2 สมาคมประเมินราคาทรัพย์สินจับมือสร้างมาตรฐานใหม่ จัดสอบแบ่งระดับชั้นผู้ประเมินเป็น 3 ระดับ หวังเพิ่มโอกาสการทำงานให้กับนักประเมินชั้นต้น-กลาง หลังถูกตีกรอบให้นักประเมินในลิสต์ ก.ล.ต.เท่านั้นที่มีสิทธิเซ็นรับรองรายงานได้ นายฉงค์ จงยศยิ่ง นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางสมาคมได้ร่วมกับสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะยกระดับวิชาชีพนักประเมินราคาทรัพย์สินให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เพื่อสอบวัดความรู้โดยจะแบ่งชั้นผู้ประเมินออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ผู้ประเมินชั้นต้น (ชั้นวิสามัญ) ผู้ประเมินชั้นกลาง (ชั้นสามัญ) และผู้ประเมินชั้นสูง (ชั้นวุฒิ) เพื่อให้ผู้ประเมินซึ่งเป็นสมาชิกของ 2 สมาคมสามารถรับงานได้ตามประสบการณ์และความสามารถที่มีอยู่ โดยนับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไป จะเริ่มเปิดให้ผู้ประเมินเข้ามาลงทะเบียน ส่วนแรกเพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลจำนวนนักประเมินราคา และขึ้นทะเบียนไว้ ขณะเดียวกันก็จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประเมินราคาแต่ละรายว่า เข้าหลักเกณฑ์ในการสอบระดับชั้นไหน ส่วนการร่างหลักสูตรและควบคุมการจัดสอบได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส และกำหนดจัดสอบผู้ประเมินชั้นกลาง สูง และชั้นต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคมนี้ตามลำดับ นายฉงค์กล่าวว่าสำหรับผู้สอบเป็นผู้ประเมินราคาชั้นต้น ซึ่งจะได้รับการรับรองประเมินทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1)เป็นสมาชิกสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยหรือสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย 2)สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่กำหนดและสาขาที่เกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์ในการประเมินอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับอนุปริญ ญาในสาขาวิชาที่กำหนดและสาขาที่เกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์ในการประเมินอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพประเมินทรัพย์สินในประเทศไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยมีองค์กรที่มีหน่วยงานประเมินค่าทรัพย์สินหรือที่เกี่ยวข้องรับรอง ผู้สอบเป็นผู้ประเมินชั้นกลางจะได้รับการรับรองประเมินทรัพย์สินมูลค่าไม่เกิน 400 ล้านบาท และผู้ประเมินชั้นสูงซึ่งไม่จำกัดประเภททรัพย์สินในการประเมิน กำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นไว้เหมือนกัน แต่กรณีสอบเป็นผู้ประเมินชั้นกลางต้องมีประสบการณ์ประเมินทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี และผู้ประเมินราคาชั้นสูงมีประสบการณ์ประเมินทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 3 ปี (เทียบจากคุณสมบัติผู้ประเมินชั้นต้น) รวมถึงต้องผ่านการอบรมวิชาชีพสำหรับนักประเมินราคา มาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ และผ่านการสอบวัดระดับผู้ประเมินหลักตามระดับชั้นที่สอบ นอกจากนี้ยังได้กำหนดเป็นบทเฉพาะกาล โดยผู้ที่มาลงทะเบียนจะได้รับการคงสิทธิเป็นผู้ประเมินในระดับชั้นต้น-กลางตามคุณสมบัติไปอีก 1 ปีโดยอัตโนมัติ นับจากวันประกาศใช้หลักเกณฑ์การแบ่งระดับนักประเมิน 19 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไป แต่หากไม่ผ่านการสอบในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็จะไม่มีสิทธิในการเซ็นรับรองรายงานการประเมินได้ นายฉงค์กล่าวว่าปัจจุบันมีนักประเมินราคาที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต.เพียงประมาณ 80 ราย จาก 40 บริษัท เพราะ ก.ล.ต.จะรับรองแต่ผู้ประเมินราคาชั้นสูง สมาคมจึงต้องการยกระดับมาตรฐานนักประเมินราคาขึ้นมาโดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับชั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับนักประเมินชั้นต้น-กลาง เนื่องจากปัจจุบันผู้ที่มีสิทธิในการเซ็นรับรองรายงานการประเมินทรัพย์สินของสถาบันการเงิน มีเพียงนักประเมินราคาที่ผ่านรับรองจาก ก.ล.ต. เท่านั้น แต่ล่าสุดทางแบงก์ชาติก็มีท่าทีเห็นด้วยกับแนวคิดของทางสมาคมที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ประเมินชั้นต้น-กลางที่ผ่านการสอบมีสิทธิในการเซ็นรับรองรายงานได้หลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งคงจะต้องมีการหารือกับแบงก์ชาติต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับนักประเมินราคาที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต.ทั้งหมด จะได้รับสิทธิเทียบผู้ผ่านการสอบเป็นผู้ประเมินชั้นสูงทันที และสำหรับผู้ที่สอบผ่านจะมีอายุการรับรองสถานะ 3 ปี จากนั้นจะต้องผ่านการอบรมจำนวน 20 ชั่วโมงเพื่อต่ออายุการเป็นผู้ประเมิน
|