อนช้อยงดงามสร้างด้วยไม้ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของทรงจั่ว ปัจจุบันไม้มีราคาแพงและหายาก กอปรกับวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ บ้านทรงไทยจึงเริ่มสูญหายไป และถูกทดแทนด้วยบ้านไทยร่วมสมัย ซึ่งสนองประโยชน์ใช้สอยของการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบันผสานกับวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ๆ ของการก่อสร้าง
ในสหัสวรรษใหม่นี้ แนวทางของบ้านไทยมิได้มีรูปร่างจำกัดอยู่เฉพาะทรงไทยอีกต่อไป แต่มีรูปทรงอย่างใหม่ที่ใช้วัสดุคงทนถาวร ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม และมีการป้องกันความร้อนและความชื้นที่ดีด้วยการออกแบบที่เห็นคุณค่าของธรรมชาติที่เป็นผู้สร้างและก่อกำเนิดทุกชีวิต...
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|