ต้องยอมรับว่า ในโลกปัจจุบัน "เทคโนโลยี" เข้ามามีอิทธิพลมากมายในชีวิตเรา ไม่เว้นแม้แต่วงการ "สี" ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสีรายใหญ่จึงหันมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความตื่นตัวกับสิ่งที่มาใหม่ ทั้งความรวดเร็วของระบบขั้นตอนและคุณภาพของสินค้าที่แตกต่างจากแต่ก่อนมาก เราสามารถหาคำอธิบายจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ในงาน "TOA Academic Event" ซึ่งเป็นงานเสวนากึ่งวิชาการ ภายใต้หัวข้อที่ดูแปลกไปหน่อย "เทคโนโลยีสี่หัว" เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 ณ สโมสรทหารบก สถานที่ราชการบนถนนวิภาวดีรังสิต ที่มีการปรับปรุงใหม่ ดูโอ่โถงและทันสมัย โดยมี พล.ร.ต.ฐนิธ กิตติอำพน นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงาน "เราเพิ่งจัดงานเสวนาเป็นครั้งแรก ทั้งสถาปนิก มัณฑนากร นักออกแบบ อาจารย์และนักศึกษาให้การตอบรับดีมาก นอกจากความรู้ด้านเทคโน โลยีทั่วไปและการตอบแทนทางด้านสังคมแล้ว ทีโอเอได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดด้วยชื่อ TOA ide@ color พร้อมแนะนำสินค้าใหม่ ซุปเปอร์ชิลด์ ดูราคลีน ชนิดด้าน ที่พัฒนามาจากซุปเปอร์ชิลด์ ดูราคลีน" ชวลิต สุวัตถิกุล ผู้อำนวยการสายงานโครงการพิเศษ บริษัท ทีโอเอฯ บอกไว้ ผู้ร่วมเสวนาในวันนั้น ประกอบด้วย 1.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ อาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดเรื่องสเกลเมือง 2. สถาปัตยกรรม นายศิริยศ ชัยอำนวย สถาปนิก POD Studio 3.สเกลร่างกาย ดร.สมพิศ พู่สกุล อาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ 4. สเกลเสียง นายปวิณ สุวรรณชีพ producer/recording artist/sound engineering การเปิดประเด็นแนวคิดใหม่ของกลุ่มวิชาชีพเฉพาะเหล่านี้ ต่างนำความรู้ความสามารถพิเศษทั้ง 4 สาขา 4 สเกล มาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง บนเงื่อนไขของการใช้เทคโนโลยีในการทำงานเหมือนกัน ที่สุดแล้วนั่นหมายถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อนำเสนอผลงานออกมาในรูปแบบงานสถาปัตยกรรม ด้วยเป้าหมายบนความพอใจของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ได้เจาะลึกแนวคิดเบื้องหลังกระบวนการออกแบบเชิงปฏิสัมพันธ์ (interactive design process) ที่เน้นเทคโนโลยีในกระบวนการคิดและวิเคราะห์ เพื่อสร้างพื้นที่ว่าง (space) ใหม่ๆ คำจำกัดความของคำว่า interactive design process ? ดร.สมพิศกล่าวว่า อาจเป็นเพราะว่ามนุษย์ต้องการความสัมพันธ์กับสิ่งรอบๆ ตัว โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวสร้างความสัมพันธ์ แต่ก็เบื่อการอยู่ในกรอบเดิม จึงใช้เทคโนโลยีเขียนโปรแกรมให้มนุษย์หาสิ่งต่างๆ มาติดต่อสื่อสารกับมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ นายศิริยศพูดถึงกระบวนการ interactive design process ว่า เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก จึงได้พยายามสร้างสิ่งไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ให้มีชีวิต สามารถอยู่กับมนุษย์ได้ ขณะที่นายปวิณคิดว่า interactive design process เป็นกระบวนการของการสื่อสาร 2 ทาง ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีอารมณ์ตอบสนองกัน เช่น การแสดงออกของนักดนตรี นักร้องสื่อสารเพลง หรือเนื้อหาไปยังผู้ชม ผู้ฟัง ต้องมีการตอบสนองกลับมา ซึ่งบางครั้งคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำได้ บางครั้งเทคโนโลยีมีประโยชน์ต่อ interactive design process บางครั้งคอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถตอบสนองอารมณ์ผู้เขียนโปรแกรมได้ มาถึงบทสรุป ดร.ไขศรีฟันธงว่า "ฉะนั้น interactive design process จึงหมายถึงการสื่อสาร 2 ทาง" อันเกิดจากกระบวนทัศน์หลังยุคสมัยใหม่ (post modern) เนื่องจากคนเพื่อใช้ชีวิตการเป็นอยู่แบบในกล่อง มีแต่ความขัดแย้ง สงคราม เกิดของวัฒนธรรมแบบเดียวกัน บ้านเหมือนกัน รถก็เหมือนกัน เป็นกระบวนการสร้างของไหลขึ้น มนุษย์จึงต้องการสร้างความแตกต่าง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างผลงานเป็นลายเซ็นของแต่ละคน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ต่างจากอดีตที่มนุษย์ใช้เทคโนโลยีตอบสนองมนุษย์ทางเดียวตลอดมา ดังนั้นจึงส่งผลให้ interactive design process เข้าไปสู่สังคมต่างๆ เช่น วงการสถาปนิก มัณฑนากร งานเขียน เป็นต้น "เรามาดูที่สเกลเมือง ซึ่งดิฉันได้ศึกษาและสอนนักศึกษาที่จุฬาฯ การใช้ interactive design process มาใช้ในส่วนของการออกแบบเมืองเป็นสิ่งที่กำลังจะนำมาใช้กับกรุงเทพฯ ถือว่าเป็นความสัมพันธ์กับมนุษย์เป็นจำนวนมาก สามารถทำนายได้ว่าเมืองจะดีหรือไม่ดีภายในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผ่านระบบ space impact program" "ซึ่งสามารถระบุได้เลยว่า เส้นทางไหนคนเดินทางผ่านน้อย ผ่านมาก สีฟ้าสีเขียวจะเป็นตัวบอก ส่วนทางที่มีคนเดินผ่านมากๆ จะเป็นสีแดง นี่คืออิทธิพลของสีในการสื่อหรือใช้เป็นสัญลักษณ์บอกกับเรา โดยผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ" ดร.ไขศรีอธิบายภาพอนาคต space impact program จะบอกค่าของความน่าสนใจของพื้นที่ด้วย ว่าใครควรจะลงทุนตั้งร้านค้าที่ไหน อย่างไร โดยใช้สมมติฐานของพื้นที่คนเดินทางผ่านมากเป็นเกณฑ์ นั่นก็หมายถึงว่า ถ้าเราลงทุน ณ จุดนั้นๆ แล้ว เราก็จะมีกำไรจากการลงทุน" ตัวอย่างเช่น Brinding place ในประเทศอังกฤษ เป็นสถานที่ไม่ค่อยมีคนเดินผ่าน จึงมีการวางแผนโดยใช้ space impact program ออกแบบสถานที่ให้มีพื้นที่ว่าง พัฒนาการออกแบบต่างๆ เช่น การวางเก้าอี้สำหรับนั่งไว้ตรงไหน หรือตั้งเสาไฟไว้ทิศใด ให้เหลือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม ซึ่งการวางแผนทดสอบนี้จะทำในโปรแกรมอย่างเป็นระบบ โดยใช้โปรแกรม interactive design process ผลที่เกิดขึ้นทำให้มีพื้นที่ว่างที่จะจัดกิจกรรมและสามารถปรับพื้นที่ที่เหลือให้สวยงามไม่อึดอัด สำหรับข่าวดี ในเร็วๆ นี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเริ่มนำ interactive design process มาใช้ ต่อไปเราก็จะได้เห็นถนนสายหลักที่รถวิ่งผ่านเยอะ เป็นสัญลักษณ์ "สีแดง" ส่วนโทนสีเย็น (เขียว-ฟ้า) จะบอกถึงเส้นทางรถเบาบางในถนนสายรอง ในตรอกซอกซอยหรือถนนทางลัดก็ได้ เพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบวางแผนด้านการจราจรและผังเมืองโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้าย ดร.สมพิศได้กล่าวถึงผลงานวิทยานิพนธ์ "เครื่องประดับกับจิตใจ" ที่โยงเข้ากันได้กับ interactive ornament ทำให้สินค้ามีความก้าวหน้าทางชีวิตจิตใจขึ้นมา โดยสามารถสร้างวัตถุให้เชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ และตอบสนองทางด้านจิตใจได้ emotion ornament เครื่องประดับด้านจิตใจจึงเป็นสื่อที่มีผลต่อการแสดงอารมณ์ เช่น กลุ่มพังก์ เป็นต้น "สีกับการเต้นของหัวใจ" เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราอาจมีโอกาสได้เห็น เช่น เมื่อมีอารมณ์ตื่นเต้น เครื่องประดับที่เราใส่ จะออกโทน "สีแดง" หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า "สีบอกอารมณ์" นั่นเอง !!!
|